เนื้อหาวันที่ : 2009-12-08 16:29:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3709 views

รง.แป้งขนมจีน ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำทิ้ง สู่การใช้ประโยชน์จริง

iTAP ช่วยโรงงานแป้งขนมจีน “แม่ทองคำ” จ.แพร่ ลดกลิ่นจากน้ำทิ้งในโรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี “ผลิตก๊าซชีวภาพ” ใช้ในครัวเรือนและโรงงานได้ถึง 15 กก.ต่อวัน ประหยัดกว่า 2,000 บาท/เดือน พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน

โรงงานแป้งขนมจีน “แม่ทองคำ” อ.ลอง จ.แพร่ อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เข้าร่วมโครงการ iTAP ช่วยลดกลิ่นจากน้ำทิ้งในโรงงาน ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี “ผลิตก๊าซชีวภาพ” เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือนและโรงงานได้ถึง 15 กก.ต่อวัน สามารถประหยัดกว่า 2,000 บาทต่อเดือน พร้อมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน

.

“โรงงานแป้งขนมจีน”เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมในครัวเรือนที่ยังประสบปัญหาการกำจัดน้ำทิ้งหรือน้ำเสียจากโรงงานที่เกิดจากกลิ่นของแป้ง เบื้องต้นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มักหาทางออกด้วยตนเอง

.

อาทิ การนำน้ำทิ้งไปใช้ในการเกษตรแต่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน “เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียด้วยก๊าซชีวภาพ” จึงถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้สามารถลดกลิ่นและนำน้ำทิ้งเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ โรงงานผลิตแป้งขนมจีนเจ้าเดียวในอำเภอลอง จังหวัดแพร่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาใช้บำบัดน้ำเสียอย่างมีคุณภาพ ด้วยการนำระบบก๊าซชีวภาพเข้ามาเป็นตัวช่วย

.

เนื่องจากเป็นระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์สูง การเดินระบบใช้พลังงานต่ำ ดูแลรักษาง่าย และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพซึ่งนำมาเป็นพลังงานทดแทนได้ และยังส่งผลให้เกิดการสร้างต้นแบบที่ดีให้ผู้ประกอบการรายอื่นจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานของตนเอง 

.

นายสงคราม หลีวัฒนานุกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ กล่าวว่า เริ่มต้นทำโรงงานมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยการสืบทอดกิจการมาจากบรรพบุรุษ คือ คุณแม่ทองคำ หลีวัฒนานุกุล สำหรับโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำนั้นมีกำลังการผลิต 2 ตันต่อวัน (ซึ่งแป้งขนมจีน 2 ตันจะสามารถผลิตเป็นเส้นขนมจีนได้ถึงประมาณ 3 ตันต่อวัน)

.

โดยโรงงานฯจะจัดจำหน่ายแป้งขนมจีนเป็นหลักและบรรจุเป็นถุงๆละ 10 กิโลกรัมในราคา 180 บาท ซึ่งลูกค้าที่รับซื้อนั้นจะนำไปทำเส้นขนมจีนได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20 กิโลกรัมต่อแป้งหนึ่งถุงเลยทีเดียว 

.

ผจก.โรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ กล่าวว่า“ผลิตภัณฑ์แป้งขนมจีนแม่ทองคำต้องแข่งขันด้วยคุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำอีกทั้งยังมีคู่แข่งรายใหญ่จากจังหวัดอื่นๆโดยเฉพาะภาคอีสานที่เข้ามาตีตลาด ซึ่งเมื่อลูกค้านำแป้งของเราไปทำเป็นเส้นขนมจีนจะได้เส้นขนมจีนที่เหนียวนุ่ม และสามารถเก็บได้นานเน้นคุณภาพเหมือนทำอาหารกินเอง โดยจำหน่ายในแบรนด์ “พระธาตุทองคำ” ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาว อ.ลอง จ.แพร่” 

.

ผจก.โรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ กล่าวอีกว่า ตลาดโรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำนั้นขยายพื้นที่ในการจัดจำหน่ายไปทั่วภาคเหนือ แต่โรงงานยังคงมีปัญหาเรื่องของกระบวนการผลิตที่ยังคงมีน้ำเสียจากโรงงาน จึงขอรับการสนับสนุนจาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)ในโครงการ “การปรับปรุงและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียด้วยระบบก๊าซชีวภาพ” และได้รับคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการออกแบบระบบก๊าซชีวภาพสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงงาน 

.

ปัจจุบัน ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ จึงมีระบบก๊าซชีวภาพสำหรับระบบบำบัดน้ำเสียขนาด 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน “ระบบบำบัดน้ำเสียที่ออกแบบนั้นจะมีขนาดความกว้าง 2 เมตร ลึก 3 เมตร สูง 6 เมตร และน้ำที่ผ่านการบำบัดยังได้มาตรฐานตามเกณฑ์น้ำทิ้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งโรงงานสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 

.

อดีตน้ำเสียในโรงงานจะทิ้งในนาหรือใช้เป็นปุ๋ยทางการเกษตร แต่เมื่อสามารถนำมาทำก๊าซชีวภาพยังสามารถทดแทนก๊าซหุงต้มได้ 15 กิโลกรัมต่อวันหรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว”ที่สำคัญคือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่โรงงานในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่สร้างมลพิษให้แก่ชุมชน

.

ด้านความเห็นของการเข้าร่วมโครงการ iTAP ผจก.โรงงานแป้งขนมจีนแม่ทองคำ มองว่า “หลังจากรู้จักโครงการ iTAP ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาด้วยความตั้งใจอยากผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งหากมีทุนก็อยากทำเรื่องมาตรฐานเพิ่มเติม แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กแต่มุมมองตรงนี้ไม่เหมือนคนอื่นอยากทำงานวิจัยและพัฒนาสร้างสินค้าให้มีคุณภาพ คิดว่าเหมือนเราใช้รถก็ต้องการรถคุณภาพ เรากินอาหารก็ต้องการอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะขนมจีนซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการพัฒนาต่อไป”