เนื้อหาวันที่ : 2009-10-14 11:21:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2530 views

ป้องกันภัยจากไฟฟ้าอย่างไรในฤดูฝน

ในฤดูฝนนอกจากจะเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ภัยจากไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งภัยร้ายแรงที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ปภ.มีข้อแนะนำในการป้องกันให้คุณปลอดภัยจากไฟฟ้า

.

ในช่วงฤดูฝน นอกจากประชาชนจะต้องเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แล้ว อุบัติภัยจากไฟฟ้าก็เป็นภัยอีกประเภทหนึ่งที่มักเกิดเป็นประจำในช่วงดังกล่าว โดยมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าชำรุด รวมทั้งความชื้นของบ้านเรือนจากการที่มีฝนตกลงมา ซึ่งน้ำเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าอย่างดี จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้า 

.

และเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงอุบัติภัยจากไฟฟ้าในช่วงฤดูฝน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เลยฝากแนะนำการป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าช่วงฤดูฝน ดังนี้ 

.

• หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าทั้งที่อยู่ภายในบ้านและบริเวณนอกบ้านให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี รวมถึงตรวจสอบการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า โดยใช้หลังมือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือใช้วิธีดับไฟและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกจุด หากพบว่ามิเตอร์ไฟฟ้ายังทำงาน แสดงว่ามีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า

.

หากพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดหรือมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ต้องเรียกช่างที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการแก้ไขในทันที หากเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ ควรเช็ดให้แห้งก่อนนำไปใช้งาน เพราะอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนถึงขั้นระเบิด ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทที่อยู่บริเวณนอกบ้าน เช่น กระดิ่งไฟฟ้า ควรเลือกชนิดกันน้ำได้ เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูดขณะสัมผัส เป็นต้น

.

• หากต้องสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะ เช่น พัดลม มอเตอร์ ตู้เย็น เป็นต้น ควรใช้ไขควงตรวจสอบว่ามีไฟฟ้ารั่วลงที่โครงโลหะหรือไม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ควรติดตั้งสายดินหรือระบบป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วกับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยๆ

.

เช่น พัดลม เตารีด เมื่อจะจับต้องควรยืนบนพื้นฉนวน เช่น แผ่นไม้ แผ่นยางแห้ง เป็นต้น หรือสวมรองเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูดหากเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว

.

.

• ปลดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือปิดสวิตช์อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ออกในช่วงที่ฝนตกฟ้าคะนอง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ วิทยุ เนื่องจากแม้จะปิดสวิตช์ไฟฟ้าแล้วก็ตาม กระแสไฟฟ้าซึ่งมีปริมาณสูงมากจากฟ้าผ่าอาจไหลตามสายไฟเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า สร้างความเสียหายหรือเกิดเพลิงไหม้ได้ หากต้องการเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า ร่างกายต้องแห้งสนิท หากไม่แน่ใจ ควรสวมรองเท้าก่อนเสียบปลั๊ก

.

• กรณีเกิดน้ำท่วมสวิตช์ไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ ให้รีบสับสวิตช์ลงก่อนเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว แล้วย้ายสวิตช์ไฟให้พ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง จากนั้นให้แจ้งช่างไฟฟ้าที่ชำนาญหรือแจ้งการไฟฟ้าฯ มาดำเนินการ ไม่ควรดำเนินการซ่อมแซมเอง เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

.

• การช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูด โดยเฉพาะไฟฟ้าแรงสูง ห้ามจับต้องโดยตรง ควรสวมรองเท้าและนำไม้แห้งๆ เขี่ยสายไฟออก กรณีถูกไฟฟ้าในบ้านซึ่งเป็นไฟฟ้าแรงต่ำดูด ห้ามสัมผัสตัวคนที่กำลังถูกไฟฟ้าช็อตโดยตรง ควรสวมรองเท้า และนำวัสดุที่มีลักษณะเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า

.

เช่น ผ้าแห้ง ไม้ ผลักหรือดึงผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกจากบริเวณดังกล่าวก่อน ห้ามใช้วัสดุที่เปียกน้ำหรือโลหะเขี่ยสายไฟอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งปิดสวิตช์ ถอดปลั๊ก หรือปลดคัทเอาต์ลงโดยเร็วที่สุด เมื่อตัดกระแสไฟฟ้าแล้วจึงทำการปฐมพยาบาล หากอาการยังไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

.

ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหนๆ เราก็ควรหมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้า สายไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดทั้งภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างวม่ำเสมอ หากพบว่าชำรุดหรือกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ให้รีบแจ้งช่างที่มีความชำนาญดำเนินการแก้ไข และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพื่อป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษนะคะ

.

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย