นายกรัฐมนตรีไทยและลาวร่วมเป็นสักขีพยานลงนามการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างกัน จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวไทยรายงานข่าวนายกรัฐมนตรีไทยและลาวร่วมเป็นสักขีพยานลงนามการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างกัน จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ลงนามลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน 1,800 เมกะวัตต์ |
.. |
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายบัวสอน บุบผาวัน นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นสักขีพยานการลงนามขยายการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายบ่อสายคำ วงศ์ดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว เพื่อขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากเดิม 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศและมีปริมาณสำรองใช้อย่างเพียงพอ |
.. |
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้ลงทุนโครงการน้ำเทิน 1 กำลังการผลิต 523 เมกะวัตต์ และผู้ลงทุนโครงการน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับไทยภายในปี 2556 ราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ 27 ปี หน่วยละ 1.98 บาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 36 บาท |
.. |
ขณะเดียวกันบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามข้อตกลงเบื้องต้นเพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินในเมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบกับไทยได้ในปี 2554 และ 2556 โดยความร่วมมือการซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาว โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะทำให้ลาวมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีการจัดทำข้อตกลงเพิ่มอีก ทำให้ลาวมีเงินทุนไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันไทยก็จะมีปริมาณไฟฟ้ารองรับความต้องการของประเทศและทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลง เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ. |