เนื้อหาวันที่ : 2009-12-01 11:22:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3135 views

เต้ดตรา แพ้คผนึก บราสเคม นำร่อง “พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม”

เต็ดตรา แพ้ค จับมือ บราสเคม ลงนามข้อตกลงโครงการนำร่อง “พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม โดยจะทดลองนำโพลีเอทิลีนที่ทำจากทรัพยากรทดแทนได้จาก “บราสเคม”

 .

เต็ดตรา แพ้คและ “บราสเคม” ลงนามข้อตกลงโครงการนำร่อง “พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มเต็ดตร้า แพ้ค จะทดลองนำโพลีเอทิลีนที่ทำจากทรัพยากรทดแทนได้จาก “บราสเคม” มาใช้ในการผลิตฝาปิดกล่องโลซานน์ สวิสเซอร์แลนด์ และเซา เปาโล บราซิล 

 .

เต็ดตรา แพ้ค บริษัทชั้นนำของโลกด้านเทคโนโลยีการผลิต การบรรจุ และบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม บรรลุข้อตกลงร่วมกับ “บราสเคม เอสเอ” (Braskem SA) บริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดของบราซิล เพื่อจัดซื้อโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (high-density polyethylene: HDPE) ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบที่เป็นทรัพยากรทดแทนได้ โดยจะจัดซื้อในปริมาณจำกัดในเบื้องต้น 

 .

ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการริเริ่มนำโพลีเอทิลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มบราสเคม คาดว่า โรงงานผลิตโพลีเอทิลีนเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบราซิล จะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตได้ภายในปลายปีหน้า และวางแผนจัดส่งให้กับเต็ดตรา แพ้ค ได้ในต้นปีพ.ศ. 2554           

 .

โดยโรงงานใหม่นี้จะนำเอทานอล (ethanol) ซึ่งได้มาจากต้นอ้อยมาใช้ผลิตเอทิลีน (ethylene) และแปรรูปเป็นโพลีเอทิลีน (polyethylene) ซึ่งเป็นพลาสติกที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก มีการคาดการณ์ว่ากระบวนการผลิตพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตโพลีเอทิลีนแบบเดิมที่ใช้กันมานาน

 .

ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงดังกล่าว บราสเคมจะเริ่มผลิตโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูงเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green HDPE) ให้กับเต็ดตรา แพ้ค เป็นจำนวน 5,000 ตันต่อปีนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป เพื่อนำไปใช้ในการผลิตฝาปิดพลาสติกกล่องเครื่องดื่ม ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็นราวร้อยละ 5 ของความต้องการใช้โพลีเอทิลีนทั้งหมดของเต็ดตรา แพ้ค และประมาณ เกือบร้อยละ 1 ของการซื้อพลาสติกทั้งหมดของบริษัท

 .

มร. เดนนิส ยอห์นสัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เต็ดตรา แพ้ค กล่าวว่า “โครงการนำร่องนี้ เป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกในการใช้โพลีเอททิลีนเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ถือเป็นก้าวสำคัญของความมุ่งมั่นของเต็ดตรา แพ้ค ในการมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการใช้วัตถุดิบที่ทำมาจากทรัพยากรทดแทนได้ ในการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มของเรา”

 .

มร. เบอร์นาร์โด กราดิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บราสเคม กล่าวว่า “บริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมธุรกิจกับเต็ดตรา แพ้ค โดยการจัดหาวัตถุดิบทางเลือกใหม่ที่ทำจากทรัพยากรทดแทนได้แทนที่โพลีเอทิลีนชนิดเดิม ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่เราได้ร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจที่ยาวนานอย่างเต็ดตรา แพ้ค และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของของทั้งสองบริษัทในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

.

ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบเป็นเยื่อกระดาษจากต้นไม้ แนวคิดของการใช้วัตถุดิบที่ทำมาจากทรัพยากรทดแทนได้ จึงเป็นหลักการสำคัญที่เต็ดตรา แพ้คยึดมั่น และมีการรณรงค์ให้ใช้วัตถุดิบจากแหล่งทรัพยากรที่มีการจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ 

.

โดยเต็ดตรา แพ้ค ได้ร่วมมือกับองค์การการจัดการด้านป่าไม้ หรือ เอฟเอสซี (Forestry Stewardship Council: FSC) ในการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการรับรองการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการผลิตที่ใช้วัตถุดิบซึ่งทำจากทรัพยากรทดแทนได้ โดยการผลิตพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม

.

นอกจากนี้ เต็ดตรา แพ้ค ได้ร่วมลงนามเข้าร่วมใน “โครงการผู้กอบกู้สภาวะภูมิอากาศ” (The Climate Savers Programme) ของ WWF ตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศลงร้อยละ 10 ภายในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2553
ในปี พ.ศ. 2545 บราสเคมได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

.

และเป็นบริษัทแรกในประเทศบราซิลที่สนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมในโครงการ “UNEP International Declaration on Cleaner Production” ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 บราสเคมเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบราซิลที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของบริษัทที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน (Brazilian Stock Exchange Sustainability Index: ISE Bovespa)

.

โดยโรงงานทั้งหมดของบริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 สำหรับปีนี้ บราสเคมได้ลงนามในข้อตกลง “Copenhagen Communiqué on Climate Change” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมกันจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในปัจจุบัน