เนื้อหาวันที่ : 2006-12-18 11:16:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3185 views

พบ 14 รอยเลื่อนมีพลัง เตือนคนไทยเตรียมรับมือพื้นที่เสี่ยงภัย

ผศ.ดร. ปัญญา จารุศิริ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยพบพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในไทยซึ่งอาจมีการเคลื่อนตัวและเกิดเป็นแผ่นดินไหวได้และพบรอยเลื่อนประเภทนี้ถึง 14 จุด

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 5.5 ริกเตอร์ ที่มีจุดศูนย์กลางบริเวณ อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและหวั่งเกรงให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่เป็นจำนวนมากนั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่าเกิดจากการขยับตัวของรอยเลือนแม่ทา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 รอยเลื่อนมีพลังที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย
โดยจากผลวิจัยโครงการ แผ่นดินไหวในประเทศไทยและผืนแผ่นดินตะวันออกเฉียงใต้  ของ ผศ.ดร. ปัญญา จารุศิริ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า พื้นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง จากการศึกษาหา รอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งอาจมีการเคลื่อนตัวและเกิดเป็นแผ่นดินไหวได้ในเมืองไทย และพบรอยเลื่อนประเภทนี้ถึง 14 จุด ได้แก่

.
๑) รอยเลื่อนแม่จัน
๒) รอบเลื่อนแม่ทา
๓) รอยเลื่อนเถิน-ลอง-แพร่
๔) รอยเลื่อนน้ำปัด
๕) รอยเลื่อนปัว
๖) รอยเลื่อนพะเยา
๗) รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
๘) รอยเลื่อนปิง
๙) รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
๑๐) รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
๑๑) รอยเลื่อนระนอง
๑๒) รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
๑๓) รอยเลื่อนคลองท่อม
๑๔) รอยเลื่อนโคกโพธิ์-สะบ้าย้อย-ยะลา-เบตง
.

โดยในจำนวนนี้คณะวิจัยได้ให้ความสนใจกับกลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน และด่านเจดีย์สามองค์ เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ขณะเดียวกันเมื่อหลายปีก่อนเคยมีการขุดทางธรณีวิทยาพบเคยเกิดแผ่นดินไหว 6 ปลาย 7 ริกเตอร์ แถวรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอันตรายมาก รอยเลื่อนแม่จัน พบครอบคลุมตั้งแต่เส้นละติจูด 19 องศา 45 ลิบดา ถึง 20 องศา 30 ลิปดาเหนือ  กับลองติจูด 99  องศาตะวันออก ถึง 100  องศา30  ลิบดาตะวันออก  โดยกินอาณาบริเวณตั้งแต่อำเภอฝาง ทางฝั่งตะวันตกของจังหวัดเชียงใหม่ ถึงฝั่งตะวันออกของจังหวัดเชียงราย ที่อำเภอเชียงของ และในจังหวัดเชียงรายตั้งแต่อำเภอแม่สาย ลงมาจรดอำเภอเมือง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าในพื้นที่ศึกษามีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จัน และสาขามาแล้วจำนวน 6 ครั้ง

.

ผศ.ดร. ปัญญา  กล่าวว่า ส่วนบริเวณรอยเลื่อนของแผ่นดิน ซึ่งสามารถเกิดแผ่นดินไหวในระดับความรุนแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์  ที่น่าจะมีผลกระทบต่อกรุงเทพฯมากที่สุดคือ รอยเลื่อนสะแกงซึ่งรอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นไหวครั้งใหญ่จนทำความพินาศให้กรุงอังวะและหงสาวดีในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว ที่สำคัญรอยเลื่อนดังกล่าวได้พาดผ่านลงมาตามแนวตะวันตกเฉียงใต้ลงสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งบริเวณนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร

.

ขณะที่แผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนนี้เมื่อต้นสัปดาห์มีจุดศูนย์กลางห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 800 กิโลเมตร อย่างไรก็ดีแม้ว่าเราจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดแผ่นดินไหวได้ แต่จากความร่วมมือในเชิงวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ที่จะทำให้เข้าใจในปรากฏการณ์ และการเตรียมพร้อมที่เหมาะสม ก็จะทำให้เรามีความพร้อมในการรับมือกับพิบัติภัยที่ไร้คำเตือนนี้ได้ในระดับหนึ่ง