เนื้อหาวันที่ : 2009-10-26 10:32:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1424 views

กรีนพีซจี้อาเซียนให้เดินหน้ารับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน

กรีนพีซท้าผู้นำอาเซียนแสดงความเป็นผู้นำปกป้องประชากรกว่า 850 ล้านคน จี้เดินหน้ายุติการทำลายป่าไม้และพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ พร้อมกดดันประเทศอุตสาหกรรมรับข้อตกลงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 .

กรีนพีซท้าทายผู้นำอาเซียนให้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำร่วมกันเพื่อปกป้องประชากร 850 ล้านคนในภูมิภาคจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งมั่นที่จะยุติการทำลายป่าไม้และพัฒนาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

.

นอกจากนี้ยังกดดันให้ผู้นำของประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลกยอมรับข้อตกลงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาล ณ การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรุงโคเปนเฮเกน ในเดือนธันวาคมนี้

 .

นักกิจกรรมกรีนพีซเดินรณรงค์โดยกลิ้งลูกโลกยักษ์พร้อมข้อความ "ASEAN : U turn the Earth" หรือ "อาเซียน สามารถยูเทิร์นโลกได้" ไปยังโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 

 .

"ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแสนสาหัส ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์พายุกิสนาที่ถล่มประเทศฟิลิปปินส์เมื่อเดือนก่อน แต่แทนที่อาเซียนจะแสดงความรับผิดชอบที่จะปกป้องประชาชนของตน            

 .

อาเซียนกลับเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยครั้งนี้ มีเพียงการความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนความกังวลนั้นเป็นการลงมือทำอย่างจริงจัง หรือแม้แต่ริเริ่มแสดงความเป็นผู้นำในการลงมือยุติปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

 .

"เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ผู้นำอาเซียนจะผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มแข็งในการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคมนี้ การผนึกกำลังนี้เป็นสัญญานของการมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็น

.

การประกาศยุติการทำลายป่าไม้โดยสิ้นเชิงและให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อทางเลือกซึ่งจะนำพาสังคมของเราออกไปจากกับดักของระบบเศรษฐกิจที่มีฐานอยู่บนเชื้อเพลิงฟอสซิลและการปล่อยคาร์บอนอย่างมหาศาล" นายธารา กล่าวเสริม

.

ส่วนจุดยืนของอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไป และขาดแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ในการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเดือนธันวาคมนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกในการเดินให้พ้นจากขอบเหวของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นอันตราย  

.

ทั้งนี้ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซล้วนเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การทำลายป่าเขตร้อนยังก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาถึงร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าการปล่อยก๊าซจากรถไฟ เครื่องบินและรถยนต์ของโลกรวมกันทั้งหมด

.

ปฏิบัติการปกป้องป่าไม้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากที่สุดในขณะนี้ เพื่อที่จะบรรลุการลดการปล่อยก๊าซในประเทศกำลังพัฒนา กรีนพีซได้รวมกลุ่มกับหลากหลายองค์กรในการร่างข้อเสนอที่ระบุถึงการทำลายป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซียว่าสามารถยุติได้ภายในปี 2558

.

"กรีนพีซหวังว่าความสนใจที่มีร่วมกันของอาเซียนในการปกป้องป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค จะทำให้อาเซียนสนับสนุนข้อเรียกร้องของกรีนพีซในการที่จะจัดสรรงบประมาณประจำปีอย่างน้อย 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 เพื่อยุติการทำลายป่าในประเทศกำลังพัฒนาในฐานะเป็นการลงมือปฏิบัติอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เซลดา โซริอาโน ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว 

.

กิจกรรมของกรีนพีซในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมเนื่องในวันรณรงค์ทั่วโลกเพื่อยุติภาวะโลกร้อน ซึ่งหลากหลายองค์กรร่วมจัดขึ้นรวมทั้งสิ้นกว่า 4,457กิจกรรม ใน 172 ประเทศ