เนื้อหาวันที่ : 2009-11-16 11:20:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1167 views

ยอดขอลงทุนบีโอไอ 10 เดือนวูบ โครงการลด 10%

เผยยอดขอรับการลงุทนผ่านบีโอไอในรอบ 10 เดือนหดถึง 10% มูลค่าการลงทุนวูบ 9% เหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำพิษ การขยายธุรกิจชะลอตัว

.

เผยยอดขอรับการลงุทนผ่านบีโอไอในรอบ 10 เดือนหดถึง 10% มูลค่าการลงทุนวูบ 9% เหตุวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำพิษ การขยายธุรกิจชะลอตัว

.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอในรอบ 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) พบว่ามีโครงการยื่นขอทั้งสิ้น 930 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 330,000 ล้านบาท โดยหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนโครงการลดลงประมาณ 10% ส่วนมูลค่าการลงทุนลดลงประมาณ 9% โดยมูลค่าการลงทุนช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 367,000 ล้านบาท

.

“แม้ว่าภาพรวมการลงทุน 10 เดือนจะลดลงเพราะภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกแต่พบว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนที่เริ่มทยอยกลับมาโดยพบว่าช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.52 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 เดือนโดยเฉพาะเป็นการลงทุนกิจการขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอี เพื่อผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตไฟฟ้า” แหล่งข่าวกล่าว

.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมมากสุดเป็น อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุน รวม 180,600 ล้านบาท รองลงมาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 47,400 ล้านบาท อุตสาหกรรม โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 39,700 ล้านบาท

.

ส่วนกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือ ปานกลางหลังบีโอไอปรับเงื่อนไขและราคาจำหน่ายมีผู้สนใจยื่น 42 โครงการ ลงทุนรวมกว่า 3,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่ง แรกของปี 2552 ที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมเพียง 3 โครงการ ลงทุนรวม 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนสร้างคอนโดมิเนียม และทาวน์เฮาส์

.

สำหรับยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.52) พบว่ามีมูลค่า 157,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 247,962 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงประมาณ 90,000 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้การขยายกิจการและการลงทุนใหม่ต้องชะลอออกไป

.

ทั้งนี้นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุด ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน มีมูลค่า 52,000 ล้านบาท รองลงมาคือ การลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการลงทุนรวม 25,500 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่ารวม 12,300 ล้านบาท และกลุ่มประเทศในยุโรป มีมูลค่ารวม 18,400 ล้านบาท ตามลำดับ

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง