นายวิจักร วิเศษน้อย รักษาการอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 การค้ารวมระหว่างไทยกับตุรกี มีมูลค่า 416.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังตุรกีมูลค่า 348.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 53.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถบรรทุกชนิดแวน และปิกอัพ คอมเพรสเซอร์ หน่วยเก็บข้อมูลอัตโนมัติ เส้นใยสั้นเทียมทำด้วยวิสโคสเรยอน และเม็ดพลาสติก เป็นต้น |
. |
และไทยนำเข้าจากตุรกีมูลค่า 68.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 54.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปทำด้วยเหล็ก/เหล็กกล้า แป้งข้าวสาลี/แป้งเมสลิน เพชรพลอยรูปพรรณ หินอ่อน และน้ำมันเมล็ดทานตะวัน เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 280.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ |
. |
สำหรับสถานการณ์การใช้สิทธิ GSP ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 พบว่ามีการขอใช้สิทธิ GSP ไปยังตุรกี มูลค่า 198.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 341.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 41.84 และคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 63.65 ของมูลการส่งออกเฉพาะรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ |
. |
สินค้าส่งออกสำคัญที่ขอใช้สิทธิฯ ได้แก่ รถบรรทุกชนิดแวนและปิกอัพ (พิกัดฯ 870421) คอมเพรสเซอร์ (พิกัดฯ 841430) เครื่องปรับอากาศ (พิกัดฯ 841510) เส้นใยประดิษฐ์ทำด้วยวิสโคสเรยอน (พิกัดฯ 550410) และด้ายเดี่ยว (พิกัดฯ 551011) เป็นต้น |
. |
นายวิจักรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุรกีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีให้กับสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการลดหย่อนภาษี |
. |
ทั้งนี้ ตลาดตุรกีเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีโอกาสมากสำหรับผู้ส่งออกไทยในการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายเนื่องจากได้แต้มต่อจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) โดยผู้ส่งออกที่ประสงค์จะขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกไปยังตุรกี สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1385 กรมการค้าต่างประเทศ หรือ http://www.dft.go.th |