เนื้อหาวันที่ : 2009-11-12 10:25:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2297 views

แรงงานชุมนุมประทับรอยมือดำไว้ทุกข์รัฐสภาไทย ไม่ห่วงใยความปลอดภัยคนทำงาน

เครือข่ายแรงงานเดือด บุกชุมหน้ารัฐสภาจี้นำร่างพ.ร.บ. ความปลอดภัย ฉบับประชาชนเข้าสภาโดยด่วน พร้อมประทับรอยมือดำไว้ทุกข์รัฐสภา ที่เมินร่างพ.ร.บฯ ภาคประชาชน ไม่ห่วงใยความปลอดภัยของแรงงาน

.

เครือข่ายแรงงานเดือด บุกชุมหน้ารัฐสภาจี้นำร่างพ.ร.บ. ความปลอดภัย ฉบับประชาชนเข้าสภาโดยด่วน พร้อมประทับรอยมือดำไว้ทุกข์รัฐสภา ที่เมินร่างพ.ร.บฯ ภาคประชาชน ไม่ห่วงใยความปลอดภัยของแรงงาน

.

(11 พ.ย.) เวลา 9.30น. ประชาชนจากเครือข่ายแรงงานกว่า 100 คนชุมนุมและปราศรัยด้านหน้ารัฐสภา เนื่องจากทราบมาว่า ในวันนี้ (11 พ.ย.) จะไม่มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ร่างภาคประชาชน) ที่เสนอโดย รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ กับที่เสนอโดย สถาพร มณีรัตน์ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย รวม 2 ฉบับ นำมาบรรจุการพิจารณาในสภาฯ ร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ร่างรัฐบาล)

.

ทั้งนี้ พวกเขาได้เรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ... (ฉบับภาคประชาชน) เข้าประกบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย (ฉบับรัฐบาล) เข้าสภาโดยเร่งด่วน เพื่อให้ พ.ร.บ.ที่กล่าวถึงความปลอดภัย มีเนื้อหาดังเจตนารมณ์ของผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่ได้รณรงค์เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนานได้บรรลุเป้าประสงค์ความปลอดภัยโดยเร็ว

.

นอกจากการชุมนุมแล้ว ยังมีการประทับรอยมือสีดำลงบนแผ่นผ้าขาวด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความตาย บนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่กำลังนำเข้าสภา

.

นางเตือนใจ บุญที่สุด สมาชิกสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายจ้างไม่สนใจแก้ปัญหาความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน พอมีปัญหา คนงานก็ต้องมานั่งแก้กันเอง ทั้งยังไม่มีหน่วยงานรองรับความเจ็บป่วยของพวกเธอ

.

"ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ [ฉบับภาคประชาชน] เกิดจากคนที่อยู่กับปัญหา เพราะฉะนั้นจะรู้ปัญหาได้ดีกว่า" นางเตือนใจ กล่าว

.

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบในส่วนของแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านด้วย ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่รัฐบาลจะไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจเพราะหวงกองทุนเงินทดแทนและไม่เชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการที่จะมาบริหารแบบองค์กรอิสระตามที่ร่างของภาคประชาชนเสนอ

.

ทั้งนี้ หลังจากตัวแทนของผู้ชุมนุม 10 คนได้เข้าหารือกับนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ราว 20 นาที นายชินวรณ์ได้ขึ้นเวทีชี้แจงต่อผู้ชุมนุม โดยยืนยันว่า จะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับของภาคประชาชนเข้าพิจารณาร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ แน่นอน

.

รวมถึงให้ความเห็นชอบในชั้นรับหลักการ เพื่อตั้งกรรมาธิการร่วมกันในการพิจารณาต่อไป โดยรับปากว่าจะให้ตัวแทนของผู้ใช้แรงงานร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย และสำหรับช่วงการพิจารณาในชั้นรับหลักการวันนี้ (11 พ.ย.) ก็ยินดีจะเซ็นชื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ารับฟังในสภาด้วย

.

.

แถลงการณ์พิเศษ-ฉบับชี้แจงข้อเท็จจริง
และ
“ไว้ทุกข์ให้รัฐสภาไทย เมื่อความปลอดภัยของคนงานมาทีหลัง”

.
กราบเรียน           พี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนที่เคารพรักทุกท่าน
.

ขณะนี้มีข่าวยืนยันแน่ชัดแล้วว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 23 ปีที่ 2 ครั้งที่ 25 สมัยสามัญนิติบัญญัติ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้ คือ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2552 จะไม่มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... (ร่างภาคประชาชน) ที่เสนอโดย ส.ส.รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท จากพรรคประชาธิปัตย์ กับที่เสนอโดย ส.ส.สถาพร มณีรัตน์ จากพรรคเพื่อไทย รวม 2 ฉบับ นำมาบรรจุการพิจารณาในสภาฯ

.

ร่วมกับร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....ที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี, ส.ส.เจริญ จรรย์โกมล พรรคพลังประชาชน, ส.ส.สุชาติ ลายน้ำเงิน พรรคพลังประชาชน, ส.ส.นิติวัฒน์ จันทร์สว่าง พรรคชาติไทยพัฒนา, ส.ส.วรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา รวมเสนอ 5 ฉบับ ซึ่งเรียกง่ายๆว่า ร่างรัฐบาล

.

ทั้งๆ ที่ในวาระการประชุมสภาฯ วันนี้ ได้มีการบรรจุการพิจารณาร่างกฎหมายภาคประชาชน 2 ฉบับนี้ไว้แล้ว ซึ่งอยู่ในหัวข้อที่ 5 เรื่องที่ค้างพิจารณา คือข้อที่ 5.71 กับ 5.72 โดยเป็นเรื่องที่ค้างมาจากการประชุมวันที่ 30 กันยายน 2552 

.
โดย “สาเหตุสำคัญที่วันนี้จะไม่มีการนำร่างภาคประชาชนมาเสนอ เพราะหลักการและเหตุผลของกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย ขัดแย้งกันเอง” 
.

1.   ร่างรัฐบาลอ้างว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักร สารเคมีมาใช้ในกระบวนการผลิต แต่ผู้ใช้แรงงานยังขาดความรู้ความเข้าใจ จึงก่อให้เกิดอันตรายจากการทำงานจนบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิต หรือเกิดโรคจากการทำงาน จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ อย่างเหมาะสม พูดง่ายๆคือ ต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตรง

.

ส่วนร่างภาคประชาชนอ้างว่า การประสบอันตรายและการเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องจากการทำงานมีแนวโน้มที่จะรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดตั้งสถาบันเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พูดง่ายๆ คือ ต้องมีสถาบันขึ้นมาดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะ

.

2.   ร่างรัฐบาลฝากความหวังไว้ที่ ความร่วมมือ ความสมัครสมานสามัคคีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่จะสร้างให้เกิดพื้นที่ความปลอดภัยในการทำงานขึ้นมา ถ้านายจ้างไม่ทำตามมีโทษสูงสุดคือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท  

.

ส่วนภาครัฐทำหน้าที่เพียงเสนอแนะทางนโยบาย โดยมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นฝ่ายข้อมูล และอธิบดีกรมสวัสดิการฯทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้นายจ้างกู้ยืมไปส่งเสริมความปลอดภัยในที่ทำงาน

.

ส่วนร่างประชาชนเห็นว่า ควรมีการตั้งสถาบันขึ้นมาใหม่โดยตรง เป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรมต. เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริม แก้ไขปัญหา พัฒนา จัดการทางการแพทย์ และตรวจสอบสถานประกอบการ โดยให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิจัย และจ่ายเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง 

.

ซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และอีกประการหนึ่งที่เป็นข้อควรพิจารณา คือ ในมาตรา 38 และ 41 เขียนว่า ให้โอนบรรดาอำนาจ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ รวมทั้งงบประมาณของกรมสวัสดิการฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กับ งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ไปเป็นของสถาบันที่จะเกิดขึ้นตาม พรบ.ฉบับนี้ 

.

ฉะนั้น เมื่อทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฝ่ายอย่างละเอียด จึงเห็นได้ชัดว่าจุดหักเหหรือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชน จะหายไปในสภาฯ วันพรุ่งนี้ คือ เรื่อง “การถ่ายโอนอำนาจ ทรัพย์เงิน งบประมาณ จากกระทรวงแรงงานมาไว้ที่สถาบันแห่งใหม่นี้” ต่างหาก มากกว่าอยู่ที่ประเด็น “ความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน” ที่กลายเป็นเรื่องที่มาทีหลัง

.

วันนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกำลังบอกให้ประชาชนอย่างเราๆรู้ว่า รัฐสภาภายใต้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 480 คน กำลังทำลายจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540 และ 2550 ที่ให้ความสำคัญกับการยอมรับการมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมา ดังนั้น เครือข่ายสนับสนุนและผลักดันการจัดตั้งองค์กรอิสระ 10 องค์กรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

.

1.   ขอให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ....... (ฉบับภาคประชาชน) เข้าประกบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย (ฉบับรัฐบาล) เข้าสภาโดยเร่งด่วนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ พ.ร.บ.ที่กล่าวถึงความปลอดภัยได้มีเนื้อหาดังเจตนารมณ์ของผู้ใช้แรงงานและประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รณรงค์เคลื่อนไหวมาอย่างยาวนานได้บรรลุเป้าประสงค์ความปลอดภัยโดยเร็ว

.

2.   ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนที่เข้าชื่อ 20 ชื่อเสนอร่างกฎหมายฯ ทั้ง 2 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย อย่าได้ถอนชื่อและถอนร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย (ฉบับภาคประชาชน) ออกจากการประกบร่าง พ.ร.บ.ฯ ของรัฐบาล

.

3.   เราเครือข่ายฯ มาพร้อมเพรียงกันในครั้งนี้ขอแต่งชุดดำมาไว้ทุกข์ให้กับรัฐสภาไทย เมื่อมองเห็นชีวิตและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานมาทีหลัง อำนาจและเงินตรา ที่มากำหนดจิตวิญญาณของพวกท่าน 

.

“เราขอประทับมือสีดำนี้ลงบนแผ่นผ้าขาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความตาย บนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯ ที่พวกท่านกำลังนำเข้าสภาอยู่ในขณะนี้"

.

เชื่อมั่นและศรัทธา

.

สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานฯ แห่งประเทศไทย, เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เครือข่ายเกษตรพันธะสัญญา, ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, เครือข่ายประชาชนภาค กทม.

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท