ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 อย่างเป็นทางการ (Formal ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3) |
. |
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลังได้เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFDM+3) ร่วมกับนายเจ ยูน ชิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์ และการคลัง สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2552 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 โดยมีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้ |
. |
1. การจัดตั้งกองทุนมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่พหุภาคี (Chiang Mai Multilateralisation: CMIM) โดยที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำร่างความตกลงเพื่อจัดตั้งกองทุน CMIM |
. |
ซึ่งในขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้จัดทำร่างความตกลงฯฉบับสุดท้ายแล้วเสร็จ และประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในประเทศเพื่อให้มีการลงนามในความตกลง เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก่อนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ Meeting: AFMM+3) ในเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ประเทศอุสเบกีสถาน |
. |
2. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการจัดตั้งหน่วยงานระวังภัยทางเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เป็นอิสระ (Independent Surveillance Unit) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคและเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน CMIM โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับโครงสร้างและการบริหารจัดการของหน่วยงาน |
. |
โดยมีความเห็นร่วมกันว่าหน่วยงานดังกล่าวควรมีความอิสระในการดำเนินงาน และมีโครงสร้างและการบริหารจัดการที่ไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ กลุ่มประเทศ +3 (ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลี) ยังได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวในประเทศอาเซียน ซึ่งจะได้มีการหารือในระดับรัฐมนตรีต่อไป |
. |
3. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย (Asia Bond Markets Initiative: ABMI) ซึ่งมีความคืบหน้าหลักได้แก่ การจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Mechanism: CGIM) เพื่อเป็นกลไกในระดับภูมิภาคที่ทำหน้าที่ค้ำประกันเครดิตในการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนของประเทศสมาชิก ซึ่งจะจัดตั้งในลักษณะของกองทุนภายใต้ธนาคารพัฒนาเอเชีย มีเงินทุนเบื้องต้น 500 ล้านเหรียญสหรัฐ |
. |
โดยที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบจำนวนเงินที่ประเทศสมาชิกจะลงเงินเพื่อจัดตั้ง CGIM ได้แก่ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สาธารณรัฐเกาหลี 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงเงินร่วมกันประมาณ ร้อยละ 10 ของกองทุน ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชียร่วมลงเงินในกองทุนดังกล่าวเช่นเดียวกัน |
. |
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบให้กองทุนมีขนาดมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน +3ในเดือนพฤษภาคม 2553 จะสามารถประกาศความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนนี้ได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนชื่อ กองทุนจาก CGIM เป็น CGIF (Credit Guarantee and Investment Facility) |