สศค. เผยเดือนต.ค. 2552 เก็บรายได้ทะลุเป้าถึง 1.11 แสนล้านบาท เหตุขึ้นภาษีน้ำมัน การนำเข้าและการบริโภคกระเตื้อง คุยโวสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจน มั่นใจรายได้ปีงบประมาณ 53 ทะลุเป้าแน่นอน
สศค. เผยเดือนต.ค. 2552 เก็บรายได้ทะลุเป้าถึง 1.11 แสนล้านบาท เหตุขึ้นภาษีน้ำมัน การนำเข้าและการบริโภคกระเตื้อง คุยโวสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจน มั่นใจรายได้ปีงบประมาณ 53 ทะลุเป้าแน่นอน |
. |
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |
. |
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.11 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.2 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผลให้การนำเข้าและการบริโภคภายในประเทศเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น |
. |
รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลักสูงกว่าเป้าหมายในอัตราที่สูง |
. |
ในเดือนตุลาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 111,052 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.2 สาเหตุสำคัญที่ทำให้การจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ คือ การนำเข้าและการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา |
. |
ทั้งนี้ การนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าสูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 23.2 สอดคล้องกับผลการจัดเก็บอากรขาเข้าที่สูงกว่าประมาณการร้อยละ 21.1 นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์สูงกว่าประมาณการ ร้อยละ 58.2 และภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการบริโภคสูงกว่าประมาณการร้อยละ 7.2 |
. |
สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เป็นผลจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่ส่งผลให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขอทยอยนำส่งรายได้เป็นงวด ทำให้รายได้ในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 2,663 ล้านบาท และ 638 ล้านบาท ตามลำดับ |
. |
นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผล จำนวน 1,105 ล้านบาท จากเดิมในเดือนตุลาคม 2552 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วย อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ |
. |
นายสาธิตฯ สรุปว่า “ผลการจัดเก็บรายได้เดือนนี้ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน” |
. |
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนตุลาคม 2552 |
เดือนตุลาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 111,052 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,484 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.5) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าและการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา |
. |
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ |
1. กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 72,217 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,980 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 39,401 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 4,681 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0) |
. |
สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่สูงกว่าประมาณการฯ ถึง 3,164 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 เป็นต้นมา แต่ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.4 นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังสูงกว่าประมาณการฯ 1,517 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.8 |
. |
นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,535 และ 773 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 และ 5.5 ตามลำดับ |
. |
2. กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 31,333 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 7,890 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 66.8) โดยมีสาเหตุสำคัญจาก |
. |
- ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ 12,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 3,579 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.8 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะสูงกว่าเดือน เดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 567.3 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมัน ดีเซลและแก๊สโซฮอล์ เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนตาม 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคนด้วย |
. |
- ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 5,772 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ 2,123 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.2 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้มีทิศทางที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง |
. |
- ภาษีเบียร์และสุราจัดเก็บได้ 4,450 และ 3,105 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการฯ ร้อยละ 22.1 และ 22.6 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการได้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลง และเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่และฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (high season) |
. |
3. กรมศุลกากรจัดเก็บได้รวม 7,813 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,358ล้านบาท หรือร้อยละ 21.0 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.2) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการฯ 1,318 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.1 เป็นผลจากการนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นมา |
. |
อย่างไรก็ดี อากรขาออกจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการและเดือนเดียวกันปีที่แล้วสูง เนื่องจากได้มีการยกเว้นการจัดเก็บอากร ขาออกหนังดิบโคและกระบือ และไม้แปรรูปที่ได้จากต้นยางตระกูลฮีเวีย ส่งผลให้รายได้จากอากรขาออกจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด |
. |
4. รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 13,922 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.5 เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง จึงขอทยอยนำส่งรายได้เป็นงวด นอกจากนี้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้ขอเลื่อนการจ่ายเงินปันผล จำนวน 1,105 ล้านบาท จากเดิมในเดือนตุลาคม 2552 เป็นเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วย |
. |
อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ และธนาคารอาคารสงเคราะห์นำส่งรายได้จำนวน 836 ล้านบาท ซึ่งเร็วกว่าประมาณการที่คาดว่าจะนำส่งในเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นจำนวน 698 ล้านบาท |
. |
5. หน่วยงานอื่นจัดเก็บรายได้รวม 4,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 973 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.4 |