เนื้อหาวันที่ : 2009-11-17 09:58:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2160 views

ซีเกทและเนคเทค จัดโครงการอีวายเอช 2009 ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์ ปีที่ 2

ซีเกท เทคโนโลยี จับมือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดโครงการสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้ชื่อ “Expanding Your Horizons Thailand 2009 : EYH2009) ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์”

.

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค/สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดโครงการสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้ชื่อ “ Expanding Your Horizons Thailand 2009 : EYH2009) ขยายขอบข่ายความรู้สู่ความคิดวิทยาศาสตร์” เป็นปีที่สองในประเทศไทย    

.

ภายหลังประสบความสำเร็จในการจุดประกายความสนใจของนักเรียนหญิงในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ในครั้งแรก

.

โครง?การอีวายเอช (EYH : Expanding Your Horizons ) ?เป็นการจัดกิจกรรมที่เริ่มขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนหญิง สนับสนุนและกระตุ้นให้มีความสนใจและสนุกไปกับกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการนี้จะกระตุ้นให้นักเรียนหญิงเหล่านี้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ในระดับการเรียนที่สูงขึ้น ตลอดจนมองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพการงานในอนาคต

.

โครงการอีวายเอช 2009 ได้จัดขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน ศกนี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยรับสมัครนักเรียนหญิงที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 150 คน จากโรงเรียนต่าง ๆ ใน กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี 

.

นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้อำนวยการบริหารและผู้จัดการโรงงานซีเกท เทพารักษ์ กล่าวว่า “ซีเกทตระหนักใน ความสำคัญด้านการศึกษาและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีส่วนร่วมในพัฒนาเยาวชนและสังคมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ในการดำเนินงานในประเทศไทย โดยเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน และมีอนาคตที่ก้าวหน้าต่อไป”

.

โครงการอีวายเอช เป็นกิจกรรมที่จะเพิ่มโอกาสสำคัญในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนหญิงซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกให้มากขึ้น ซีเกทหวังให้กิจกรรมนี้จะมีส่วนในการสร้างนักวิทยาศาสตร์หญิง วิศวกรหญิง หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอาชีพอื่นๆ ด้านเทคโนโลยีที่เป็นผู้หญิงให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ซีเกทจึงเลือกอีวายเอชเป็นกิจกรรมที่จะจัดขึ้น ในทุกประเทศที่เรามีโรงงานตั้งอยู่ อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ ไทย จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น

.

เพื่อร่วมเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนทั่วโลกไปพร้อมๆกัน ซึ่งนอกจากบริษัทจะเป็นผู้จัดกิจกรรมแล้ว พนักงานของเรายังเข้าร่วมเป็นอาสา สมัครด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เยาวชนเหล่านี้ด้วย 

.
 ซีเกทต้องขอขอบคุณเนคเทคอีกครั้งหนึ่งที่ได้สนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญ ทีมงานและอาสาสมัครเข้าเป็นกำลังหลักในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ
.

ดร. พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเป็นองค์กรหลักด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ของประเทศแล้ว การพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เป็นอีกเป้าหมายหลักของเนคเทค

.

ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเนคเทคพยายามที่จะขยายโอกาสและสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่เยาวชนไทยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จนถึงระดับอุดมศึกษา                              

.

โดยการเสริมสร้างฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนของประเทศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาทางวิชาการในระบบพี่เลี้ยง การประกวดแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือการอบรมให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

.

สำหรับกิจกรรมอีวายเอช นั้นเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ ด้านการพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปีนี้ ซึ่งเนคเทคได้เข้าร่วมจัดกิจกรรม ในครั้งแรก เมื่อปี 2550 นั้น และพบว่าอีวายเอชมีส่วนสำคัญในการชี้แนวทางและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนหญิงในการเลือกศึกษาต่อในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น

.

โดยจากผลการสำรวจนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการพบว่า มากกว่า 95% ที่ได้มีการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสาขาวิทยาศาสตร์ซึ่งนับว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของประเทศ ส่งผลดีในการเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิจัย เช่น วิศวกร นักวิจัย ซึ่งมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้เพียงพอต่อความต้องการ”

.

ในโครงการอีวายเอช 2009 กิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่น่าท้าทายต่าง ๆ ได้รับการออกแบบเพื่อให้นักเรียนหญิงมีโอกาสสร้างความมั่นใจในความสามารถของพวกเขา เพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้

.

- ก่อให้เกิดการตระหนักถึงโอกาสต่าง ๆ ในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์
- เพื่อจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักเรียนหญิงได้เรียนรู้และรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
- เพื่อแนะนำนักเรียนหญิงให้รู้จักต้นแบบของพวกเขาซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้พวกเขาพิจารณาการประกอบอาชีพ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
- เพื่อสาธิตให้นักเรียนหญิงเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่สนุกและน่าตื่นเต้น

.

กิจกรรมเด่นในโครงการอีวายเอช 2009 ประกอบด้วยการฟังประสบการณ์และแรงบันดาลใจของ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อเรื่อง “แรงบันดาลใจของหนึ่งหญิงที่ควรภาคภูมิ” ผู้ซึ่งมีบทบาทในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมาไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมหลายสมัย ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนตเทค)

.

นอกจากนี้ นักเรียนหญิงยังได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เปิดโลกทัศน์ทางด้านคณิตศาสตร์ เช่น คณิตคิดมหัศจรรย์ คณิตศาสตร์กับการวางแผนการเงินและความน่าจะเป็นคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ส่วนกิจกรรมที่สอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์

.

เช่น เยลลี่กับแสง การสร้างภาพลวงตา ดีเอ็นเอ...รหัสลับพันธุกรรม หมู่เลือด...บอกที่มาของเรา และโครงงานทางด้านเคมี เป็นต้น และยังมีกิจกรรมที่ให้ความรู้พื้นฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมได้แก่ พลังงานทางเลือกเพื่อโลกสดใจ ใส่ใจโลกร้อน, โซล่าร์เซลล์และอีโค ดีไซน์ การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์บนหลักการของวงจรชีวิต ด้วย

.

“โครงการอีวายเอช 2009 นำนักเรียนหญิงไปสู่ความตื่นเต้นของโลกที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ความมหัศจรรย์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” นางสาวศิริรัตน์ กล่าวเสริม “นักเรียนหญิงหลายคนอาจไม่เคยคิดฝันว่าพวกเขาสามารถประกอบอาชีพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก่อน ดังนั้น โครงการนี้จึงเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสกับสายงานเหล่านี้โดยการปฏิบัติจริง เพื่อให้พวกเขาเห็นว่า เมื่อพวกเขาสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการนี้ได้ พวกเขาก็สามารถเดินตามความฝันของตนเอง”

.

ปัจจุบัน ความรู้ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้กลายเป็นศักยภาพที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่นเดียวกับการอ่านออก เขียนได้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นอกจากนี้ การเข้าร่วมโครงการช่วยเสริมสร้างความรู้ความชำนาญนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงไทยได้มีโอกาสเป็นผู้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตต่อไป