เนื้อหาวันที่ : 2009-11-11 17:40:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1630 views

อุตสาหกรรมโซ่ข้อกลางพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยมีสัดส่วนสูงถึง 40% ต่อจีดีพี และยังเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงระหว่างการจ้างงานและการส่งออก การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจึงมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศตามไปด้วย

บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง อุตสาหกรรมโซ่ข้อกลางพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย        

.

.

ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในด้านอุปทาน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 85 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ อีกทั้ง ยังความสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศ โดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 15.5 ของการจ้างงานทั้งหมด

.

จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 พบว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ดัชนีแรงงานภาคอุตสาหกรรม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ต่างปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 

.

เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกของไทยและสถานการณ์การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ทำให้คาดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552

.

โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ผลผลิตอุตสาหกรรมอาจจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี และคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2553 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศไทยและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

.
1. ความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมากคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในด้านอุปทาน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 85 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ อีกทั้ง ยังความสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศ         

.

โดยการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 15.5 ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นโซ่ข้อกลางของระบบเศรษฐกิจที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภาคแรงงานและภาคการส่งออกของประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนใดๆใน 3 ภาคส่วน (อุตสาหกรรม ส่งออก แรงงาน) จึงมีผลกระทบต่อภาคส่วนที่เหลือเสมอ 

.

จากวิกฤต Sub-prime ในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2551 ที่ได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกในเวลาต่อมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยผ่านการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย

.

เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีน เมื่อยอดคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลงก็ส่งผลทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ภาคธนาคารยังเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น

.

ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยขาดสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียน เมื่อคำสั่งซื้อลดลงประกอบกับสภาพคล่องที่ฝืดเคือง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนด้วยการเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงานลงจนเกิดเป็นวิกฤตแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

.

ทั้งนี้ในเดือนมกราคม 2552 จำนวนผู้ว่างงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มสูงถึง 1.8 แสนคนสูงสุดในรอบ 45 เดือน2 และการหดตัวของภาคการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -7.1 และ -4.9 ต่อปี ตามลำดับ

.
2. ภาพรวมภาคอุตสาหกรรม 

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาส 2 ปี 2552 หดตัวร้อยละ -10.7 ต่อปี หดตัวในอัตราชะลอลงจากไตรมาส 1 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น สาเหตุที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราชะลอลงในไตรมาส 2/2552 มาจากผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเครื่องจักรสำนักงานประเภท Hard-Disk Drive การผลิตน้ำตาล การผลิตเพชรพลอยและรูปพรรณ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

.

สำหรับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี หดตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -1.1 จากเดือนก่อนหน้า (%mom)3 ส่งผลให้ค่าเฉลี่ย MPI ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 หดตัวที่ร้อยละ -8.7 ต่อปี ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 57.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2552 ที่ระดับ 53.9 ตามการผลิตที่ลดลง         

.

สำหรับดัชนีแรงงานภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 หดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ -7.6 ต่อปี และจากข้อมูลล่าสุดพบว่า ค่าเฉลี่ยของดัชนีแรงงานในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ปี 2552 ดัชนีแรงงานหดตัวที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี หดตัวชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า 

.

จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่รายงานโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนสภาวะของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ พบว่าสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยในไตรมาส 2/2552 อยู่ที่ระดับ 79.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ที่ระดับ 65.5 และจากข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2552 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 88.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 89.9

.

ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม อยู่ที่ระดับ 88.9 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ปรับตัวลดลงในเดือนสิงหาคม มีสาเหตุจากยอดคำสั่งซื้อยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการปรับตัวลดลง ประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนและมีราคาสูง

.

ตารางแสดงภาพรวมภาคอุตสาหกรรม 

อัตราการขยายตัว (%yoy) ปี 51 Q1/52 Q2/52 ก.ค.52 ส.ค.52 2M/Q3 YTD
ดัชนีผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม (MPI) 3.9 -22.0 -10.7 -9.0 -8.6 -8.7 -14.5
-อาหารและเครื่องดื่ม (15.5% ของ MPI) 0.3 -6.2 -3.0 -6.0 -14.6 -10.4 -6.0
-เครื่องอิเล็กฯ (7.2% ของ MPI) 20.9 -19.2 4.4 1.6 1.9 1.8 -5.1
-เครื่องใช้ไฟฟ้า (10.7% ของ MPI) -1.9 -46.2 -24.1 -21.3 -16.9 -19.1 -30.9
-ยานยนต์ (5.4% ของ MPI) 9.0 -46.4 -46.8 +40.1 -20.2 -31.0 -42.8
อัตราการใช้กำลังการผลิต (ระดับ)                                                 62.6 52.2 53.9 56.8 57.3 57.1 54.0
ดัชนีแรงงานภาคอุตสาหกรรม                                                 -1.0 -7.6 -5.4 -5.6 -4.7 -5.1 -6.1
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (ระดับ)                                                 77.3 65.5 79.4 89.9 88.0 88.9 76.6
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
.
3. แนวโน้มและปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความเชื่อมโยงกับภาคการจ้างงานและภาคการส่งออก ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศตามไปด้วย ซึ่งเหตุและปัจจัยหลักที่จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวนั้น ได้แก่                  

.

การฟื้นตัวในภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ โดยจะสรุปสถานการณ์และทิศทางของปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากการวิเคราะห์ สถานการณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมล่าสุด สถานการณ์ในภาคการส่งออกของไทยล่าสุด และสถานการณ์การบริโภคภาคเอกชน ดังต่อไปนี้

.
3.1  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 

จากค่าเฉลี่ยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี หดตัวลดลงจากไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวร้อยละ -10.7 ต่อปี เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 เช่น อุตสาหกรรมการปั่นการทอ ผลิตภัณฑ์จากถ่านโค๊กและการกลั่นน้ำมัน อุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า และการผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ

.

ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ตามมาตรการของรัฐบาลต่างประเทศ ในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศเยอรมนี ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย ( เช่น อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกสายไฟและแบตเตอร์รี่ที่ใช้กับรถยนต์) ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย

.

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศของรัฐบาลต่างประเทศ ยังส่งผลให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการฟื้นตัวในภาคการส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 พบว่ามีบางอุตสาหกรรมมีอัตราการผลิตหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบและเครื่องแต่งกาย

.
3.2  การส่งออกของไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง 

สำหรับแนวโน้มปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไม่รวมปริมาณทองคำ พบว่ามีสัญญาณดีขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในเดือนมกราคม 2552 โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 (กรกฎาคม - สิงหาคม 2552) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยไม่รวมทองคำหดตัวที่ร้อยละ -21.1 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ที่หดตัวร้อยละ -25.5 ต่อปี

.

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากอุปสงค์ของสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ได้หลุดพ้นจากภาวะถดถอย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสำคัญ ทำให้การบริโภคทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น ประเทศจีน ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ปรับตัวดีขึ้น         

.

ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวน้อยที่สุดที่ร้อยละ -8.6 ต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยูโรโซนที่หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -28.0 ต่อปีแสดงให้เห็นว่าประเทศจีนจะมีบทบาทมากขึ้นต่อทิศทางการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต 

.

จากการวิเคราะห์มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในรูปดอลลาร์สหรัฐตามข้อมูลของกรมศุลกากรพบว่า เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ มีบางอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจนในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 โดยสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกสำหรับการของส่งออกไปในบางประเทศ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า และอัญมณีและเครื่องประดับ

.

นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทอาหารทะเลแปรรูปและรถยนต์ ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2552 ด้วยเช่นกัน และเมื่อพิจารณาในมิติของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย 9 อันดับแรกเรียงตามสัดส่วนการส่งออกสินค้าของไทย พบว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในต่างประเทศ

.

เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ได้ส่งผลให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบของไทยฟื้นตัวโดยเฉพาะที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีนและฮ่องกง อีกทั้งการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ฟื้นตัวโดยเฉพาะที่ส่งออกไปยังมาเลเซียและตะวันออกกลาง                     

.

รวมถึงการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าฟื้นตัวโดยเฉพาะที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสิงคโปร์ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับฟื้นตัวโดยเฉพาะที่ส่งออกไปยังฮ่องกงและออสเตรเลีย สำหรับการส่งออกรถยนต์นั้น พบว่าในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2552 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะที่ส่งออกไปยังสิงคโปร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และตะวันออกกลาง 

.

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Purchasing Manager’s Index: Mfg PMI) ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยพบว่า ในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 (กรกฎาคม - สิงหาคม 2552) Mfg PMI ของกลุ่มประเทศในยูโรโซน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและจีน ซึ่งเป็น 4 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยมีการฟื้นตัวของดัชนีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 และดัชนีดังกล่าวได้ผ่านระดับ 50 ซึ่งเป็นระดับแบ่งแยกระหว่างภาวะเศรษฐกิจหดตัวและเศรษฐกิจขยายตัวไปแล้ว                  

.

ทั้งนี้ จากการฟื้นตัวของดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรม ทำให้คาดว่าประเทศไทยอาจจะได้รับอานิสงค์จากอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นของสินค้าอุตสาหกรรมในประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี

.
3.3  การบริโภคภายในประเทศมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง 

จากตัวเลขเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 บ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนในประเทศโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปีปรับตัวดีขึ้นมากจากไตรมาสที่ 2 ปี 2552

.

สำหรับปริมาณการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมประเภทรถยนต์ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -5.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.4 ต่อปี

.

และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (รถปิคอัพ) ใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวชะลอลงอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -30.5 ต่อปี เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการภาครัฐที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้น

.

ตัวอย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนรายได้เกษตรกรที่ยังคงไม่ฟื้นตัว สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยพบว่า ในภาพรวมผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 66.8 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ที่ระดับ 64.9

.

ตารางแสดงเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน 

อัตราการขยายตัว (%yoy) ปี 51 Q1/52 Q2/52 ก.ค.52 ส.ค.52 2M/Q3 YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บภายในประเทศ ณ ราคาคงที่

9.0

-4.5

-1.7

2.1

-0.8

0.6

-2.2 

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

27.8

-17.4

-8.9

-9.1

-1.1

-5.1

-11.0

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (รถปิคอัพ)

-19.7

-41.4

-30.5

2.2

-13.2

-5.5

-29.9

ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์

7.2

-16.4

-9.4

-13.3

-13.8

-13.5

-13.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ระดับ)

71.0

67.2

64.9

66.3

67.4

66.8

66.3

ที่มา : รวบรวมโดยสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
.

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกของไทยและสถานการณ์การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อธุรกิจผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการลงทุนตามแผนไทยเข้มแข็ง      

.

ทำให้คาดว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ผลผลิตอุตสาหกรรมอาจจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้คาดการณ์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปี 2552 จะติดลบอยู่ในช่วงร้อยละ (-10.0) - (-8.0) ต่อป 

.

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็น 3 กรณี (ภาพที่ 6) คือ กรณีที่ 1 การฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.0 ต่อเดือน กรณีที่ 2 การฟื้นตัวที่มีการเร่งขึ้นโดยมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.5 ต่อเดือน และกรณีที่ 3 การฟื้นตัวที่มีการเร่งขึ้นแรงอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.0 ต่อเดือน ทำให้คาดว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมา

.

ขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสแรกของปี 2553 ในทั้ง 3 กรณี โดยผลผลิตอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจประมาณเดือนมีนาคม 2553

.
4. บทสรุป 

ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงภาคการส่งออกและการจ้างงานเข้าด้วยกัน โดยภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในด้านอุปทาน และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 85 ของปริมาณการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ

.

อีกทั้ง การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 15.5 ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้น การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

.

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การส่งออกของไทยและสถานการณ์การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ปี 2553 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม

.

ทำให้คาดว่า GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จะหดตัวน้อยกว่าในไตรมาสที่ 2 และกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2553 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในปี 2553

.
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office