เนื้อหาวันที่ : 2009-11-10 10:34:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2372 views

จากกางเกงในแบรนด์ "Try Ar" ตัวแรก และก้าวที่ต้องเดินต่อไป

อดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ ยังปักหลักใต้กระทรวงแรงงานเป็นวันที่ 26 ขณะที่ยอดขายชั้นใน "Try Arm" ไม่ขาดสาย-มีคำสั่งซื้อจากยุโรป เผยเริ่มทดลองผลิตชั้นในชายออกตลาด จี้ รบ. - รมต.แรงงานแก้ปัญหาด่วน ส่วนคดีออกหมายจับชุมนุมไม่สงบยังไม่คืบ

.

อดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ ยังปักหลักใต้กระทรวงแรงงานเป็นวันที่ 26 ขณะที่ยอดขายชั้นใน "Try Arm" ไม่ขาดสาย-มีคำสั่งซื้อจากยุโรป เผยเริ่มทดลองผลิตชั้นในชายออกตลาด จี้ รบ. - รมต.แรงงานแก้ปัญหาด่วน ส่วนคดีออกหมายจับชุมนุมไม่สงบยังไม่คืบ

.

เป็นเวลากว่า 136 วันแล้ว อดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ ที่ถูกเลิกจ้าง ยังคงชุมนุมรวม และล่าสุดพวกเขามากกว่า 300 ชีวิต ปักหลักอยู่ที่ใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 36 วันแล้ว ข้อเรียกร้องของพวกเธอคือ ต้องการให้รัฐบาล รวมถึงกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาการเลิกจ้าง ซึ่งพวกเธอมองว่า ไม่เป็นธรรมครั้งนี้ 

.

ล่าสุด หลังจากพวกเธอได้เปิดตัวกางเกงในภายใต้ยี่ห้อ Try Arm จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เล่าว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี มีทั้งลูกค้าที่โทรมาสั่งจอง รวมถึงเข้ามาซื้อที่ใต้ถุนกระทรวง บ้างก็มาจากต่างจังหวัด บ้างก็เป็นข้าราชการในกระทรวงที่ทราบเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคน

.

ทั้งนี้ จากการตอบแบบสอบถามที่สหภาพฯ สำรวจพบว่า ทุกคนตั้งใจมา โดยทราบข่าวจากโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ โดยขณะนี้มีออเดอร์จากองค์กรแรงงานแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ สั่งซื้อกางเกงใน 400 ตัว ซึ่งทางนั้นจะออกค่าจัดส่งให้ และบอกว่าจะทำไปใช้ในช่วงคริสต์มาส

.

ขณะที่การผลิตนั้น จิตราเล่าว่า มีจักรอยู่ 9 ตัว โดยผลิตได้วันละ 60-70 ตัวต่อแบบ ทั้งนี้ นอกจากกางเกงในแล้ว คนงานยังผลิตสินค้าอื่นขายด้วย เช่น ผ้าพันคอ ผ้าห่มเย็บมือ นอกจากนี้ ก็กำลังทดลองผลิตกางเกงในสำหรับผู้ชายอีกด้วย 

.

ส่วนเรื่องของการผลิตเป็นอาชีพหลักนั้น ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เล่าว่า ที่ผ่านมา มีหลายที่ติดต่อมาเพื่อจ้างเหมาค่าแรง หรือเป็นหุ้นส่วนกันอยู่บ้าง แต่จะให้ทำเป็นอาชีพเลยคงยังไม่ได้ เพราะคนงานยังรวมกลุ่มกัน เพื่อต่อสู้อยู่ 

.

.
“เพราะการเรียกร้องสิทธิของเรายังไม่จบ” จิตรากล่าว 
.

ขณะที่ความคืบหน้าจากกระทรวงแรงงานในการแก้ปัญหา เธอแสดงความเห็นว่า เป็นไปอย่างล่าช้า โดยล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการประชุมโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเป็นประธาน กระทรวงฯ ได้เสนอให้คนงานเข้าสู่กระบวนการทางศาล โดยจะหาทนายให้ และให้คนงานย้ายไปที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สมุทรปราการระหว่างรอกระบวนการศาล

.

ทั้งนี้ กระทรวงฯ บอกว่าจะใช้พื้นที่ตรงนี้ (ใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานซึ่งคนงานปักหลักชุมนุมกัน) จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

.

