เนื้อหาวันที่ : 2006-12-21 15:26:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1270 views

เอสเอ็มอีแบงก์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีหน้า 20,000 ล้าน

ประธานเอสเอ็มอีแบงก์ เน้นย้ำแผนงานปีหน้าปลอดการเมือง เน้นส่งเสริมความรู้ การตลาด ให้เอสเอ็มอี หวังสร้างให้เป็นปีทองจากปัจจัยดอกเบี้ยลด และโครงการเมกะโปรเจกต์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

ประธานเอสเอ็มอีแบงก์ เน้นย้ำแผนงานปีหน้าปลอดการเมือง เน้นส่งเสริมความรู้ การตลาด ให้เอสเอ็มอี หวังสร้างให้เป็นปีทองจากปัจจัยดอกเบี้ยลด และโครงการเมกะโปรเจกต์  ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ  20,000  ล้านบาท 

.

นายจักรมณฑ์  ผาสุกวนิช  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)  กล่าวในงานสัมมนาการปรับตัวของเอสเอ็มอีรับมือเศรษฐกิจปี  2550  เนื่องในโอกาสครบรอบ  4  ปีของเอสเอ็มอีแบงก์  ว่า  ได้ตั้งเป้าหมายให้เอสเอ็มอีบริหารงานปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง  เพื่อไม่ให้เป็นฐานเสียงในการสร้างคะแนนนิยมจากผู้ประกอบการโดยจะเน้นปรับโครงสร้างการทำงานภายในองค์กรด้วยแนวทางการประหยัด ประสิทธิภาพ และโปร่งใสโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

.

โดยเรื่องเงินทุนของเอสเอ็มอีมีความพร้อม  แต่จะใช้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเดียวคงไม่ได้  จึงต้องเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเสริมความรู้  การบริหารจัดการทางการเงิน การตลาด ประกอบกับเร็ว ๆ นี้รัฐได้ตั้งวงเงิน 3,000 ล้านบาท พัฒนากลุ่มสินค้าโอท็อปและธุรกิจรายเล็ก ซึ่งจะมีรายละเอียดออกมาในเร็ว ๆ นี้

.

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท  ยอมรับว่าหลังจาก ธปท.เข้าควบคุมค่าเงินบาทจนทำให้อ่อนค่าลงนั้น  เห็นว่าระดับค่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งผู้ประกอบการและส่วนต่าง ๆ  น่าจะอยู่ที่ระดับ  36  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของการแข็งค่า เพราะหากเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้ก็ไม่ควรฝืนมากนัก เพราะจะสูญเสียเงินจากการเข้าไปแทรกแซง  แต่ยอมรับว่ามาตรการที่ใช้ควรควบคุมระยะสั้นในช่วงที่มีการเก็งกำไรสูง เพราะหากควบคุมนานเป็นปีถือเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อหวังผลตอบแทน 

.

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์  ชิวชรัตน์  กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์  กล่าวว่า  ในปีหน้าตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อ 20,000  ล้านบาท  โดยเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการใหม่และในปี  2550  น่าจะเป็นปีทองสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  เพราะดอกเบี้ยในต้นปีหน้ามีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 0.25 และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ต้องการสั่งซื้ออุปกรณ์ขนาดเล็ก จึงเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อจะได้ตามเป้าหมาย เพราะได้กระจายอำนาจให้แก่ผู้จัดการสาขาสามารถอนุมัติสินเชื่อในวงเงินไม่เกิน 3  ล้านบาทโดยไม่ต้องส่งเรื่องมายังส่วนกลาง อีกทั้งยังเตรียมโครงการเกลี่ยพนักงานจากสำนักงานใหญ่ไปสู่สาขาภูมิภาคมากขึ้น เพื่อดูแลให้คำปรึกษา โดยเฉพาะพนักงานที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น โดยขณะนี้สาขาภูมิภาคมีเจ้าหน้าที่เพียง  5-6 คนเท่านั้น  ซึ่งจะทำให้สัดส่วนพนักงานในส่วนกลางเหลือเพียงร้อยละ 40 จากปัจจุบันมีถึงร้อยละ 70 

.

ส่วนการบริหารจัดการหนี้เสีย  ซึ่งปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ร้อยละ  35  น่าจะลดลงได้มาอยู่ที่ร้อยละ  27 ในปี  2550  เพราะหากหนี้รายใดที่ไม่สามารถดูแลต่อไปก็จะตัดขายให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นผู้ดูแล.