เนื้อหาวันที่ : 2009-11-26 12:14:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1326 views

ทีดีอาร์ไอ ชี้ธุรกิจไทยกระจุกตัว แนะรัฐแก้ กม.กันผูกขาด

ทีดีอาร์ไอ เผยธุรกิจไทยในตลาดหลักทรัพย์กระจุกตัว ส่อผูกขาด-ไม่แข่งขัน รัฐวิสาหกิจแชร์รายได้กว่าครึ่ง ซัดผู้บริหารภาครัฐนั่งเก้าอี้กรรมการรัฐวิสาหกิจรักษาผลประโยชน์ใคร

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารและจัดการระบบเศรษฐกิจ "ทีดีอาร์ไอ" เผยธุรกิจไทยในตลาดหลักทรัพย์กระจุกตัว ส่อผูกขาด-ไม่แข่งขัน รัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์มีรายได้รวมเกินครึ่งของรายได้รวมทั้งตลาด ตั้งคำถามบิ๊กผู้บริหารภาครัฐมานั่งเก้าอี้กรรมการรัฐวิสาหกิจรักษาประโยชน์ใคร จี้แก้กฎหมายก่อนธุรกิจเล็กหายไป

.

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

.

(25 พ.ย. 52) เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนองานวิจัยเรื่อง การผูกขาดกับความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ ในการสัมมนาวิชาการของทีดีอาร์ไอประจำปี 2552 หัวข้อ การปฎิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

.

โดยระบุว่า เมื่อดูเฉพาะรายได้ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในภาคธุรกิจไทย  พบว่ามีการกระจุกตัวรุนแรงมากขึ้น โดย 80% ของบริษัท มีรายได้รวมคิดเป็น 10% ของตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่บริษัทที่เหลือ 20% มีรายได้คิดเป็น 80% ของตลาดฯ

.

ทั้งนี้ เมื่อดูลักษณะของธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งข้อสังเกต 3 ข้อคือ 1.รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีรายได้รวมคิดเป็น 52.1% ของรายได้รวมของตลาดหลักทรัพย์ โดยกลุ่ม ปตท. มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 45.6% ของรายได้รวมของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด

.

2.ส่วนใหญ่อยู่ใน non-traded sector หรือเป็นบริษัทที่แข่งขันในตลาดในประเทศ อาทิ ธุรกิจธนาคาร พลังงาน ก่อสร้าง ภาคบริการ ซึ่งการแข่งขันจะน้อย เพราะต่างชาติเข้ามาลงทุนไม่ได้ และการแข่งขันขึ้นอยู่กับกฎกติกาของรัฐ เช่น หากกติกาเอื้อ ก็ทำกำไรมาก 3.บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทในเครือธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาในด้านการแข่งขัน เพราะมักมีสินค้าหลายตัว ทำให้อุดหนุนไขว้ระหว่างสินค้าได้ เป็นสินค้าครบวงจร

.

ทั้งนี้ แม้ว่า ไทยมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่บังคับใช้ได้น้อย เนื่องจากผู้ที่ถูกร้องเรียนมักเกี่ยวข้องกับนักการเมือง โดยตลอด 10 ปีที่บังคับใช้กฎหมาย ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีกับบริษัทใด ยกเว้นบริษัทต่างชาติหนึ่งแห่ง นอกจากนี้ หลายกรณีรัฐสร้างการผูกขาดเอง

.

เช่น การผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายของรัฐเอง เช่นกรณีสัมปทาน อสมท., TOT รวมถึงมีการผูกขาดโดยนโยบาย กฎ หรือระเบียบของรัฐ เช่น การจำกัดการนำเข้าสินค้าหรือการกำหนดโควต้า การกำหนดอัตราภาษีศุลกากร

.

เดือนเด่น กล่าวถึงอุปสรรคในการป้องกันการผูกขาดโดยรัฐวิสาหกิจว่า คือ การที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าไม่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจ ทำให้ฟ้องไม่ได้ ขณะที่คณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ทั้งด้านนโยบาย การกำกับดูแล และกฎหมาย อาทิ กรรมการกฤษฎีกา เลขาสภาพัฒน์ 

.

ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า คนเหล่านี้มีบทบาททับซ้อนกันหรือไม่ เมื่อนั่งอยู่ทั้งในบทรักษาประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์รัฐวิสาหกิจ จะรักษาประโยชน์ใคร

.

เดือนเด่น กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้หากปล่อยไว้จะทำให้พื้นที่ธุรกิจขนาดเล็กลดลง จึงเสนอให้รัฐดำเนินการปรับปรุงการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สร้างกระบวนการร้องเรียนที่มีความโปร่งใสและควรแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้แปรสภาพเป็นหน่วยงานอิสระ

.

ยกเลิกการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ กำหนดขั้นตอนในการออกกฎ กติกา ในการกำกับดูแลของภาครัฐให้มีความรัดกุม ชัดเจนและโปร่งใส รวมถึงมีระบบการประเมินผลกระทบของกฎ ระเบียบของภาครัฐเพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วย

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท