เนื้อหาวันที่ : 2009-12-04 14:56:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1001 views

มาร์คโปรยยาหอมโครงสร้างศก.ไทยต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"อภิสิทธิ์" โปรยยาหอมรัฐบาลอภิประชานิยมแก้ปัญหาโดยคำนึกถึงความมั่นคงยั่งยืน และศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมชู 5 มาตรการพัฒนาพลังงาน

"อภิสิทธิ์" โปรยยาหอมรัฐบาลอภิมประชานิยมแก้ปัญหาโดยคำนึกถึงความมั่นคงยั่งยืนและศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมชู 5 มาตรการพัฒนาพลังงาน

.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

.

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  เปิดงานสัมมนา Thailand Green Competitiveness and Rebranding  ภายใต้กระแสความกังวลด้านสภาวะโลกร้อนประเทศไทย และธุรกิจไทยจะปรับยุทธศาสตร์เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร   และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย Thailand Green Strategy” จัดโดย คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ร่วมกับ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และภาคเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

.

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อยุทธศาสตร์ประเทศไทยว่า หัวข้อของจัดประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญ ไม่เพียงแต่ต่อการพัฒนาของประเทศไทยหรือของภูมิภาคเท่านั้น แต่มีความหมายสำคัญสำหรับประชาชนและพลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ 

.

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความตื่นตัวในเรื่องของปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า กำลังเป็นที่กังวลจากทุกๆ ฝ่ายและนำไปสู่ความพยายามที่จะรณรงค์ให้เกิดการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการและความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโอกาส ความท้าทายทางธุรกิจจากความตื่นตัวดังกล่าว ไปจนถึงพฤติกรรมของประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภค 

.

ปัญหาโลกร้อนหรือปัญหาสภาพภูมิอากาศนั้น  เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนต่างมีส่วนในการสร้างปัญหาไม่มากก็น้อย ที่ผ่านมาผู้นำในประเทศต่าง ๆ ได้พยายามหาทางแก้ไขแต่ก็ทำด้วยความยากลำบาก  ในส่วนของประเทศไทยถือว่ายังโชคดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านของทรัพยากรทางธรรมชาติ  และมั่นใจว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น

.

ปัญหาเรื่องความมั่นคงและความยั่งยืนทางพลังงานจะกลายเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องให้ความสนใจ อย่างน้อยที่สุดประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ในภาคการเกษตรเพียงพอก็จะมีความมั่นคงทางด้านอาหาร  ซึ่งประเทศไทยจึงต้องเร่งสนับสนุนในเรื่องประสิทธิภาพของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะรับมือกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่สิ้นเปลือง         

.

รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและศักยภาพในเรื่องของการแข่งขันและความเติบโตทางภาคการเกษตร เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่รัฐบาลพยายามให้ความสำคัญกับเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่า การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมถึงเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตอย่างต่อเนื่อง         

.

นอกจากนี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการในเรื่องของพลังงานหลายด้าน อาทิ 1. แผน พัฒนาพลังงานในประเทศไทยให้มีความมั่นคง  2. นโยบายด้านพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้  3. กำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ เป็นธรรมต่อประชาชน  4. ส่งเสริมการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานทุกภาคส่วน และ 5. ส่งเสริมการจัดหาและการใช้พลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม

.

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังมีงานอีกมากที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันทำ เพื่อรณรงค์ให้เศรษฐกิจของประเทศเป็นเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ในส่วนของรัฐบาลจะกำหนดนโยบายที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมาย  ขณะที่หน่วยงานราชการต้องผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้เกิดขึ้นจริง โดยผ่านกระบวนการของการปรึกษาหารือ ที่ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

.

ภาควิชาการต้องมีการวิจัย พัฒนาต่อยอด ให้ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญในการที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายที่ดี และรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนได้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

.

ตอนท้ายนายกรัฐมนตรี หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเวทีที่ได้จัดขึ้นในวันนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดี ที่หลาย ๆ ฝ่ายจะได้ช่วยกันระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้นำไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายตามที่กำหนดไว้  พร้อมขอบคุณทุกคนที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย