เนื้อหาวันที่ : 2009-11-23 16:40:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2304 views

กทม. เล็งเสนอโมโนเรล 2 เส้นทาง หลังนายกฯเปิดไฟเขียว

กทม. ของบไทยเข้มแข็งกว่าหมื่นล้านผุดโมโนเรล 2 เส้นทาง หลังนายกฯ ไฟเขียวให้เดินหน้าได้ คาดเห็นโครงสร้างทางวิ่งและสถานีก่อนผู้ว่าฯหมดวาระ

.

รองผู้ว่าธีระชน เผยดูงานรถไฟฟ้าขนาดเบามาเลเซีย สิงคโปร์ มีความเป็นไปได้ทำโมโนเรลใน 2 เส้นทาง คือ กทม.2 ดินแดง มิตรไมตรี พญาไท และสนามกีฬาฯ จุฬาฯ สามย่าน โดยเร่งทำรายละเอียดโครงการเพื่อของบไทยเข้มแข็ง 10,000 ล้านบาทให้รัฐบาลสนับสนุน คาดหากผ่านจะเห็นโครงสร้างทางวิ่งและสถานีได้ทันก่อนผู้ว่าฯกทม. หมดวาระ ด้านนายกรัฐมนตรีไฟเขียวให้กทม.ดำเนินการแล้ว

.
หลังดูงาน Monorail และ Light Rail มาเลเซีย สิงคโปร์ กทม.เตรียมเดินหน้าเต็มสูบ

          เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 52 ณ ประเทศสิงคโปร์ ดร.ธีรชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว Monorail และรถไฟฟ้าขนาดเบา Light Rail ที่ประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ ว่า กรุงเทพมหานครเตรียมสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาเพื่อเป็นระบบเสริมในระยะทางสั้นๆ

.

เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน และช่วยลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือในพื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวใช้พื้นที่ในการก่อสร้างไม่มากและกินพื้นที่การจราจรน้อย          

.

อีกทั้งใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก โดย Monorail ใช้เพียงเพียง 1,300 ล้านบาทต่อกิโลเมตร รถไฟฟ้าขนาดเบาระบบล้อยางใช้ 900 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ขณะที่รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ต้องใช้มากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ส่วนการรองรับผู้โดยสารรถไฟฟ้า Monorail และ Light Rail สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4-5 หมื่นคนต่อวัน

.
คาดสร้าง 2 เส้นทางก่อน คือ กทม.2 ดินแดง มิตรไมตรี พญาไท และสนามกีฬาฯ จุฬาฯ สามย่าน 

          ส่วนความคืบหน้าขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง เร่งรวบรวมข้อมูล รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายละเอียดเส้นทางที่เหมาะสม หากเร่งรัดขั้นตอนนี้ได้จะช่วยร่นระยะเวลาให้ดำเนินโครงการได้เร็วขึ้นกว่า 8-10 เดือน ส่วนจำนวนเส้นทางที่กำลังศึกษา เบื้องต้นขณะนี้มี 7-8 เส้นทาง

.

ซึ่งความเป็นไปได้จะนำระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล มาใช้งาน เนื่องจากมีความสวยงาม ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของตัวเมือง ประหยัดพื้นที่ในการก่อสร้าง กินเนื้อที่ช่องจราจรไม่มากนัก ทั้งนี้คาดว่าจะสร้างใน 2 เส้นทางก่อน คือ เส้นทางสนามกีฬาแห่งชาติ สามย่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอู่ซ่อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย กว่า 5 ไร่                     

.

ซึ่งทางด้านของจุฬาลงกรณ์ มีความยินดีที่จะสนับสนุนที่ดินในการก่อสร้างและให้เส้นทางผ่านเข้าไปในพื้นที่ มีจำนวน 6 สถานี ส่วนอีกเส้นทาง คือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ถ.มิตรไมตรี ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สถานีพญาไท และแอพอร์ตลิ้งค์ โดยมีอู่ซ่อมที่กองโรงงานช่างกล กทม.2 มีจำนวน 8 สถานี

.
เสนอมหาดไทยนำเข้าครม. หากพลาด กทม. มีหลายทาง เช่นออกพันธบัตร หรือให้เอกชนสร้างทั้งหมด

          ด้านขั้นตอนการนำเสนอรัฐบาล หลังจากที่ได้ศึกษาและทำแผนความเป็นไปได้แล้ว ทางกทม. จะต้องทำเรื่องเสนอที่ประชุมครม. ผ่านทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อของบสนับสนุนจากโครงการไทยเข้มแข็งประมาณ 10,000ล้านบาท แต่หากไม่ได้รับการพิจารณา กทม. ก็มีหลายช่องทาง เช่น การออกพันธบัตร นอกจากนั้นยังมี บ.เอกชนเสนอตัวเข้ามาลงทุนก่อสร้างทั้งหมดด้วย

.
มุ่งมั่นเกิด Monorail ให้ได้ภายในสมัยผู้ว่า.สุขุมพันธ์ โดยนายกรัฐมนตรีไฟเขียวแล้วให้ กทม.ดำเนินการ

          ดร.ธีระชน กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการระบบการเดินทาง Monorail หรือ Light Rail เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน และเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ เองก็ต้องการเห็นและใช้บริการระบบขนส่งมวลชนดังกล่าว ซึ่งจะผลักดันให้เห็นการเริ่มต้นก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งหรือสถานีภายในสมัยที่ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.

.

โดยขณะนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบและสนับสนุนให้กทม. ดำเนินการแล้ว ซึ่งกทม. ก็จะได้ทำหนังสือเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากทำไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป