อภิสิทธิ์ ยันมั่นใจตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นบวก พร้อมเดินหน้าปรับปรุงและวางแผนรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "อนาคตไทย...ภายใต้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง" มั่นใจตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นบวก พร้อมเดินหน้าปรับปรุงและวางแผนรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ |
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี |
เมื่อที่ 16 พ.ย. 2552 เวลา 13.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่น บี 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อนาคตไทย...ภายใต้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง" จัดโดยบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) |
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของรัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดมา ได้ตระหนักถึงยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างการฟื้นฟูเศษฐกิจภายใต้โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 |
ธนาคารได้จัดให้มีโครงการสินเชื่อเพื่อรองรับแผนดังกล่าวในโครงการสินเชื่อก่อสร้างไทยเข้มแข็ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการก่อสร้างได้มีโอกาสในการแข่งขันเข้าประมูลงานก่อสร้างได้มากขึ้น โดยสามารถออกหนังสือค้ำประกันด่วนภายใน 1 วัน และสินเชื่อด่วนภายใน 15 วันแก่ผู้รับเหมาที่ประมูลงาน |
สำหรับการจัดปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "อนาคตไทย...ภายใต้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง" ในวันนี้เป็นกิจกรรมที่สำคัญของธนาคารในการสนับสนุนโครงการของรัฐบาลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่ชี้ให้เห็นถึงผลของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่มีต่ออนาคตของประเทศไทย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากแผนนี้อย่างเต็มที่ |
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ สรุปว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก โดยมุ่งในเรื่องการรักษากำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรจำนวนมาก การช่วยเหลือผู้ว่างงานผ่านโครงการต้นกล้าอาชีพ |
การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในโครงการเช็คช่วยชาติ การลดภาระค่าใช้จ่ายหรือเสริมรายได้ให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านนโยบายการศึกษาฟรี 15 ปี โครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมไปถึงมาตรการลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง |
ทั้งนี้ มาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการและปัจจัยอื่น ๆ ช่วยทำให้เราสามารถหยุดยั้งภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจได้ ควบคู่ไปกับการบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกันมาก ซึ่งในที่สุดภาวะคนว่างงานขณะนี้ได้เริ่มลดลงแล้ว แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป และมีความพร้อมในการแข่งขันกับคู่แข่งทั้งหลายในเศรษฐกิจโลกในอนาคต |
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ผลักดันให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง นั่นคือใน 3 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านตำแหน่งในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่สำคัญจะมีส่วนในการที่จะเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยประมาณเฉลี่ยน่าจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณร้อยละ 1.3 ต่อปีใน 3 ปีข้างหน้านี้ |
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรากำลังใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย ซึ่งประสบมาจากการที่คนภายนอกประเมินขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และจากการสัมผัสกับการร้องเรียนและการสะท้อนปัญหาของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การลงทุนในเรื่องแหล่งน้ำที่มีค่อนข้างน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารที่จะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งของโลก |
ดังนั้น การลงทุนในเรื่องแหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก และในปฏิบัติการไทยเข้มแข็งซึ่งมีแผนการลงทุนรวมประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท จะมีเงินกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ ทั้งการก่อสร้างฝาย อ่างเก็บน้ำ กระจายในเรื่องของน้ำ และเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบการเกษตร ที่รัฐบาลมีแนวทางใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการถือครองที่ดิน รวมไปถึงการแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ การปรับปรุงพันธุ์พืช การเชื่อมโยงงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางด้านการเกษตรเข้ามาพร้อม ๆ กันไป |
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งในเรื่องของการขนส่งและโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลัก ถนนไร้ฝุ่น ไปจนถึงการขนส่งระบบรางทั้งรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ รถไฟที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไปจนถึงรถไฟความเร็วสูง ตลอดจนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน การปรับปรุงโรงเรียน การปรับปรุงในเรื่องการสาธารณสุข |
พร้อม ๆ กับการรุกไปข้างหน้าในการเตรียมความพร้อมของประเทศในการแข่งขัน ที่เป็นการปรับปรุงนโยบายในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทุกครัวเรือนที่มาขึ้นทะเบียนในพืชหลัก ซึ่งจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกันครบถ้วน การยืดระยะเวลาชำระคืนหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน การเพิ่มเงินในกองทุนหมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งการเสริมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่การใช้ภาคบริการหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการให้สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น |
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าการดำเนินการภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งนั้น สิ่งสำคัญคือความมีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินที่กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และความโปร่งใสเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหล หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยรัฐบาลได้ขอให้หน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระ องค์กรภาคประชาชน เข้ามาช่วยและร่วมกันตรวจสอบปฏิบัติการไทยเข้มแข็งอีกทางหนึ่งด้วย |
ทั้งนี้ เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่าจะต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวเป็นบวกให้ได้ภายในปลายปีนี้ มั่นใจว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นตัวเลขที่เป็นบวก ประกอบกับขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในฐานะที่จะขยายตัวได้ ตั้งแต่ประมาณร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 3.5 หรือสูงกว่านั้น ซึ่งคาดว่าไตรมาสที่ 2 ของปีหน้าน่าจะได้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนอีกครั้ง |
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาไปหลายจุด และกำลังจะเดินหน้าในการปรับปรุงตั้งแต่เรื่องของระบบภาษีอากร การอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ที่จะเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น และมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้และต้นปีหน้าต่อไป อย่างไรก็ตามลำพังเฉพาะการลงทุนของภาครัฐ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียว คงไม่พอสำหรับที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระยะกลาง ระยะยาว |
. |
รัฐบาลได้เดินหน้าปรับปรุงและวางแผนในเรื่องสำคัญ ๆ ที่จะมารองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเอาไว้ เช่น แผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุน แผนพัฒนาสถาบันการเงิน การปรับปรุงแนวทางการเข้ามาร่วมงานของรัฐจากภาคเอกชนที่จะทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และสามารถที่จะระดมทั้งทุนและกำลังของภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในงานต่าง ๆ ของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น |
. |
“ผมกล้าพูดได้ว่าเมื่อใกล้จะครบ 1 ปีจากการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ เศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นตัวและเดินมาไกลพอสมควร ที่สำคัญคือว่าการที่เราทำให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมานั้น เราไม่ได้ทำให้ฟื้นขึ้นมาเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ได้วางแนวทางสำหรับการเติบโตและการพัฒนาของเศรษฐกิจในอนาคตไว้อย่างชัดเจน” นายกรัฐมนตรีกล่าว |
. |
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าความสำเร็จของเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะอยู่ที่ภาคเอกชนเองด้วย ที่จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่จะต้องตระหนักถึงความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้น และไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคบริการ ล้วนแล้วแต่จะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเองพร้อม ๆ กันไปทั้งสิ้น |
. |
รัฐบาลยืนยันว่าเราจะเป็นหุ้นส่วนของภาคธุรกิจเอกชนในการที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เศรษฐกิจของเรานั้น เป็นเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่ง มีความมั่นคง และเป็นเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์สุขให้ประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึงอย่างแท้จริง |
. |
ที่มา : เว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรี |