บีโอไอโปรยยาหอม พร้อมรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ไม่เร่งเสนอความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน รับอาจสรุปไม่ทันประชุมอาเซียนที่หัวหิน ยันทำตามขั้นตอนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
. |
บีโอไอโปรยยาหอม พร้อมรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ไม่เร่งเสนอความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน รับอาจสรุปไม่ทันประชุมอาเซียนที่หัวหิน ยันทำตามขั้นตอนถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ |
. |
บีโอไอพร้อมรับฟังความเห็นจากภาคประชาชน ไม่เร่งรัดเสนอความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน เพราะอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลและความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนของประเทศไทย ย้ำที่ผ่านมาได้ทำตามกระบวนการและขั้นตอนตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 |
. |
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวถึงเรื่องความตกลงด้านการลงทุนของกลุ่มประเทศในอาเซียน (Asian Comprehensive Investment Agreement: ACIA) ซึ่งบีโอไอในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ ว่า ที่ผ่านมา บีโอไอซึ่งได้รับมอบหมายตามมติคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำรายการข้อสงวนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้รัฐธรรมนูญมาตร 190 อย่างชัดเจน |
. |
โดยได้จัดสัมมนาเวทีสาธารณะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรและสมาคมธุรกิจต่างๆ มาแสดงความคิดเห็น รวมทั้งบีโอไอได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความตกลงที่จะทำดังกล่าว ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาครัฐและประชาชน ส่วนใหญ่มองเห็นประโยชน์จากการเปิดเสรีการลงทุนภายในอาเซียน |
. |
ขณะนี้ บีโอไอได้รับทราบข้อกังวลเพิ่มเติมจากภาคประชาชน จากการประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการของรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งบีโอไอก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญต่อไป |
. |
รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวด้วยว่าประเทศไทยจะต้องรอข้อสรุปตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ของไทยก่อน ซึ่งอาจไม่ทันการประชุมอาเซียนซัมมิทระหว่างวันที่ 23 -25 ตุลาคมนี้ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียนยังต้องหาข้อสรุปในประเด็นที่ติดค้างซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดต่อไป |
. |
ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน หรือ เอซีไอเอ ซึ่งทั้ง 10 ชาติ อาเซียนได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเป็นการรวมเอาความตกลงเปิดเสรีการลงทุน ( เอไอเอ ) และความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ไอจีเอ ) เข้าด้วยกัน ทั้งนี้ความตกลงเอไอเอ เดิมที่กลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ชาติได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่ปี 2541 |
. |
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรีในอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถสงวนสาขาที่ยังไม่พร้อมแข่งขันหรือสาขาที่อ่อนไหวไว้ได้ โดยขณะนั้นไทยได้สงวนสาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำป่าไม้จากป่าปลูก การเพาะ ขยาย และปรับปรุงพันธุ์พืชไว้เป็นการชั่วคราว และจะเปิดเสรีได้ในปี 2553 |
. |
อย่างไรก็ตามบีโอไอจะนำความเห็นและข้อมูลเพิ่มเติมจากองค์กรภาคประชาชน และกลุ่มเอ็นจีโอ ที่แสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดต่อสาขาที่อยู่ในข้อตกลงด้านการลงทุนอาเซียน ให้คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเพิ่มเติมด้วย |
. |
ทั้งนี้ท่าทีของประเทศไทยตามมติ กนศ. จะยึดพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นหลัก ประกอบกับกฎหมายเฉพาะอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงพันธกรณี และมีข้อสงวนเพื่อดูแลคุ้มครองและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากที่สุด |