เนื้อหาวันที่ : 2009-10-26 11:19:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2104 views

17 องค์กรผนึกกำลังหนุนสหภาพรถไฟ จี้รัฐหยุดฉวยโอกาสแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

17 องค์กรออกแถลงการณ์หนุนการต่อสู้ของสหภาพฯ รถไฟในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน เรียกร้องรัฐหยุดฉวยโอกาสแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หยุดป้ายสี ทำลายสหภาพฯ

.

25 ต.ค.52    17 องค์กรในนามศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชนออกแถลงการณ์สนับสนุนการต่อสู้สหภาพฯ รถไฟ ในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน เรียกร้องรัฐหยุดฉวยโอกาสแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หยุดป้ายสี ทำลายสหภาพฯ 

.

ขณะที่ความคืบหน้าวันนี้ (25 ต.ค.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สาขาหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เรียกประชุมสมาชิก หลังการเจรจากับตัวแทนฝ่ายบริหารล้มเหลว โดยมีมติร่วมกันว่า ผลการประชุมที่ออกมาสร้างความผิดหวังให้กับพนักงานเป็นอย่างมาก ทั้งที่ทุกคนพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่กลับถูกกดดันจากฝ่ายบริหารด้วยการเล่นแง่ทาง

.

ดังนั้น จึงยังไม่มีการเดินรถไฟลงไปในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพนักงานไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสภาพของหัวรถจักรหุ้มเกราะยังไม่พร้อมใช้งาน แม้หัวรถจักรหุ้มเกราะที่มีอยู่ 7 หัว ซ่อมเสร็จแล้ว 4 หัว แต่จะรอเปิดเดินรถเมื่อซ่อมเสร็จพร้อมกันทั้งหมดเท่านั้น

.

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลา 17.30 น. นายกริช ศฤงชัยธวัช วิศวกรใหญ่ฝ่ายช่างกล ร.ฟ.ท.  กล่าวว่า ขณะนี้รถไฟที่จะเดินทางไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดให้บริการหมดแล้ว ยกเว้นเส้นทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการ เนื่องจากพนักงานขับรถอ้างว่าไม่สบายใจและไม่มั่นใจในความปลอดภัย แต่ไม่ได้ยื่นลางานเหมือนที่ผ่านมา

.

โดยอ้างว่าพนักงานขับรถสามารถนำเหตุผลเรื่องความปลอดภัยมาอ้างได้ เพราะเคยทำข้อตกลงร่วมกับผู้บริหาร ร.ฟ.ท.ชุดที่ผ่านมา ขณะนี้มีพนักงานขับรถในเส้นทาง 3 ชายแดนภาคใต้ยื่นข้ออ้างดังกล่าว และหยุดงานไปแล้ว 40-50 คน 

.

นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังแม่ทัพภาค 4 แล้วเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ทหารดูแลความปลอดภัยและลาดตระเวนเส้นทางรถไฟรวมทั้งร่วมไปกับขบวนรถไฟเพื่อสร้างความมั่นใจให้พนักงานและผู้โดยสาร หลังจากนี้พนักงานทุกคนต้องกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ มิฉะนั้นจะถือว่าผิดวินัยทันที

.

แถลงการณ์ศูนย์ประสานงานเครือข่ายประชาชน
สนับสนุนการต่อสู้
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย
ในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน
วันที่ 25 ตุลาคม 2552 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม

.

การประชุมตัวแทนองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรแรงงาน องค์กรชาวนาชาวไร่ องค์กรประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ นักเรียนนิสิตนักศึกษา มีจุดยืนและท่าทีร่วมกันต่อการต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ดังนี้

.

1. เราสนับสนุนการต่อสู้ของ สร.รฟท. ในการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน อันเป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถและการบริการสาธารณะ

.

2. เราคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และสนับสนุนการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค สหภาพแรงงาน องค์กรประชาชนทุกภาคส่วน

.
3. เราสนับสนุนให้ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น และการสร้างธรรมาภิบาลในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
.

4. เราเห็นว่านายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้มูลว่าทุจริตคอร์รัปชั่น และต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน อันเกิดจากการบกพร่องในด้านความปลอดภัย และการบริหารงานที่ผิดพลาด

.

5. เราจะดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้อง ดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับนักการเมือง และฝ่ายบริหารที่บริหารงานผิดพลาดและเสียหายโดยไม่คำนึงถึงชีวิตทรัพย์สินและความปลอดภัยของประชาชน

.
พวกเราเครือข่ายประชาชน มีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายการเมืองและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนี้

1. ยุตินโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉวยกระแสในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟของนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พรรคภูมิใจไทย

.

2. ยุติการสร้างกระแสทำลายสหภาพแรงงาน จากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อาทิ กรณีการปล่อยทิ้งผู้โดยสาร การใส่ร้ายป้ายสีเรื่องการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมทั้งการยึดรถจักรสถานีรถไฟหาดใหญ่ ซึ่งไม่ความเป็นจริงแต่อย่างใด

.

3. ให้ดำเนินการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ของรถจักรโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถจักรที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ เนื่องจากสมาชิก สร.รฟท. ก็ต้องการให้เปิดการเดินรถไฟที่มีความปลอดภัยโดยเร็ว

.

4. นายโสภณ ซารัมย์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ ต้องแสดงความรับผิดชอบในกรณีอุบัติเหตุ อันอาจเกิดขึ้นจากรถจักรที่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยชำรุด

.

5. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ควรเปิดเวทีสาธารณะชี้แจงข้อเท็จจริงประเด็นความปลอดภัยในการโดยสารรถไฟ โดยมีองค์กรผู้บริโภค รัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สร.รฟท. ผู้บริหารรฟท. รวมทั้งองค์กรประชาชน เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิทธิของผู้บริโภคและประชาชน อันพึงจะได้รับความปลอดภัยในการบริการสาธารณะ 

.

พวกเราจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ สร.รฟท. โดยจะช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และจัดกิจกรรมสนับสนุน สร.รฟท. ในการจัดทำข้อเสนอระบบปรับปรุงการเดินรถและการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน และต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างถึงที่สุด

.
องค์กรที่เข้าร่วมการลงนาม

1. กลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP)
2. กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
3. กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก
4. กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองอิสระ
5. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
6. เครือข่ายศิลปินแห่งประเทศไทย
7. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
8. เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM)
9. สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สคปท.)
10. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
11. สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้ายานยนตร์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM)
12. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.)
13. ศูนย์ประสานงานนักเรียนนิสิตนักศึกษา (ศนน.)
14. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)
15. สหพันธ์สาธารณูปโภคประเทศไทย (PTAC)
16. องค์การขนส่งระหว่างประเทศ (ITF)
17. สหพันธ์แรงงานนานาชาติกิจการเคมี พลังงาน ปิโตรเลียม และแรงงานทั่วไป (ICEM)

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท