เนื้อหาวันที่ : 2009-10-15 14:49:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2078 views

แนวโน้มการสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่เข้มแข็ง

ปัญหาสภาวะโลกร้อน นับวันจะยิ่งทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างหันมาขับเคลื่อนนโยบายเน้นลดปัญหาโลกร้อน ภาคอุตสาหกรรมมักถูกเพ่งเล็งตลอดเวลาว่าเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อน อุตฯพลาสติกเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมของโลกอย่างยิ่ง

อนุวัฒน์  สุดมหาตยางกูร  

กรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด(มหาชน)
.

.
ภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันกระแสสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์หรือบุคคลทั่วไป จากปัญหาสภาวะโลกร้อน สภาวะอากาศแปรปรวน อันเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง การขาดแคลนอาหาร การสูญเสียพื้นที่อาศัย การแพร่กระจายของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มีผลกระทบต่อมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกนี้

.

ซึ่งทุกๆ ฝ่ายต้องหันมาขับเคลื่อนกลไก รวมทั้งนโยบายที่เป็นรูปธรรม เพราะสภาวะโลกร้อนได้ถูกหยิบมากล่าวเป็นประเด็นหลักในการประชุมระดับนานาชาติทุกครั้ง ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วม ต่างก็เห็นพ้องที่จะช่วยกันแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอันเกิดจากปรากฎการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ยกตัวอย่างเช่น อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน (พิธีสารโตเกียว) แต่ก็ยังขาดความร่วมมือกันระหว่างประเทศ อย่างจริงจัง

.

สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (http://www.tgo.ot.th) โดยมีมติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ให้จัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์ให้คำรับรองกับโครงการที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

.

ส่งเสริมพัฒนาโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้เห็นความสำคัญของการจัดการก๊าซเรือนกระจก การดำเนินการเรื่องฉลากคาร์บอน ที่สามารถแสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลกต่อหน่วยผลิตภัณฑ์นั้นๆ

.

แนวทางเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญกับบทบาททางธุรกิจของบริษัทฯเป็นอย่างมาก ซึ่งทางบริษัทฯ จักต้องรับมือกับกฎระเบียบการค้าเพื่อลดภาวะโลกร้อน เพราะเชื่อว่าแนวโน้มผู้บริโภคจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม  จะเห็นว่าในบางประเทศมีวิธีการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ว่า สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากน้อยเพียงใด

.

ดังตัวอย่างเช่น ฉลากคาร์บอน  ซึ่งทำขึ้นเพื่อแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากผลิตภัณฑ์โดยระบุ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่าที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ Carbon Label ในบางประเทศแล้ว เช่น อังกฤษ และอเมริกา นอกจากนี้ยังมีความพยายามในประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เป็นต้น

.

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการติดฉลากนี้ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผู้บริโภคจะให้ความใส่ใจกับผลิตภัณฑ์ที่ซื้อหามาหรือนำมาบริโภคนั้นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนหรือสามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณมากน้อยเพียงใด

.

กิจการของบริษัท มัลติแบกซ์ จำกัด(มหาชน) ถือได้ว่ามีการพัฒนาศักยภาพขององค์กรและผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันด้านราคา ความสามารถในการผลิต รวมทั้งการจัดการทรัพยากรในบริษัทฯ

.

องค์ความรู้ต่างๆ ที่บริษัทฯ มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้นคว้าวิจัยพลาสติกชีวภาพ (Biopolymer) เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม การสร้างสรรผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยลดหรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

.

.
อุตสาหกรรมพลาสติก

พลาสติกเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีการคิดค้นกันตั้งแต่ปี ค.ศ.1839 การดำรงชีวิตโดยปราศจากพลาสติกคงเป็นไปได้ยากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากพลาสติกได้เข้ามาเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันเกือบทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์, ความปลอดภัยในด้านอุปโภคบริโภค หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ 

.

การใช้พลาสติกอย่างแพร่หลายหรือมากเกินไป ก็เป็นปัจจัยในด้านลบเช่นเดียวกัน โดยการผลิตถุงเฉพาะหูหิ้วอย่างเดียวมากกว่าปีละ 3 แสนตันทั่วโลก ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะแวดล้อมของโลกอย่างยิ่ง

.

การย่อยสลายของพลาสติกอาจใช้เวลามากกว่า 100 ปี เพื่อย่อยสลายกลับไปสู่ธรรมชาติได้ด้วยคุณสมบัติด้านความคงทนของพลาสติกดังกล่าว นำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางออกหนึ่งของปัญหาก็คือ การทำให้พลาสติกสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติและกลับกลายเป็นวัตถุธาตุในดิน สามารถปลูกพืชได้และไม่มีสารพิษตกค้างในธรรมชาติอีกต่อไป

.
ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมัลติแบกซ์ กำลังพัฒนาอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการดังนี้
1. การนำกลับมาใช้ใหม่ 

โดยการผลิตถุงพลาสติกจากเศษพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยการนำเศษพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำการผสมกับสารธรรมชาติที่มาจากพืชที่มีอยู่ในประเทศไทย เช่น แป้ง จำนวน 50-60% และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกถุงขยะ ถุงเพาะชำ เป็นต้น

.

ซึ่งการนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่นี้ จะช่วยลดการใช้พลาสติกและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ครึ่งหนึ่ง รวมทั้งยังช่วยลดค่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตและความร้อนอันเกิดจากกระบวนการผลิตพลาสติกดังกล่าวลงด้วย

.
ตารางแสดงการย่อยสลายของขยะในแต่ละชนิด

ชนิดพลาสติก 

อายุการย่อยสลาย(ปี)

โฟม

500-1,000

ผ้าอ้อมสำเร็จรูป

500

ถุงพลาสติก

100-450

อะลูมิเนียม

80-100

เครื่องหนัง

25-40

ก้นบุหรี่

12

ถ้วยกระดาษเคลือบ

5

เปลือกส้ม

6

เศษกระดาษ

2-5

.
2.  การกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ทางบริษัทฯ ได้นำพลาสติกบางชนิดที่ย่อยสลายได้มาทำการผสมกับสารธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย คือแป้ง 40-50% มาทำการผลิตเป็นเม็ดไบโอพลาสติกและนำไปขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นดิน และนำไปปลูกพืชได้เมื่อมีการฝังกลบ ซึ่งขณะนี้บางประเทศในทวีปยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา ได้มีการกำหนดมาตรฐานของถุงพลาสติกที่ย่อยสลายได้ ดังนี้คือ

.

• American Society for Testing and Materials ASTM-6400-99
• European Standardization Committee (CEN) EN13432
• International Standards Organization (ISO) DIN V49000

.

พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่กล่าวมานี้ยังสามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากกมลภาวะทางอากาศ เช่น ภาวะโลกร้อนอันเกิดจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น การลดลงของโอโซน หมอกควันที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิง มลภาวะทางน้ำ เช่น แหล่งน้ำมีความเป็นกรดหรือมีแร่ธาตุมากเกินไปซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ และมลภาวะทางดิน

.

เช่น การมีขยะพลาสติกที่ทับถมซึ่งย่อยสลายได้ยากและใช้เวลานาน แต่การใช้พลาสติกย่อยสลายได้นั้นสามารถช่วยลดปัญหาทรัพยากรดิน น้ำและอากาศได้ เนื่องจากพลาสติกเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ด้วยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติทำให้ไม่เกิดการสะสมของขยะ ไม่ต้องกำจัดด้วยการเผา และเมื่อย่อยสลายแล้วก็ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการแยกขยะอินทรีย์จากต้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.
3. แปรรูปธรรมชาติสู่ดิน

ทางบริษัทฯ ได้มีการวิจัยและทดลองผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Polymer) โดยทำการแปรรูปแป้งด้วยวิธีการหมักบ่มและสกัดแยกคาร์บอนด้วยกระบวนการทางไบโอเทคโนโลยี มาเป็นเม็ดไบโอพลาสติก สารชนิดนี้เรียกว่า PHA คุณสมบัติของ PHA นี้ สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มห่อของมีความใส สวยงาม

.

สามารถพิมพ์สีธรรมชาติลงบนพื้นผิว ย่อยสลายกลับไปสู่ธรรมชาติโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สาร PHA นี้สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มชนิดต่างๆ เช่น ฟิล์มห่อดอกไม้, ซองใส่ขนมขนาดเล็ก และเมื่อเติมเส้นใยธรรมชาติเข้าไปก็สามารถทดแทนกระดาษได้เช่นเดียวกัน

.

ทั้ง 3 แนวทางที่กล่าวมานี้ น่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก ในอนาคตอันใกล้นี้ทางบริษัทฯ เตรียมการลงทุนและกำลังจัดตั้งโรงงานใหม่พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักรแบบใหม่ เพื่อเริ่มโครงการนำร่องในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Biopolymer) ซึ่งประสบความสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจ

.

ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากนวัตกรรมดังกล่าวจะทำการขายในประเทศเพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยเป็นสำคัญ ส่วนที่เหลือจะทำการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่ให้ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสูง และมีการออกกฎหมายบังคับในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง

.
โอกาสของบริษัท มัลติแบกซ์ในการสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่เข้มแข็ง

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบชีวมวลและผลผลิตจากการเกษตรได้แก่    ข้าวเจ้า อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น โดยผลผลิตทางการเกษตรที่มีส่วนประกอบของแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) น้ำตาล (กลูโคส) หรือเส้นใย (เซลลูโลส) เหล่านี้สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

.

เมื่อผนวกกับความแข่งขันได้ด้านราคาและความสามารถในการเพาะปลูกของประเทศไทยแล้ว จึงถือได้ว่าประเทศไทยมีข้อได้เปรียบมาก และเมื่อเปรียบเทียบราคาแป้งมันสำปะหลังกับแป้งที่ทำจากพืชชนิดอื่นตามราคาตลาดโลก แป้งมันสำปะหลังจะมีราคาถูกที่สุด

.

อีกทั้งประเทศไทยยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วย โดยในปี 2548 ประเทศไทยผลิตหัวมันสำปะหลังสดได้ทั้งหมด 16.94 ล้านตัน และส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นปริมาณ 4.6 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนตลาดร้อยละ 85.5 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมากกว่า 40,000 ล้านบาท

.

ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพนั้น จะทำให้เห็นได้ว่า ในปัจจุบันการแปรรูปมันสำปะหลังเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลังยังมีราคาต่ำและยังขึ้นอยู่กับปัจจัยจากตลาดต่างประเทศทั้งในเรื่องราคาและปริมาณความต้องการที่ไม่แน่นอนโดยก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากมันสำประหลังได้ 2 เท่า

.

คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่หากมีการแปรรูปมันสำปะหลังไปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่าก็จะมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท

.

จุดแข็งของประเทศไทยอีกข้อหนึ่งคือ อุตสาหกรรมปลายน้ำของประเทศไทย อันได้แก่การผลิตชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์พลาสติก จัดเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพระดับต้นน้ำได้อย่างครบวงจร ทำให้มีช่องทางและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกได้หลายประเภท โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทย  

.

ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและย่อมทั้งหมดประมาณ 4,000 โรงงาน โดยเป็นธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ ร้อยละ 41.9 ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ตามด้วยกลุ่มผู้ผลิตของใช้ในบ้าน-ในครัวประมาณ ร้อยละ 16.9 ธุรกิจการผลิตเม็ดพลาสติกคอมพาวดิ้ง ร้อยละ 5.1 ตามลำดับ

.

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นปริมาณสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเป็นอันดับ 8 ของโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แผ่นฟิล์ม ฟอยล์-แถบ เส้นใยสังเคราะห์ ถุงกระสอบ เป็นต้น ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่

.

ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในอาเซียน มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกปี พ.ศ.2543-2546 มีอัตราเติบโตสูงกว่า ร้อยละ 40 ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 51,000 ล้านบาทในปี พ.ศ.2546 และเมื่อรวมมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4 ของมูลค่าสินค้าส่งออกของประเทศ โดยคิดเป็นมูลค่า 140,000 ล้านบาท

.

ในปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยในสาขาต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำอย่างครบวงจร ซึ่งสามารถทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งบริษัทฯ ได้ก่อตั้งสำนักวิจัยและพัฒนา ประกอบด้วยนักวิจัยและทีมงานที่มีความรู้เกี่ยวกับ Biotechnology เข้ามาศึกษาวิจัยงานด้านต่างๆ จนสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศไทยมาพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

.

อุตสาหกรรมนี้จะช่วยภาคเศรษฐกิจที่เริ่มต้นตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม ตลอดจนถึงอุตสาหกรรมพลาสติก จะเกิดการจ้างแรงงานใหม่ๆ การขยายตัวของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นทางตลอดสายการผลิตทุกช่วงและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมากในอนาคต

.

บริษัทฯ คาดว่าจะเริ่มทำการผลิต PHB ในระดับอุตสาหกรรมในปี พ.ศ. 2553 โดยทางเรามีความยินดีที่จะทำการส่งเสริมและสนับสนุนวัตถุดิบให้กับหน่วยงานราชการเพื่อใช้ในการทำวิจัยและต่อยอดให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

.

และหากมีบริษัทฯหรือหน่วยงานเอกชนใดสนใจจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากผลิตเป็นถุงพลาสติก ทางเราก็จะจำหน่ายให้ในราคาพิเศษ ทั้งนี้เพื่อทำการส่งเสริมธุรกิจสีเขียวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการช่วยภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย