SCB EIC ชี้ ไทยพึ่งพาการส่งออกสูง อุปสงค์ภายในไม่โตเพราะค่าจ้างเติบโตช้า หัวใจสำคัญคือต้องเร่งการลงทุน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน
. |
SCB EIC ชี้ ไทยพึ่งพาการส่งออกสูง อุปสงค์ภายในไม่โตเพราะค่าจ้างเติบโตช้า หัวใจสำคัญคือต้องเร่งการลงทุน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน |
. |
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยมีระดับการพึ่งพาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสัดส่วนเพิ่มจาก 40% ของ GDP ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย มาเป็นกว่า 70% ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นอันดับสองในภูมิภาค (ไม่นับสิงคโปร์) รองจากมาเลเซีย |
. |
แม้ว่าหลายๆ รัฐบาลจะมีนโยบายในการลดการพึ่งพาการส่งออก แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ สาเหตุสำคัญมาจากการที่ความพยายามในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศไม่เป็นผล เนื่องจากรายได้ หรืออำนาจซื้อในการจับจ่ายใช้สอยของประชากรไม่เติบโต ทั้งนี้ค่าจ้างที่แท้จริงในภาคการผลิตของไทยยังคงล้าหลังอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจาก 10 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตัวเลขของสิงคโปร์และเกาหลี เพิ่มขึ้นกว่า 50% |
. |
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าจ้างของเราเติบโตช้า คือการที่เรายังคงมีผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ที่ต่ำ และนั่นย่อมส่งผลไปถึงการขายของได้น้อย ประกอบกับการที่ราคาขายส่งออกของไทยถูกกำหนดโดยตลาดโลก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่มีการเพิ่มมูลค่า (value chain) ไม่มาก ราคาขายเป็นสกุลดอลลาร์จึงไม่สูง |
. |
โดยเฉพาะเมื่อแปลงเป็นเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบันแล้ว ยิ่งทำให้รายรับไม่เปลี่ยนแปลงนัก ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงระหว่างปี 2543-2551 ดัชนีราคาสินค้าส่งออกที่ผลิตโดยไทยโดยรวมเมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลล่าห์เพิ่มขึ้นประมาณ 28% แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทแล้วเพิ่มขึ้นเพียง 6% |
. |
สาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถขยับราคาค่าจ้างได้มากนัก ดังนั้น เมื่ออำนาจซื้อไม่ขยับ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยสิ่งเหล่านี้ส่งผลถึงกันเป็นวงจร ทำให้เราต้องพึ่งพาการส่งออก วนเวียนอยู่เช่นนี้นั่นเอง |
. |
หากจะทำให้วงจรนี้สลายไป เราควรต้องหยุด หรือแทรกแซงวงจรนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน เพื่อผลักดันทั้งปัจจัยด้านราคา และปริมาณของสินค้าส่งออก และต้องทำให้มั่นใจว่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นเร็วกว่าเงินสกุลอื่นโดยเปรียบเทียบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ไม่ง่ายนัก |
. |
แต่สิ่งที่ทำได้ และควรทำอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ ควรเร่งให้การลงทุนสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด โดยตัวเลขล่าสุดในปี 2551 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 ในขณะที่มูลค่าการลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค |
. |
เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเกาหลี เพิ่มขึ้นไปถึง 20-50% แล้ว โดยหากรัฐบาลเริ่มการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ก็จะทำให้การลงทุนจากภาคเอกชนหลั่งไหลตามมา แต่ถ้าไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว และจริงจัง ก็คงยากที่จะเห็นประเทศไทยพ้นไปจากวงจรพึ่งพาการส่งออก หรือเกิดการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน และเพิ่มรายได้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม |