เนื้อหาวันที่ : 2007-01-05 11:02:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 989 views

ซีฮอร์ส เบนเข็มสู่พลังงานทดแทน หลังของเดิมแข่งดุเดือด

บมจ.ซีฮอร์ส ประกาศปรับแผนดำเนินธุรกิจ ใหม่หลังของเดิมแข่งขันดุเดือด สะท้อนให้ผลประกอบการมีแต่ทรงกับทรุด ประกาศมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ เหตุมีอนาคตสดใส ผู้บริหารยืนยันไม่ล้มความตั้งใจที่จะลงทุนในธุรกิจเอทานอล หวังอนาคตมีทางเลือกที่ดีกว่านี้

.

บมจ.ซีฮอร์ส  ประกาศปรับแผนดำเนินธุรกิจใหม่หลังของเดิมแข่งขันดุเดือด สะท้อนให้ผลประกอบการมีแต่ทรงกับทรุด ประกาศมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มรูปแบบ เหตุมีอนาคตสดใส จากนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนของรัฐบาล  แม้ล่าสุดตัดใจเลิกแผนซื้อกิจการ พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่เพราะเกิดความเห็นแตกต่างกันระหว่างบริษัทกับตลาดหลักทรัพย์ เรื่องเข้าข่าย Back door listing จากขนาดของมูลค่าลงทุนภายหลังโรงงานก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลลบกับผู้ถือหุ้นในอนาคต  อย่างไรก็ตามผู้บริหารยืนยันไม่ล้มความตั้งใจที่จะลงทุนในธุรกิจเอทานอล หวังอนาคตมีทางเลือกที่ดีกว่านี้   

.

นายชาตรี   มหัทธนาดุลย์  กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีฮอร์ส (SH) เปิดเผยว่าบริษัทได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ โดยจะขยายกรอบการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรสูง เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจผลิต จำหน่าย และบริการ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (High technology) ขณะที่ธุรกิจเดิมประสบปัญหาในหลายด้าน ทั้งราคาวัตถุดิบสูงขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้การแข่งขันกับผู้ส่งออกของประเทศคู่แข่งเป็นไปอย่างลำบาก และจากสาเหตุดังกล่าวทำให้ผลประกอบการของบริษัทขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา และหากสถานการณ์การขาดทุนในขณะนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้สูงที่มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะติดลบในอนาคต ซึ่งทำให้บริษัทต้องถูกย้ายไปอยู่หมวดฟื้นฟูกิจการในที่สุดและเป็นผลเสียต่อผู้ถือหุ้นปัจจุบันทุกคน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ บริษัทจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างความอยู่รอดในอนาคต

.

บริษัทได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารใหม่ โดยที่ผ่านมาได้ทำการเพิ่มทุนจำนวน 2,600 ล้านหุ้น ขายให้กับคุณวรเจตน์ อินทามระ และคุณสมโภชน์ อาหุนัย ทำให้ขณะนี้มีทุนจดทะเบียน2,780 ล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำมาก  ปัจจุบันฐานะกิจการแข็งแกร่งและมีเงินทุนมากพอที่จะไปลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้และกำไรของบริษัทให้เติบโตได้  ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจขายหุ้นให้นักลงทุนใหม่ทั้ง 2 ราย เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ อีกทั้งมีความสัมพันธ์และเครือข่ายในแวดวงธุรกิจที่กว้างขวาง รวมถึงมีศักยภาพที่จะช่วยผลักดันให้การขยายการลงทุนของบริษัทประสบผลสำเร็จได้

.

สาเหตุที่ บมจ.ซีฮอร์ส มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน  เนื่องจากเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต  ทั้งนี้เป็นผลพวงจากราคาน้ำมันที่ไต่ระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เรื่องการประหยัดพลังงานได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ประกอบกับภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการผลิตเอทานอล  ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจดังกล่าวมีโอกาสที่จะเติบโตและมีตลาดรองรับแน่นอน

.

เขากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา บมจ.ซีฮอร์ส มีความตั้งใจที่จะเข้าซื้อกิจการ บริษัท พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง แต่ต้องยกเลิกแผนการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว เนื่องจากมีความเข้าใจที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับเรื่องการเข้าข่ายเป็นรายการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯโดยอ้อม(Back door listing)  โดยในเบื้องต้นคณะกรรมการของบริษัท เข้าใจว่าการกระทำรายการดังกล่าวไม่เข้าข่ายดังกล่าว ซึ่งปรากฎว่าการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของ พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่ จากผู้ถือหุ้นเดิมไม่เข้าข่าย Back door listing แต่ในอนาคตหากมีการสร้างโรงงานเสร็จสิ้นสมบูรณ์ มูลค่าการลงทุนโดยรวมที่สูงขึ้น ทำให้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเข้าข่ายเป็น Back door listing ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติยกเลิกแผนซื้อกิจการดังกล่าว

.

เราได้เข้าพบกับทางตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการเข้าซื้อ พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่  ว่าจะเข้าข่าย Back door listing หรือไม่ ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่คำตอบที่ได้รับคือหากคำนวณถึงขนาดมูลค่าโครงการการลงทุนที่ประมาณไว้ 2,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินรวมของบริษัท ณ วันที่ 30 กันยายน 2549 ซึ่งอยู่ที่ 642.6 ล้านบาท บวกกับเงินเพิ่มทุน 1,638 ล้านบาท ที่ชำระแล้วจะเป็น 2,281 ล้านบาท  จะมากกว่าทำให้อาจจะเข้าข่าย Back door listing ซึ่งจะทำให้ ซีฮอร์ส ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์และก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถือหุ้นทุกคน จุดนี้สำคัญมากเพราะถือเป็นความเสี่ยงของบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกคน คือวันนี้ เมื่อซื้อ พาวเวอร์ เอ็นเนอยี่  ยังไม่เข้าข่าย แต่อนาคตหลังสร้างโรงงานเสร็จหากมูลค่าโครงการมีขนาดถึง 2,600 ล้านบาท ถือว่าเข้าข่าย เราจึงตัดสินใจยกเลิกแผนเข้าซื้อกิจการดังกล่าว

.

อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่ทำการพิจารณาและศึกษาทางเลือกในการลงทุนที่ดีที่สุดต่อไป และจากนโยบายของภาครัฐที่จะเปิดเสรีในธุรกิจเอทานอล ทำให้บริษัทยังมีความตั้งใจที่จะลงทุนในธุรกิจนี้อยู่