Products Showcase

STS3x เซนเซอร์วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัลความแม่นยำสูงจาก Sensirion

          STS3x เป็นเซนเซอร์วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัลความแม่นยำสูงจาก Sensirion ประกอบด้วย 2 รุ่น คือ STS30 และ STS31 ทั้งคู่มาในแพคเกจ 8-pin DFN มีขนาด 2.5 x 2.5 x 0.9 มม. โดยรุ่น STS31 สามารถทำงานในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ -40°C ถึง +90°C มีระดับความแม่นยำที่ ±0.3°C ส่วนรุ่น STS30 เป็นรุ่นที่ราคาประหยัด สามารถทำงานในช่วงอุณหภูมิที่แคบกว่าคือ 0°C ถึง +65°C โดยมีระดับความแม่นยำที่ ±0.3°C เช่นกัน

 

          เอาต์พุตจาก STS30 และ STS31 ได้รับการปรับตั้งค่าความแม่นยำ (calibrate) มาแล้วเรียบร้อย โดยค่าการวัดจะออกมาในรูปข้อมูลดิจิทัลผ่านบัส I2C โดยมีความเร็วอยู่ที่ 1MHz ทำงานที่แรงดันไฟเลี้ยงในช่วง 2.4 - 5.5 V มีอัตราการกินกระแสอยู่ที่ 2 uA เมื่อทำการวัดค่า 1 ครั้ง/วินาที

 

          จากคุณสมบัติเรื่องขนาด ความแม่นยำ และการใช้พลังงานต่ำ ทำให้เซนเซอร์ตระกูลที่ว่านี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในอุปกรณ์พกพาไปจนถึงการใช้ในรถยนต์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.sensirion.com

WM-830 โมดูลเซนเซอร์วัดมุมสำหรับระบบอุตสาหกรรม

          WM-830 เป็นโมดูลเซนเซอร์วัดมุมที่ใช้งานในระบบอุตสาหกรรมจาก Curtiss-Wright สามารถวัดค่าได้อย่างแม่นยำ ชิ้นส่วนกลไกถูกออกแบบมาให้ทนทานต่อน้ำ ฝุ่นละออง การสั่นสะเทือน และอุณหภูมิ นอกจากนั้นด้วยการใช้เทคโนโลยีของเซนเซอร์แบบ Hall effect ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีกลไกที่ต้องสัมผัสกัน และช่วยให้เซนเซอร์มีอายุการใช้งานที่ยาวนานยิ่งขึ้น

 

          โมดูลนี้ทำงานที่แรงดันไฟเลี้ยง 5 V โดยจะมีส่วนของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายในโมดูล 2 ส่วน ที่ทำงานแยกจากกันอย่างอิสระ ระดับแรงดันของเอาต์พุตที่ได้ออกมาจากวงจรหนึ่งจะมีส่วนต่างจากเอาต์พุตของ อีกวงจรครึ่งหนึ่งเสมอ เป็นรูปแบบของเอาต์พุตที่มีไว้เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าค่าการวัดที่ได้จะมี ความถูกต้องเสมอนั่นเอง (นอกจากนั้นก็ยังมีรุ่นที่ให้เอาต์พุตที่เป็นแบบ PWM ให้สามารถเลือกใช้ได้ด้วยเช่นกัน)

 

          โมดูลรุ่นนี้รองรับช่วงการวัดมุมมาตรฐาน 48.5 องศา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นิยมใช้งานกันในระบบคันเร่งอิเล็กทรอนิกส์ (electronic throttle pedal) มีพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานแบบ Metri-Pack 150 series การนำไปใช้งานในระบบอุตสาหกรรมจึงทำได้สะดวกยิ่งขึ้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.cw-industrialgroup.com

สารพัดโมดูลสำหรับอินเทอร์เฟสกับระบบ DALI

          Code Mercenaries บริษัทแห่งหนึ่งในเยอรมันได้เห็นความสำคัญที่มากขึ้นของระบบ DALI (Digital Addressable Lighting Interface) ซึ่ง เป็นโปรโตคอลสำหรับควบคุมระบบแสงสว่างที่นิยมใช้งานกันในระบบบ้านอัตโนมัติ ตามกระแสความสนใจในเทคโนโลยี IoT ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดไอเดียในการผลิตโมดูลรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้การอินเทอร์เฟสกับระบบ DALI ทำได้สะดวกยิ่งขึ้นกว่าก่อน

 

  • LED-Warrior09BT-UP เป็นโมดูล Bluetooth-to-DALI bridge ที่จะช่วยให้อุปกรณ์พกพาที่รองรับมาตรฐานของ Bluetooth 4.0 สามารถควบคุมการทำงานของระบบแสงสว่าง DALI ได้ โดยมีแอพฯ ที่ Code Mercenaries พัฒนาขึ้นสำหรับโมดูลนี้ทำหน้าที่ช่วยในการปรับเปลี่ยนการตั้งค่าต่างๆ ให้เป็นตามที่ผู้ใช้ต้องการ

 

  • LED-Warrior13 เป็น DALI master chip รองรับอินพุตสวิตช์ 16 สวิตช์ ใช้ในการควบคุมการปิดเปิดไฟแต่ละดวง โดยชิปที่ว่านี้มีบัสแบบ I2C ที่นักออกแบบวงจรสามารถดัดแปลงตัวมันเป็นวงจรที่เชื่อมระหว่างโปรโตคอลควบ คุมที่ต่างมาตรฐานกันได้อีกด้วย

 

  • LED-Warrior14 เป็น Type II DALI master ซึ่งรองรับการสื่อสารแบบ 16-bit forward telegrams และจะทำงานเป็นส่วนเชื่อมต่อโครงข่ายแบบบริดจ์ (bridge) ระหว่าง DALI และมาตรฐานแบบอื่นๆ 

 

  • LED-Warrior14U-DR เป็นส่วนแปลง USB-to-DALI ที่มาในแพคเกจ DIN สำหรับใช้ติดตั้งในตู้ไฟฟ้า

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.codemercs.com/de/dali-interface

IoTized กับการเพิ่มฟังก์ชันการทำงาน IoT แบบ Plug-&-Play

          การที่อุปกรณ์สามารถเชื่อมกันถึงแบบไร้สายโดย Bluetooth, WLAN ได้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานไปแล้วในปัจจุบัน ในอนาคตสิ่งที่จะเกิดเป็นลำดับต่อไปก็คือ การที่อุปกรณ์จะต้องรองรับเทคโนโลยี IoT ถ้าเป็นเมื่อก่อนนั่นคงหมายถึงการต้องลงแรงและลงทุนเพิ่มกับฮาร์ดแวร์และ ซอฟต์แวร์ใหม่ รวมไปถึงเรื่องระยะเวลาที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาระบบเดิมที่เคยมีอยู่ ซึ่งด้านหนึ่งก็อาจทำให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึงอย่างเช่น เรื่องของบัก (Bug) ที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าไปแก้ไขโปรแกรมเดิมได้ ปัญหานี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ที่ Keolabs บริษัทแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสได้พัฒนาขึ้น และเพิ่งนำไปแสดงในงาน Embedded World 2016 ที่ผ่านมา และยังได้รับรางวัล innovation prize ในหัวข้อ Hardware category จากงานในครั้งนี้อีกด้วย ผลงานนี้มีชื่อว่า IoTized 

 

          IoTized เป็นฮาร์ดแวร์ขนาดเล็กซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเกตเวย์เชื่อมระหว่างบอร์ด คอนโทรลเลอร์ (ผ่านทางพอร์ตดีบักมาตรฐาน หรือทางพอร์ตอนุกรม) กับส่วนการเชื่อมต่อแบบไร้สาย โดย IoTized จะช่วยให้ฮาร์ดแวร์เดิมๆ สามารถเชื่อมเข้ากับเทคโนโลยีไร้สายยุคใหม่อย่าง NFC, Bluetooth LE และ Wi-Fi หรือพูดว่าเป็นการเพิ่มฟังก์ชันของ IoT เข้าไปในฮาร์ดแวร์เดิมเลยก็ว่าได้ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เราไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเฟิร์มแวร์ที่มีอยู่ในฮาร์ดแวร์เดิม จากการที่ IoTized สามารถจะเข้าไปอ่านค่าของตัวแปรตัวแปรต่างๆ ที่อยู่ในเฟิร์มแวร์เดิมได้โดยตรงนั่นเอง

 

          ส่วนที่จะต้องลงแรงพัฒนาเพิ่มจริงๆ ก็จะมีเพียงส่วนของแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งในชุดเครื่องมือของ IoTized ก็จะมีการเตรียมส่วนของ UI templates รวมทั้งเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้การพัฒนาแอพฯ สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ www.iotize.com