เนื้อหาวันที่ : 2009-12-01 16:46:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2132 views

แนวรบใหม่อุตฯเฟอร์นิเจอร์ไม้ สู้ด้วย “ไอเดียเจ๋ง&บริหารจัดการดี”

iTAP เดินหน้าพัฒนาอุตฯเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยจัดกิจกรรมให้ความรู้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิต ชี้จุดแข็งของไทยคือฝีมือและความประณีต แต่ด้อยเรื่องราคาและต้นทุน

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ iTAP มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้มาตั้งแต่ปี 2547 - ปัจจุบัน โดยมีกิจกรรมภายใต้โครงการ เช่น การอบรมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไม้ของไทย และล่าสุดจัดกิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ในประเทศเพื่อให้ความรู้และการใช้เทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้อย่างเหมาะสม อันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ในตลาดโลก 

.

นายสงกรานต์ บางศรัณย์ทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ iTAP เปิดเผยว่า “จุดเด่นของอุตสาหกรรมไม้บ้านเราได้แก่ เรื่องฝีมือและความประณีตแต่ยังมีจุดด้อยเรื่องของราคาและต้นทุน                 

.

อย่างจีนซื้อไม้ยางพาราจากคนไทยนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์และกลับมาขายคนไทยอีก กลับขายถูกกว่าคนไทยที่มีไม้ยางพาราในประเทศเองเนื่องจากแรงงานเขาถูกกว่า เช่น มีไม้ 1 ท่อนน่าจะผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้ประมาณ 3 ตัว แต่ถ้าหากเราบริหารจัดการไม่ดีอาจผลิตได้แค่ 2 ตัวทำให้ต้นทุนสูงขึ้นประกอบกับหากมีเทคโนโลยีไม่มีคุณภาพ เราจะสู้ต่างประเทศไม่ได้

.

ดังนั้นการแข่งขันในบ้านเราจึงจำเป็นต้องมองเรื่องการบริหารจัดการ เช่น เรื่องคอร์สการกำหนดต้นทุนแท้จริงของสินค้า การเพิ่มผลผลิต การวางแผนการผลิต การควบคุมคุณภาพ ศาสตร์พวกนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ” 

.

อาจารย์จากสาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมไม้ กล่าวอีกว่า “สำหรับคู่แข่งในอุตสาหกรรมไม้อย่างจีนซึ่งผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากย่อมสู้ไม่ได้ หรือเวียดนามที่ต้นทุนแรงงานถูกกว่า หากลองมองย้อนไปอดีตเราแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับเวียดนาม    

.

แต่ปัจจุบันเวียดนามไปไกลกว่ามาก และทำไมปล่อยให้เขาแซงเราไปได้ หรือมองอย่างญี่ปุ่นจะมีการส่งแบบเฟอร์นิเจอร์ให้บ้านเราผลิตโดยเฉพาะต้นแบบที่ยากๆเมื่อคนไทยผลิตได้ เขาก็จะส่งให้จีนผลิตเพราะต้นทุนถูกกว่าเหมือนบ้านเราเป็นห้องทดลอง ซึ่งถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมจะเห็นได้ว่าคุมต้นทุนลำบาก ดังนั้นเราต้องเพิ่มเรื่องการออกแบบมากขึ้น เพื่อให้แข่งขันกับต่างประเทศได้”

.

.

ผศ.ยุทธการ อาจารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยากรหัวข้อ “การแปลงข้อมูลพื้นฐานเพื่อการออกแบบเครื่องเรือน/แนวคิดการออกแบบและสร้างเครื่องเรือนประเภทอเนกประสงค์” กล่าวว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ทั่วโลกโดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงานต่างๆ จะเน้นการออกแบบเพื่อให้สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ (Multi function)

.

แนวโน้มเฟอร์นิเจอร์ยุคนี้จึงต้องการรองรับเทคโนโลยีเพื่อใช้ประกอบการทำงานให้เกิดความสะดวกและคล่องตัว แต่เฟอร์นิเจอร์ในบ้านเรากลับเน้นให้ใช้งานได้เพียงอย่างเดียว ขณะที่ต่างประเทศเขาจะคิดว่าทำอย่างไรให้เครื่องเรือนสามารถประหยัดพื้นที่ใช้สอยได้ ทำอย่างไรให้สามารถปรับใช้งานร่วมกัน เช่น โต๊ะทำงาน 1 ตัวสามารถปรับระดับความสูงได้ด้วยความสูงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นแนวคิดนี้จะทำให้หลายคนสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น

.

วัตถุประสงค์ของการให้ความรู้ในครั้งนี้จึงมุ่งให้ผู้ประกอบการทราบถึงภาพรวมของขั้นตอนทั้งหมดในกระบวนการคิดที่จะออกแบบรูปทรงเครื่องเรือนอย่างเป็นระบบและการกำหนดข้อมูลสำคัญในแต่ละลำดับขั้นตอน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์รูปแบบเครื่องเรือนที่สามารถใช้งานได้มากกว่าหนึ่งวัตถุประสงค์และสามารถนำแนวการสร้างรูปทรงเครื่องเรือนที่สามารถใช้งานได้หลากหลายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม

.

ผศ.ยุทธการ กล่าวอีกว่า “ความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบเครื่องเรือน หรือผลิตขายในบ้านเรานั้นยังมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ทุกอย่างเลียนแบบและเป็นการต่อยอดแบบไม่ได้จริงจังมักเน้นรูปแบบภายนอกมากกว่า เช่น สี รูปร่าง ของเฟอร์นิเจอร์ที่สะดุดตา เราทำได้จุดหนึ่งๆแล้วขายแค่นั้น ไม่พยายามมองหาเทคนิคใหม่ๆ

.

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความรู้เรื่องการออกแบบ เรื่องของการใช้ความคิด เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายกว่า ทำให้เกิดการผลิตได้สะดวกขึ้นและผู้ขายๆของได้ง่ายขึ้น”

.

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยจึงควรหันมาเน้นที่การออกแบบ นำเสนอแนวความคิด และจำเป็นต้องจดสิทธิบัตร ซึ่งรูปแบบอาจลอกเลียนกันง่ายแต่ถ้าคุณมีเทคโนโลยีจะสามารถจดสิทธิบัตรคุ้มครอง เช่น โต๊ะซึ่งดีไซน์ให้ปรับระดับตามความต้องการใช้งาน ถ้าคุณทำได้ต่อให้ใครเลียนแบบอาจทำได้แค่รูปแบบภายนอก แต่เทคนิคการปรับระดับจะลอกเลียนแบบกันยาก เป็นต้น

.

นอกจากนี้ยังมองว่า “อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์บ้านเราที่แข่งขันได้ คือ ความประณีต แต่ราคาเมื่อเทียบกับเวียดนาม จีน สู้ไม่ได้ หากเราไม่พยายามจะกระตุ้นเรื่องการออกแบบ ปรับความคิดเรื่องการเป็นผู้รับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียวการแข่งขันในตลาดขณะนี้จึงเป็นเรื่องของการออกแบบที่ใครแน่กว่าใคร ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนงานด้านนี้เพิ่มขึ้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไทยสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก” ผู้เชี่ยวชาญ iTAP กล่าวในที่สุด