เนื้อหาวันที่ : 2006-12-18 10:41:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1704 views

ตลาดเหล็กไทย คาดปี 2550 มีโอกาสกระเตื้องขึ้นหลังซบเซา

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยอมรับตลาดเหล็กของไทยในปี 2549 ซบเซา แม้ตลาดเหล็กของโลกจะคึกคัก ความต้องการเหล็กในประเทศปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว คาดปีหน้าน่าจะฟื้นตัว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยอมรับตลาดเหล็กของไทยในปี 2549 ซบเซา แม้ตลาดเหล็กของโลกจะคึกคัก โดยความต้องการเหล็กในประเทศปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว เหลือ 12-13 ล้านตัน แต่คาดปีหน้าจากภาวะอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่น่าจะฟื้นตัว จะทำให้ความต้องการใช้เหล็กปีหน้ามีมากขึ้น โดยจะเติบโตร้อยละ 7-8 มาอยู่ที่ระดับปริมาณ 13-14 ล้านตัน

.

ภาวะตลาดเหล็กของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนมาก ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กพุ่งขึ้นและดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วงระหว่างปี 2547-2548 เป็นผลมาจากความไม่สมดุลอย่างมากระหว่างอุปทานและอุปสงค์เหล็กในตลาดโลก รวมทั้งมีการเก็งกำไรอย่างหนักและการเก็บตุนเหล็กในช่วงที่ราคาผันผวน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเหล็กในประเทศไทย ซึ่งยังต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบและเหล็กกึ่งสำเร็จรูปหลากหลายชนิด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กต่าง ๆ สำหรับใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนานาประเภท

.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 ขณะที่ภาวะตลาดเหล็กของโลกมีความคึกคักและค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่สถานการณ์เหล็กของไทยกลับซบเซา เนื่องจากปัจจัยลบหลายด้านทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ โดยความต้องการเหล็กในประเทศปี 2549 ลดลงเหลือเพียง 12-13 ล้านตัน จากประมาณ 13.8 ล้านตัน ในปี 2548 นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ค่อนข้างผันผวนและอ่อนตัวลง โดยดัชนีลดลงจากระดับเฉลี่ยตลอดปี 2548 ที่ 150.1 มาอยู่ที่ระดับ 138.7 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

.

อย่างไรก็ตาม ปี 2550 คาดว่าตลาดเหล็กของไทยน่าจะกระเตื้องขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่น่าจะฟื้นตัวจากการที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ การซ่อมแซมบ้านเรือน ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2549

.

ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ฯลฯ ยังเติบโต ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7-8 มาอยู่ที่ระดับปริมาณ 13-14 ล้านตัน นอกจากนี้ แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก Slab และเหล็ก Billet ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบเหล็กได้มีแนวโน้มสูงขึนตามราคาสินแร่เหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น  

.

ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ฯลฯ ยังเติบโต ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7-8 มาอยู่ที่ระดับปริมาณ 13-14 ล้านตัน นอกจากนี้ แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก Slab และเหล็ก Billet ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบเหล็กได้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินแร่เหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น  

.
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าจากการที่ตลาดเหล็กของไทยซึ่งมีขนาดเล็กเพียงประมาณร้อยละ 1 ของตลาดโลก อีกทั้งอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กในขั้นตอนต่าง ๆ อุตสาหกรรมและตลาดเหล็กของไทยจึงมีความอ่อนไหวและไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะตลาดเหล็กของโลกได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ในอดีตจะพบว่ายามใดที่เกิดความผันผวนหรือเกิดภาวะชะลอตัวในตลาดเหล็กโลก ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วย
.

อย่างไรก็ดี ในยามที่ตลาดเหล็กโลกคึกคักและเติบโตดีก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดเหล็กของไทยจะดีตามไปด้วยเสมอไป หากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศไม่เอื้ออำนวยเช่นเหตุการณ์ในปี 2549 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540-2541 อุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้ปรับปรุงพื้นฐานโครงสร้างทั้งในด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น และโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ รวมถึงการควบรวมกิจการระหว่างผู้ประกอบการไทยในประเทศ และการเข้ามาถือหุ้นร่วมทุนโดยผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ๆ จากต่างประเทศ จึงหวังกันว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในปัจจุบันจะมีศักยภาพที่จะรับมือกับความผันผวนของตลาดโลกได้ดีกว่าในอดีต.