สศค. เผยดัชนีเศรษฐกิจในเดือนแรกของไตรมาส 4 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เชื่อขยายตัวดีกว่าไตรมาส 3 เตรียมปรับเป้าจีดีพีสิ้นปี
สศค. เผยดัชนีเศรษฐกิจในเดือนแรกของไตรมาส 4 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เชื่อขยายตัวดีกว่าไตรมาส 3 เตรียมปรับเป้าจีดีพีสิ้นปี |
. |
. |
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีเศรษฐกิจในเดือนแรกของไตรมาส 4 บ่งชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จากไตรมาส 3 การส่งออก ใช้จ่ายในประเทศ ปรับตัวดีขึ้น |
. |
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเปิดเผยว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2552 บ่งชี้ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของไตรมาส 4 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 จากการปรับตัวดีขึ้นของทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศ พร้อมกันนี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งอัตราว่างงาน ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะทางการคลังอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง” |
. |
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังชี้ว่า “การส่งออกในเดือนตุลาคม 2552 หดตัวเพียงร้อยละ -3.0 ต่อปี จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ -17.7 ต่อปีในไตรมาสที่ 3 ส่วนเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนตุลาคม 2552 หดตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ -7.0 ต่อปี จากที่ได้หดตัวสูงกว่าร้อยละ -15.6 ต่อปี ในไตรมาส 3 ปัจจัยนี้แสดงถึงการฟื้นตัวของการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน |
. |
ขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมนั้นได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกในเดือนตุลาคม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นในเดือนแรกของไตรมาส 4 นอกจากนั้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ประกอบกับทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง” |
. |
นายเอกนิติ ชี้ต่อไปว่า “จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ สศค. มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3 โดยกระทรวงการคลัง จะได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและแถลงผลประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2552 และ 2553 ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 2552 ต่อไป” |
. |
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2552 |
ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2552 มีสัญญาณของการเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้ |
. |
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2552 มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่หดตัวลดน้อยลงที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี บ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ที่หดตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า |
. |
ในขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 23.4 ต่อปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง |
. |
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง เห็นได้จากด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่อยู่ที่ระดับ 68.0 จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 จากเดือนก่อนหน้า ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากความวิตกของราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง |
. |
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2552 มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน หดตัวลดลงที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.03 ต่อปี ดีขึ้นจากที่เคยหดตัวติดต่อกันถึง 2 เดือน |
. |
สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.1 ต่อปี บ่งชี้การทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น |
. |
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2552 พบว่า รายจ่ายรัฐบาล เท่ากับ 90.3 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -3.6 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552 รายจ่ายประจำมีจำนวน 79.5 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -6.1 และรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 0.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี จากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า |
. |
ด้านรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) จัดเก็บได้ 111.1 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ ร้อยละ 21.5 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบียร์ ยาสูบ และสุรา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 |
. |
ทั้งนี้ ภาษีฐานรายได้หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคหดตัวร้อยละ -7.0 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.0 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน |
. |
4. การส่งออกเริ่มมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนตุลาคม 2552 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี บ่งชี้ว่าสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกเริ่มชัดเจนขึ้น |
. |
โดยสินค้าส่งออกที่ปรับตัวได้ดีขึ้นได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ที่มีการขยายตัวเป็นบวก เช่น จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย เวียดนาม ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐพบว่ายังคงหดตัวต่อเนื่อง |
. |
โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 13.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลดลงร้อยละ -17.5 ต่อปี โดยมาจากปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -19.8 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ในขณะที่เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า มูลค่าการนำเข้าหดตัวชะลอลงในหมวดสินค้าวัตถุดิบ ทุนและเครื่องจักร ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค และเชื้อเพลิงยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง |
. |
5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนตุลาคม 2552 พบว่า ภาคบริการจากการท่องเที่ยวและภาคเกษตรเริ่มมีการฟื้นตัว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยเครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคมมีจำนวน 1.2 ล้านคน หรือ ขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี ปรับตัวมาเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 |
. |
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากทวีปเอเชียและยุโรปเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี ผลผลิตการเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพืชอาหาร ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และอ้อย |
. |
สำหรับราคาสินค้าเกษตรหดตัวชะลอตัวลงที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงหดตัวลดลงที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี จากผลผลิตอุตสาหกรรมการปั่นทอ เครื่องแต่งกายและเครื่องหนัง ที่หดตัวเป็นหลัก ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักร ขยายตัวดีขึ้น |
. |
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมปรับตัวเป็นบวกมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี |
. |
ทั้งนี้ ระดับราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำของการปรับลดราคาสาธารณูปโภคจากผลของ 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพแก่ประชาชนในช่วงปีก่อน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ร้อยละ 45.5 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 |
. |
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ในระดับสูงที่ 135.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5 เท่า |