สำหรับกระบวนการทางศาลนั้น จิตราเห็นว่า “นี่ไม่ใช่ทางออก” และว่ากระบวนการทางศาลน่าจะอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่เราคิดว่าไม่มีใครมาแก้ปัญหาได้แล้วจริงๆ เพราะเรายังเชื่อมั่นว่า ที่รัฐบาลบอกว่าการชะลอการเลิกจ้างเป็นนโยบายหลักนั้น รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม สอง ตั้งคำถามว่า การที่นายจ้างได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว กลับเลิกจ้างคนงาน และไปเปิดโรงงานใหม่ รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะนี่เป็นเรื่องระยะยาว ตรงนี้เป็นประเด็นหลัก 

.
“รัฐมนตรีบอกว่าอยากให้เรามองไปข้างหน้า แต่เราจะมองไปข้างหน้าได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาที่มีอยู่ยังถูกแก้”
.

จิตราบอกว่า นับจากการชุมนุมหน้าโรงงานจนวันนี้ก็ 130 กว่าวันแล้ว ถือว่ากระทรวงฯ ดำเนินการล่าช้า โดยอ้างแต่ว่านิติสัมพันธ์ระหว่างคนงานกับนายจ้างหมดไปแล้ว ซึ่งจริงๆ ระหว่างที่คนงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงานร่วม 2 เดือน นิติสัมพันธ์ยังไม่หมด แต่กระทรวงแรงงานก็ไม่คิดจะแก้ปัญหา 

.

.

ต่อคำถามว่า โครงการต้นกล้าอาชีพจะช่วยเหลือพวกเธอได้หรือไม่ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า คนงานเชื่อว่า 10-20 ปีที่ทำงานในโรงงาน เขามีประสบการณ์ มีความสามารถที่จะสร้างรายได้ได้ เขามีอาชีพ มีฝีมือติดตัวแล้ว 

.

“กระทรวงจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เขามีใช้ประโยชน์ได้เลย ไม่ใช่ฝึกต้นกล้าอาชีพ ทำขนม ชงกาแฟ มันไม่เข้ากันกับคนที่อายุ 40 ปีเกือบ 50 ที่เย็บผ้าเป็น คุณจะพัฒนาการเย็บผ้าของเขาอย่างไร ไม่ใช่มาชงกาแฟแล้วมากู้เงิน ถามว่าอายุป่านนี้แล้ว ใครจะอยากเป็นหนี้อีก กระทรวงไม่มองเศรษฐกิจว่าคนเรามีต้นทุนอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปหาต้นทุนใหม่ให้เขา ทำไมไม่เอาต้นทุนที่เขามีอยู่ พัฒนาให้เป็นความมั่นคงกับชีวิตเขา”

.

ทั้งนี้ แม้ว่า ข้อเรียกร้องของคนงานยังเหมือนเดิม คือ อยากจะมีงานทำ อยากจะกลับเข้าไปในโรงงาน แต่จิตรามองว่า ภายในโรงงานก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว และรัฐบาลไม่ได้เข้าไปควบคุม การจะกลับสู่โรงงานเดิมคงเป็นไปได้ยาก เธอจึงคิดว่า รัฐบาลน่าจะหาโรงงานที่มีค่าจ้างสวัสดิการที่ดี หรือพัฒนาอาชีพที่มีให้มั่นคงกับชีวิตได้ ไม่ใช่การเข็นพวกเธอออกนอกกระทรวง ไปอยู่กลางถนนอีก 

.

“เมื่อเขามาชุมนุมอย่างสงบ สันติ และสร้างสรรค์แล้ว ทำไมกระทรวงไม่คิดว่า เมื่อเป็นแบบนี้จะทำให้แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จได้อย่างไร ไม่ใช่แก้ปัญหาไม่ได้แล้วก็ยังผลักดันออกไปอีก”

.

เมื่อถามถึงความคืบหน้าคดีที่เธอและเพื่อนถูกออกหมายจับ กรณีชุมนุมหน้ารัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล จิตราบอกว่า หมายจับยังคงอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ได้เคยทำหนังสือขอให้ยกเลิกหมายจับ แต่ศาลไม่ยก ขณะที่ตำรวจยังไม่ได้มาจับ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเองเคยเสนอว่า ให้เลิกชุมนุมไป แล้วจะยกเลิกหมายจับให้ ซึ่งเธอไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่า การชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธินั้นเป็นสิทธิที่ควรได้ ส่วนการออกหมายจับก็ต้องสู้กันไปว่า ข้อหาเกินเหตุหรือไม่ และเป็นจริงอย่างที่ตำรวจว่าหรือเปล่า

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท