เนื้อหาวันที่ : 2009-10-21 10:21:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3028 views

ทิศทางยานยนต์ไทย ทิศทางยานยนต์โลก

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดประชุมระดมสมอง วางกรอบพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต พุ่งเป้ารักษาบัลลังก์ผู้ส่งออกยานยนต์สำคัญของโลก

.

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดประชุมระดมสมอง วางกรอบพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต พุ่งเป้ารักษาบัลลังก์ผู้ส่งออกยานยนต์สำคัญของโลก

.

มิอาจปฏิเสธได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติอย่างไร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเชื่อมโยงกับหลายสาขา ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบหลายแสนอัตรา โดยขีดความสามารถผลิตรถยนต์เกิน 1 ล้านคัน ส่งออกเกินร้อยละ 50  ของยอดการผลิตทั้งหมด   

.

นั่นหมายความว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม การสร้างให้อุตสาหกรรมยานยนต์แข็งแกร่งได้เพียงนี้ที่ถือว่ายากยิ่ง  แต่ยากยิ่งกว่าคือการรักษาบัลลังก์แห่งความสำเร็จนี้ให้คงอยู่ตลอดไป พร้อมกับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง 

.

ด้วยเหตุนี้เอง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ.จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้หัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย" เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต ตลอดจนการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย 

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผอ.สศอ. กล่าวว่า "อุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการใช้กำลังการผลิต และอัตราการเจริญเติบโตลดต่ำลง นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่มากระทบ เช่น วิกฤตน้ำมัน วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นต้น ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดรถกระบะหดตัว

.

ขณะที่ตลาดรถยนต์นั่งขยายตัวเพิ่มขึ้น ,ประเทศอังกฤษ ตลาดรถยนต์ทุกประเภทในช่วงปี 2008 - 2009 หดตัว ยกเว้นรถยนต์ City Car มีอัตราการขยายตัวในปี 2008 สูงถึงร้อยละ 26 , ประเทศจีนก้าวเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับหนึ่งของโลก และเป็นประเทศที่มีตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก และได้สร้างฐานการผลิตในประเทศสมาชิกอาเซียน  

.

เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น และ ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาการขาดทุนจากการหดตัวของตลาดยานยนต์ทั่วโลก และมีแนวคิดในการขยายฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน 

.

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ประเภทของรถยนต์ที่มีแนวโน้มขยายตัวในตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว คือ รถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดน้ำมัน สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนจาก Internal Combustion Engine  ไปสู่ Motor Driven เช่น รถยนต์ Fuel Cell, Electric Vehicle และ Plug-in Hybrid (รถยนต์ลูกผสมต่างๆ จะออกมาเป็นทางเลือกมากขึ้น) เนื่องจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องยนต์ และต้องคำนึงถึงเรื่องมลพิษและการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญยิ่ง"

.

จากการประชุมระดมสมองครั้งนี้ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล แสดงความคิดเห็น ตลอดจนการตอบข้อซักถามอย่างเปิดกว้าง เพื่อเป็นทางออก และแสวงหาจุดร่วมเดียวกัน สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง โดยบทสรุปจากที่ประชุมพอประมวลได้ ดังนี้

.

1.) ภาครัฐยังคงยึดนโยบาย International Car ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และยืนยันที่จะให้การส่งเสริม Product Champion ของไทยคือ รถปิกอัพและอนุพันธ์ และ Eco Car อย่างต่อเนื่องต่อไป

.

สำหรับโครงการ Eco Car คงไม่มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ข้อกำหนด หรือสิทธิประโยชน์ ไปจากที่ได้มีการประกาศไว้แล้ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุนโครงการ Eco car และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศในด้านความมั่นคงในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ

.

2) ทิศทางที่ค่อนข้างชัดเจนของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต คือ การพัฒนาจาก "Internal Combustion Engine" ไปสู่ "Motor Driven" อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีแบบ Motor Driven ยังคงต้องใช้ระยะเวลา โดยผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายเลือกใช้เทคโนโลยี In Between ที่แตกต่างกัน แต่ล้วนเห็นตรงกันที่จะมุ่งเน้นในทิศทางการพัฒนา Efficiency

.

3) ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการยานยนต์ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้กำลังการผลิตส่วนเกิน ภาครัฐอาจมีแนวทางการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการยานยนต์โดยผ่านทางบอร์ด BOI รวมทั้งหามาตรการหรือกลไกเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ในด้านการฝึกอบรมบุคลากร การสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ

.

จากความคิดเห็นที่หลากหลาย เหล่านี้ สศอ.จะได้เร่งวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการและความเป็นไปได้ ซึ่งภาพแห่งความร่วมแรงร่วมใจและทุ่มเททั้งหมด จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพัฒนาได้อย่างก้าวไกล และเป็นผู้นำในการพัฒนายานยนต์ในภาคพื้นเอเชียในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน ซึ่งย่อมหมายถึงทิศทางยานยนต์ไทย คือ ทิศทางแห่งยานยนต์โลกนั่นเอง

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม