เนื้อหาวันที่ : 2009-10-27 19:49:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1964 views

5 กมธ.วุฒิฯ แนะออก พ.ร.ก.-ประกาศสำนักนายกฯ แก้ปมมาบตาพุด

5 กมธ.วุฒิฯ ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลนิคมฯมาบตาพุด พบปัญหาสุขภาพของชาวบ้านหนักสุด ชี้กลุ่มทุนละเลยการป้องกันและแก้ไขปัญหามานาน แนะรัฐออกเป็น พ.ร.ก. หรือประกาศสำนักนายกฯ กมธ.สิทธิฯ เสนอตั้ง ไตรภาคี

.

5 กมธ.วุฒิฯ ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลนิคมฯมาบตาพุด พบปัญหาสุขภาพของชาวบ้านหนักสุด ชี้กลุ่มทุนละเลยการป้องกันและแก้ไขปัญหามานาน แนะรัฐออกเป็น พ.ร.ก. หรือประกาศสำนักนายกฯ  กมธ.สิทธิฯ เสนอตั้ง ไตรภาคี

.

กรณีที่เครือข่ายประชาชน ภาคตะวันออก เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือให้ประธานวุฒิสภาตรวจสอบรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินงานของ 76 โครงการชั่วคราว ในเขตพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง

.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ว่า กมธ. 5 คณะ ได้แก่ กมธ.สิทธิมนุษยนชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล

.

กมธ.สาธารณสุข กมธ.เศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ร่วมกันศึกษาเรื่องนี้ทุกมิติ และสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ ขณะนี้ได้ข้อมูลครบถ้วน กำลังสรุปผลการศึกษา มี 4 ประเด็น คือ 1.การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเห็นตรงกันว่า มาตรา 67 วรรคสอง มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้

.

หมายความว่ากระบวนการอนุญาตโครงการหลังรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ต้องเดินตามมาตรานี้อย่างเคร่งครัด 2.คำสั่งของศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวที่ชะลอการออกใบอนุญาต ครอบคลุมแค่ไหน พบว่า คำสั่งค่อนข้างละเอียดที่ใช้บังคับกับทุกโครงการหลังรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ แต่ไม่รวมโครงการที่มีก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 ฉะนั้นที่พูดกันว่า กระทบผู้ลงทุนคงไม่ใช่ทั้งหมด

.

นายสุรชัยกล่าวว่า 3.คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ชะลอโครงการในเรื่องการอนุญาต แต่ไม่น่าจะชะลอกระบวนการอื่น เช่น การรับฟังความคิดเห็น การสำรวจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ และผลกระทบทางสุขภาพหรือเอชไอเอ ดังนั้นกระบวนการอื่น น่าจะสามารถทำต่อไปได้ จึงไม่ใช่เสียเวลาไปเปล่าๆ 

.

"4.ปัญหาจริงๆ คือ การไม่มีองค์กรอิสระตามมาตรา 67 วรรคสอง แม้ว่า มาตรา 303 จะบัญญัติให้ออกกฎหมายลูกมารองรับหลังรัฐบาลแถลงนโยบายภายใน 1 ปี แต่ตอนนี้ 2 ปี กว่าแล้ว ยังไม่มีการออกกฎหมายลูก จึงเสนอทางออกเพื่อความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจ ว่า อาจให้รัฐบาลรีบออกพ.ร.ก. หรืออาศัยพ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน

.

ออกเป็นประกาศหรือระเบียบสำนักนายกฯ ถึงหลักเกณฑ์ขั้นตอนการดำเนินการ เพราะหากจะออกเป็นพ.ร.บ.อาจล่าช้าเกินไป และตอนนี้ก็ใกล้ปิดสมัยประชุมวันที่ 28 พฤศจิกายน ดังนั้นหากล่าช้า จะส่งผลกระทบกับภาคลงทุน" นายสุรชัยกล่าว

.

นายสุรชัยกล่าวว่า ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้การอนุญาตโครงการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้สังคมยังเข้าใจคลาดเคลื่อน หาว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องของตัวคนที่ปฏิบัติ ไม่สนใจรัฐธรรมนูญต่างหาก ซึ่งกมธ.ทั้ง 5 คณะ จะนัดประชุม เพื่อสรุปและทำข้อเสนอทางออกของปัญหาไปยังรัฐบาลภายในสัปดาห์นี้

.

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธาน กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ส.ว.ลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาที่หนักที่สุดคือเรื่องสุขภาพของประชาชน ที่กลุ่มทุนละเลยมาตลอด เรื่องนี้เป็นปัญหามายาวนาน

.

สมัยก่อนมีการกันพื้นที่ระยองเป็นเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก 5 พันไร่ โดย 1 พันไร่ จะเป็นเขตกันชน เมื่อทำเขตอุตสาหกรรมน้ำลึกภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดไม่ได้ เลยมาโปะที่ภาคตะวันออกเพิ่ม จ.ระยองจึงกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมหนัก ส่วน จ.ชลบุรีเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดกลาง ส่วนอุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยวก็กระจายกัน

.

"ตอนนี้เขตอุตสาหกรรมกลายเป็น 2 หมื่นไร่ เขตกันชนก็หายไป ชาวบ้านบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรม บางส่วนรั้วบ้านมีเพียงถนนกั้นก่อนถึงรั้วโรงงานอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี ซึ่งมีสารตั้งต้นก่อมะเร็งระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง พบว่าประชาชนเป็นภูมิแพ้ และแผลพุพองกันมาก บางครอบครัวเป็นมะเร็งตายไปแล้วถึง 6 คน" นายสมชายกล่าว

.

นายสมชายกล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้ต้องการให้เลิกเขตอุตสาหกรรม เพราะถ้าไม่มี ชาวบ้านก็แย่ แต่ต้องการให้มีมาตรฐานการควบคุมมลพิษที่ดี โรงงานไหนที่ไม่ใส่ใจประชาชน ระบบควบคุมมลพิษห่วยก็ห้ามเอาเข้ามา รัฐต้องยอมรับเรื่องการจัดสมดุลเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการลงทุน โดยต้องบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างเข้มงวด ชาวบ้านที่อยู่ในเขตอันตรายต้องย้ายออกและให้ค่าชดเชย พร้อมดูแลค่ารักษาพยาบาลจนหาย

.

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับกรณี 76 โครงการ ควรมาชั่งน้ำหนักวิเคราะห์ว่า อันไหนควรเอาไว้ก็เอาไว้ และติดระบบกรองอากาศให้ชาวบ้านไว้ใจ มลพิษต้องให้อยู่ในระดับปลอดภัยตลอดทั้งวัน ไม่ใช่ใช้ระบบเฉลี่ยทั้งวัน เพราะกลายเป็นบางช่วงปล่อยน้อย แต่บางช่วงปล่อยมากเกิน แล้วเอามาเฉลี่ย อย่างนี้ไม่ใช่

.

ตอนนี้ต้องพิจารณาออกกฎหมายลูกตามมาตรา 67 วรรคสอง รวมถึงองค์กรอิสระ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย การเข้าไปทำสถาบันวิจัย ศูนย์ควบคุมมลพิษ ศูนย์เฝ้าระวัง ไม่ใช่แค่ไปสร้างโรงพยาบาล เพราะเป็นเรื่องปลายเหตุ ให้มีคณะกรรมการไตรภาคี ให้ประชาชนมีส่วนมากำกับในเรื่องนี้

.

"ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น อย่าเอาแต่เน้นเรื่องการลงทุนโดยไม่สนใจประชาชน ถามว่าให้ครม.ทั้งคณะย้ายบ้านไปอยู่ที่นั่นจะเอาไหม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมห่วยมาก และยังทอดทิ้งชาวบ้าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนิคมอุตสาหกรรม เขายอมรับแล้วว่าต้องดูแลชาวบ้านให้มากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลต้องหาสมดุลให้ได้ และควรเปิดการเจรจาระหว่างรัฐ ชาวบ้าน และผู้ลงทุน" นายสมชายกล่าว

.

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากจ.ชลบุรี ว่า นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคตะวันออก พร้อมประชาชนราวร้อยคนเดินเท้าจากจ.ระยองเพื่อยื่นหนังสือให้ประธานวุฒิสภาตรวจสอบรัฐบาลปฎิบัติหน้าที่บกพร่อง ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม 76แห่งในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมืองระยอง เดินทางไปถึงต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี แล้ว โดยนายสุทธิระบุการเดินเท้ากำหนดไว้ 5 วัน ต้องถึงรัฐสภา

.

นายสุทธิกล่าวว่า รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อนการตัดสินใจอุทธรณ์หรือการตัดสินใจแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในอนาคต โดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่มีข้อมูลหลักฐานของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

.

ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมุ่งลดปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนที่ปรากฏอยู่จริงในพื้นที่มากกว่ากล่าวอ้างแต่เรื่องการทำตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท