ทีดีอาร์ไอแนะเอเชียตะวันออกจับมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่แทนสหรัฐ หวังเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ระบุควรตั้งกองทุนโดยนำเงินแต่ละประเทศมาร่วมลงขัน พร้อมเสนอจัดการประชุมธนาคารกลางใน เอเชียตะวันออกทุก 3 เดือน ประกาศศักดาความพร้อม
. |
ทีดีอาร์ไอแนะเอเชียตะวันออกจับมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่แทนสหรัฐ ระบุควรตั้งกองทุนโดยนำเงินแต่ละประเทศมาร่วมลงขัน พร้อมเสนอจัดการประชุมธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกทุก 3 เดือน ประกาศศักดาความพร้อม |
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เศรษฐกิจโลกยุคใหม่กับการบีบตัวของไทย" ในการประชุมวิชาการระดับชาติของนักเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 5 ว่าเศรษฐกิจยุคใหม่มีความผันผวนมาก โดยเฉพาะตลาดเงินและตลาดหุ้นที่มีการเก็งกำไรกันมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะบริหารจัดการ ทั้งนี้ แต่ละประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมซ้ำอีกจากปัญหาความไม่สมดุลของโลก |
. |
นายฉลองภพ กล่าวแนะนำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกมีความร่วมมือระหว่างกัน ในการจัดตั้งองค์กรทางการเงินระหว่างภูมิภาค ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน +3 มีการจัดตั้งเป็นกองทุนโดยนำเงินของแต่ละประเทศมาร่วมลงขัน เนื่องจากประเทศในเอเชียตะวันออกมีเงินทุนสำรองเพียงพอ ที่จะสามารถนำไปลงทุนและกำหนดทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินของโลกได้ |
. |
จากปัจจุบันสหรัฐซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤติและกลายเป็นประเทศลูกหนี้ ดังนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ควรรวมพลังกำหนดทิศทางเศรษฐกิจแทนสหรัฐ และเสนอให้มีการจัดการประชุมธนาคารกลางในเอเชียตะวันออกทุกๆ 3 เดือน เพื่อแสดงถึงพลังของประเทศในภูมิภาคนี้ |
. |
ส่วนเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีการฟื้นตัวจริงหรือไม่ เพราะเคยมีตัวอย่างในอดีตที่พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวถึง 4.5% โดยปรากฏว่ารายได้เกษตรกรยังคงติดลบ ซึ่งการใช้มาตรการการคลังของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่สามารถกระตุ้นให้เอกชนกลับมาลงทุนได้ หากรัฐบาลยังใช้มาตรการการคลังต่อเนื่อง อาจจะมีผลทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นอีก จากปัจจุบันอยู่ที่ 45.35% ต่อจีดีพี |
. |
สำหรับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์มแก้ไขยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากการส่งออกหดตัวมาก และประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกสูง ดังนั้น จะต้องลดการพึ่งพิงการส่งออกและหันมาเน้นการลงทุนภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์เน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต |
. |
"ทั้งนี้ เห็นว่าไทยควรต้องลดการส่งออกและหันมาเน้นการลงทุนของรัฐให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องมีการเน้นการผลิต อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์เน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต" นายฉลองภพ กล่าว |
. |
นอกจากนี้ นายฉลองภพ ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงช่วงนี้ เป็นผลมาจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ หลังจากที่เทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการดูแลค่าเงินบาทไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่แข่ง และต้องให้มีทั้งการไหลเข้าและไหลออกของเงินอย่าให้เคลื่อนไหวด้านเดียว เพื่อลดการเก็งกำไร |
. |
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เพราะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และหลายประเทศพยายามลดบทบาทค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และหาเงินสกุลอื่นๆ มาแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลา เพราะปัจจุบันทั้งค่าเงินเยน ญี่ปุ่น และเงินหยวน ยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาเป็นเงินสกุลหลักของโลกแทนดอลลาร์สหรัฐ |
. |
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น นายฉลองภพ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความชัดเจน เพราะนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับเกณฑ์ในการลงทุน และความชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล |
. |
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง |