ราชบุรีโฮลดิ้ง แจ้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาคืบหน้าล่าสุด บริษัท HPC ลงนามสัญญาสัมปทานผลิตไฟฟ้ากับรัฐบาล สปป.ลาวกำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี
. |
ราชบุรีโฮลดิ้ง แจ้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาคืบหน้าล่าสุด บริษัท HPC ลงนามสัญญาสัมปทานผลิตไฟฟ้ากับรัฐบาล สปป.ลาวกำลังผลิตติดตั้ง 1,878 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี |
. |
บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”)ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท Hongsa Power Company Limited (“HPC”) และ บริษัท Phu Fai Mining Company Limited (“PFMC”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 40 และ 37.5 ตามลำดับ และจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาได้ลงนามในสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว วานนี้ (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2552) |
. |
สัญญาสัมปทานดังกล่าวเป็นการรับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท HPC และรับสัมปทานในการทำเหมืองลิกไนต์ของบริษัท PFMC ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการพัฒนาโครงการใน สปป.ลาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้พัฒนาโครงการ ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานทั้งสองฉบับดังกล่าวมีระยะเวลา 25 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มผลิตไฟฟ้าและถ่านหินเชิงพาณิชย์แล้ว |
. |
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลงนามสัญญาสัมปทานระหว่าง HPC กับ รัฐบาล สปป.ลาว วานนี้ นับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ซึ่งบริษัทได้ลงทุนร่วมกับกลุ่มบ้านปู และ LHSE (Lao Holding State Enterprise) |
. |
โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าสูงและยังเป็นโครงการที่ได้ผสานความเชี่ยวชาญของผู้ร่วมทุนในการพัฒนาโครงการ โดยราชบุรีโฮลดิ้ง มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ |
. |
ขณะที่กลุ่มบ้านปู เชี่ยวชาญในธุรกิจเหมืองถ่านหิน และ LHSE มีประสบการณ์พัฒนาโครงการสาธารณูปโภคไฟฟ้าใน สปป.ลาวมายาวนาน บริษัทเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของไทยและ สปป. ลาว อีกทั้งสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทยและคนลาวได้เป็นอย่างดี” |
. |
โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ร่วมลงทุนโดยบริษัทฯ (ร้อยละ40) บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (ร้อยละ 40) และ บริษัท Lao Holding State Enterprise (ร้อยละ 20) เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้ถ่านหินประเภทลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 1,878 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 3 ยูนิต ๆ ละ 626 เมกะวัตต์ |
. |
คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2558 โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโครงการตามบันทึกข้อตกลงโครงสร้างค่าไฟ (Tariff MOU) ที่ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 จำนวน 1,473 เมกะวัตต์ |
. |
ส่วนอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ จะจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos: EDL) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในสปป. ลาว สำหรับกระแสไฟฟ้าที่เหลือ จะนำไปใช้ในการดำเนินงานผลิตลิกไนต์และผลิตกระแสไฟฟ้าของโครงการ |