เนื้อหาวันที่ : 2006-12-15 09:15:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1381 views

ไทยถูกเปิดไต่สวนกรณีทุ่มตลาดจากประเทศอื่นในครึ่งปีแรก

กรมการค้าต่างประเทศรายงานการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยไทยถูกเปิดไต่สวนจากประเทศสมาชิกอื่นรวม 5 กรณี

 กรมการค้าต่างประเทศรายงานการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยไทยถูกเปิดไต่สวนจากประเทศสมาชิกอื่นรวม 5 กรณี โดยจีนเป็นประเทศที่ถูกเปิดไต่สวนมากที่สุด และสินค้าที่มีการเปิดไต่สวนมากที่สุด ได้แก่ เหล็ก

รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศแจ้งว่า WTO Secretariat ได้รายงานสถานการณ์การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของประเทศสมาชิกที่ได้รายงานต่อ WTO ในช่วงเดือนมกราคมมิถุนายน 2549 ว่าการเปิดไต่สวนมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 ขณะที่การใช้มาตรการ Final Determination มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2548 โดยช่วงครึ่งแรกปี 2549 ประเทศสมาชิก 20 ประเทศ ได้รายงานการเปิดไต่สวน AD รวม 87 กรณี ลดลงจาก 105 กรณี ในช่วงเดียวกันของปี 2548

และมีประเทศสมาชิก 15 ประเทศ ประกาศใช้มาตรการ AD รวม 71 กรณี ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 55 กรณี ในช่วงเดียวกันปี 2548 หรือร้อยละ 29 โดยประเทศสมาชิกที่เปิดการไต่สวน AD มากที่สุด ได้แก่ อินเดีย 20 กรณี สหภาพยุโรป 17 กรณี ออสเตรเลีย 9 กรณี อาร์เจนตินา อินโดนีเซีย และตุรกี ประเทศละ 5 กรณี โดยจีนเป็นประเทศที่ถูกเปิดไต่สวนมากที่สุด โดยมีสินค้าที่ถูกเปิดไต่สวน 32 กรณี สหรัฐและไต้หวัน ประเทศละ 6 กรณี สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น เกาหลี และมาเลเซีย ประเทศละ 4 กรณี ส่วนไทยถูกเปิดไต่สวน 5 กรณี

สำหรับสินค้าที่เปิดไต่สวนมากที่สุด ได้แก่ สินค้าเหล็ก 19 กรณี สินค้าหมวดเครื่องจักร 16 กรณี สินค้าหมวดพลาสติก 13 กรณี และหมวดเคมีภัณฑ์ 11 กรณี ส่วนประเทศสมาชิกที่ใช้มาตรการ AD มากที่สุด ได้แก่ จีน 15 กรณี  ตุรกี 11 กรณี อินเดีย 8 กรณี อียิปต์ 7 กรณี อียู เม็กซิโก และปากีสถาน ประเทศละ 5 กรณี สินค้าจากจีนถูกใช้มาตรการมากที่สุด 15 กรณี อินเดียและเกาหลี ประเทศละ 6 กรณี บราซิล อียู ญี่ปุ่น และสหรัฐ ประเทศละ 5 กรณี

ซึ่งสินค้าที่ถูกใช้มาตรการมากที่สุด ได้แก่ สินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ 23 กรณี สินค้าเคมีภัณฑ์ 14 กรณี สินค้าหมวดสิ่งทอ 9 กรณี สินค้าหมวดเหล็ก 7 กรณี ซึ่งจากสินค้าเคมีภัณฑ์ 23 กรณี ที่ถูกใช้มาตรการนั้นเป็นการใช้มาตรการโดยจีน 15 กรณี อินเดีย 3 กรณี อาร์เจนตินา 2 กรณี และอียิปต์ อียู และปากีสถาน ประเทศละ 1 กรณี

ทั้งนี้ จากรายงานดังกล่าวกรมการค้าต่างประเทศเห็นว่าผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินธุรกิจและเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ถูกใช้มาตรการในหลายประเทศเพื่อป้องกันการถูกใช้มาตรการ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวทางการค้า.