เนื้อหาวันที่ : 2009-10-21 16:20:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1319 views

นักวิชาการ-เอกชน หนุนรัฐฉวยจังหวะปฏิรูปรถไฟ

สังศิต ออกโรงหนุนรัฐปฏิรูปรถไฟ ทั้งระบบ หลังสหภาพ ร.ฟ.ท.ประท้วงหยุดเดินรถสายใต้ "เกริกกล้า" เร่งพัฒนาให้เร็วกว่าแผน 30 ปี เพื่อไม่ให้พลาดประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชี้เริ่มวันนี้ถึงจะช้าแต่ดีกว่าไม่เริ่ม

รศ.ดร.สังศิต-ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ออกโรงหนุนเต็มที่ ชี้เป็นโอกาสในการปฏิรูปรถไฟทั้งระบบ หลังสหภาพ ร.ฟ.ท.ประท้วงหยุดเดินรถสายใต้  "เกริกกล้า" เร่งพัฒนาให้เร็วกว่าแผน 30 ปี เพื่อไม่ให้พลาดประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

.

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

.

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า การที่สหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทยหยุดเดินรถขบวนสายใต้ในขณะนี้นั้นได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรถไฟถือเป็นการขนส่งสินค้าที่สำคัญซึ่งความเสียหายดังกล่าวไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ 

.

"การหยุดงานของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน อย่างรถไฟ มิใช่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก รัฐบาลคงต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที เพื่อหาทางออกที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับ" รศ.ดร.สังศิต กล่าว และให้ความเห็นว่า จุดที่น่าพิจารณาสำหรับเหตุการณ์นี้

.

รวมถึงเหตุการณ์ที่เขาเต่า ก็คือ เมื่อพนักงานการรถไฟเอง รวมทั้งผู้บริหารในการรถไฟต่างเห็นตรงกันว่า อุปกรณ์และบุคลากรบางส่วน ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับรัฐบาลที่จะเข้ามาพัฒนาการรถไฟครั้งใหญ่ ครั้งเรื่องของคน ระบบการจัดการ รวมไปถึงตัวรถ การเดินรถ และอุปกรณ์ต่างๆ

.

นายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งทางรถไฟของประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางภาครัฐมีการศึกษาเรื่องการปรับปรุงการรถไฟมาระดับหนึ่งแล้ว

.

เพราะฉะนั้นขณะนี้ต้องมองลึกลงไปว่าในอนาคตจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.จะต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการพัฒนา 2.เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ และ 3.ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ

.

ทั้งนี้จากแนวโน้มกระแสเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมองว่ารัฐบาลอาจจะต้องเข้ามาสนับสนุนไปก่อนระยะเวลาหนึ่งโดยปรับรูปแบบการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นกรมรถไฟ เพื่อจะสามารถใช้งบประมาณรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยนำงบประมาณนั้นมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางทั้งหมด  ส่วนในเรื่องของการเดินรถนั้นควรมีระบบการแข่งขัน โดยอาจจะเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

.

"เรื่องการเดินรถนั้น ก็ทำได้ในรูปแบบของ บขส หรือ รฟม. ที่ให้ภาคเอกชนมาดำเนินการ โดยกรมรถไฟเองก็อาจจะมีรถของตัวเองด้วย แต่ก็ต้องแข่งกับเอกชน ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็เชื่อว่าพนักงานการรถไฟคงไม่กล้าหยุดเดินรถอีก" นายเกริกกล้า กล่าว

.

ทั้งนี้ ในฐานะของภาคเอกชนซึ่งต้องพึ่งพาการขนส่งระบบรางเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการขนส่งที่ประหยัดและช่วยลดมลพิษ อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการรถไฟโดยเร็ว โดยเฉพาะ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้จะเคลื่อนย้ายได้อย่างคล่องตัว หากการรถไฟพัฒนาได้เร็วก็จะได้ประโยชน์มหาศาล