เนื้อหาวันที่ : 2009-10-08 09:59:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2175 views

จริงหรือฝันสู่ "ประชาคมอาเซียน" นักรัฐศาสตร์ ม.ธ.ชี้ ต้องฝ่า 9 ด่านอุปสรรค

ความฝันที่จะผลักดันประเทศกลุ่มอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียน ตลอด 41 ปีค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้าทีละเล็กทีละน้อย นักรัฐศาสตร์ ม.ธ.ชี้หากจะทำความฝันให้เป็นจริงต้องฝ่า 9 ด่านอุปสรรคอันใหญ่หลวงไปให้ได้ ขณะที่ "ประชาชน" และ "สิทธิมนุษยชน" ยังคงถูกเมิน

.

ความฝันที่จะผลักดันประเทศกลุ่มอาเซียนไปสู่ประชาคมอาเซียน ตลอด 41 ปีค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้าทีละเล็กทีละน้อย นักรัฐศาสตร์ ม.ธ.ชี้หากจะทำความฝันให้เป็นจริงต้องฝ่า 9 ด่านอุปสรรคอันใหญ่หลวงไปให้ได้ ขณะที่ "ประชาชน" และ "สิทธิมนุษยชน" ยังคงถูกเมิน

.

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาิวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ "อคติที่แอบแฝงสู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ" ที่หอประชุมศรีบูรพา มธ. ท่าพระจันทร์ โดยในช่วงบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ "ชะตากรรมของอาเซียน: จากอคติที่แอบแฝง สู่ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ"

.

9 อุปสรรคสู่ "ประชาคมอาเซียน"

ประภัสสร์ เทพชาตรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในช่วง 41 ปีนับแต่ก่อตั้งอาเซียนขึ้น มีความสำเร็จหลายเรื่อง อาทิ การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน การกดดันให้เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่นการลดภาษี รวมถึงมีการประกาศใช้กฏบัตรอาเซียนเมื่อธันวาคมปีที่แล้ว โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างไรก็ตาม มีสิ่งท้าทายอาเซียน 9 เรื่องอันจะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ความร่วมมือไปสู่ประชาคมไม่ใช่เรื่องง่าย ได้แก่

.

1. ประชาธิปไตย สมาชิก 10 ประเทศ ประเทศใดเป็นประชาธิปไตยบ้าง พม่า ลาว กัมพูชา เีวียดนาม ไทยก็ล้มลุกคลุกคลาน มาเลเซีย ไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ สิงคโปร์ มีพรรครัฐบาลพรรคเดียว เสรีภาพของสื่อไม่มี วิพากษ์รัฐบาลไม่ได้ อินโดนีเซียดีหน่อย บรูไนไม่ใช่ประชาธิปไตย ฟิลิปปินส์ดีหน่อย  

.

สรุปแล้ว ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศยังมีปัญหา ในกรอบของอาเซียนเอง กลไกเรื่องประชาธิปไตยก็ไม่มี กลไกที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็ไม่มี แม้ในกฎบัตร มาตรา 14 จะเขียนไว้ว่าจะมีการจัดตั้ง แต่ก็เป็นห่วงว่าบทบาทหน้าที่ของกลไกนี้ที่สุดแล้วจะไม่มีเขี้ยวเล็บ

.

2. ความขัดแย้งทางด้านการเมือง-ความมั่นคง ในแผนงานเขียนไว้ว่า ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนจะอยู่อย่างสันติ ไม่ขัดแย้ง แต่ข้อเท็จจริง ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไทยมีกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา รวมถึงปัญหาเขตแดนกับลาว กับพม่า กับมาเลเซีย อินโดนีเซียเองก็มีปัญหากับมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์  

.

เรื่องใหญ่คือประเทศสมาชิกอาเซียนต่างไม่ไว้วางใจต่อกัน ต่างมองว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู โดยตั้งแต่มีการประชุมอาเซียนครั้งแรกเมื่อ 2510 แทบไม่เคยมีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนเลย เพราะเราไม่ไว้วางใจกัุน เพิ่งมามีเมื่อ 2549 นี่เอง ดังนั้น เมื่อคิดแบบนี้กับประเทศเพื่อนบ้าน ประชาคมอาเซียนก็ไม่มีทางเกิดขึ้น

.

3. เศรษฐกิจ ในบาหลีคอนคอร์ด 2 อาเซียนตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเป็นประชาคมเศรษฐกิจ โดยเป็นตลาดร่วม ซึ่งตามทฤษฎีจะเป็นตลาดร่วมอย่างแท้จริงได้ต้องมีความเป็นเสรีใน 4 ด้านคือภาคสินค้า บริการ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงงาน ซึ่งอาเซียนรู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นในรายละเอียดจะเห็นว่าอาเซียนระบุว่า จะเป็นเสรีด้านสินค้าและบริการและจะเป็นเสรีมากขึ้นในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน

.

ส่วนด้านแรงงาน ตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีทางเสรีได้ โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ เพราะไทย สิงคโปร์และบรูไน ไม่พร้อม เนื่องจากมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจอย่างมากระหว่างประเทศรวย-จนในอาเซียน สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงที่สุดในเอเชีย ขณะที่ลาว กัมพูชาและพม่ายังจนอยู่เกือบจะที่สุดในโลก

.

ดังนั้น เมื่อมาอยู่รวมกันและจะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจจึงค่อนข้างยากลำบาก ถ้าเปิดเสรีเรื่องแรงงาน คนจนในพม่าก็ย่อมต้องการย้ายถิ่นฐานไปในประเทศที่ดีกว่า คงจะเกิดการย้ายถิ่นฐานมโหฬารซึ่งประเทศเจ้าของบ้านก็คงไม่ยอมรับ

.

นอกจากนี้ ปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกข้อที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งคือ ลึกๆ แล้วประเทศอาเซียนต่างมองประเทศสมาชิกอื่นเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มองเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เช่น ไทยเองมองมาเลเซียเป็นคู่แข่ง และมองเวียดนามว่ากำลังหายใจรดต้นคอไทย

.

4. บูรณาการในเชิงลึก ตามทฤษฎีแล้ว การรวมตัวทางเศรษฐกิจต้องเริ่มจากเอฟทีเอ-สหภาพศุลกากร -ตลาดร่วม- สหภาพเศรษฐกิจ ขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) นั้นอยู่ที่ขั้นที่ 4 คือสหภาพเศรษฐกิจ ขณะที่อาเซียนจากเอฟทีเอ เป็นอาฟต้า และกำลังพัฒนาเป็นตลาดร่วม แต่ยังไม่สมบูรณ์  

.

อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2558 เมื่อเป็นตลาดร่วมได้แล้ว ดูเหมือนอาเซียนจะยังไม่กล้าคิดว่าจะพัฒนาเป็นอะไรต่อ ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ก็ความพัฒนาเป็นสหภาพเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีเงินสกุลเดียวกัน มีนโยบายการค้าเดียวกัน นี่เป็นสิ่งท้าทายอาเซียนในระยะยาว

.

5. บูรณาการในเชิงกว้าง อาเซียนรวมตัวกันเพื่อความแข็งแกร่งและมีอำนาจต่อรองในเวทีโลก แต่จะรวมกันอย่างไร อาเซียนก็ยังเป็นเพียง 10 ประเทศเล็กๆ จนๆ อย่างมากก็มีติมอร์เข้ามา แต่ก็จะไม่ได้ทำให้อาเซียนมีอะไรแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นอาเซียนจึงมาถึงทางตันในเรื่องบูรณาการในเชิงกว้าง

.

ผิดกับสหภาพยุโรปที่ขยายสมาชิกออกไปเรื่อยๆ เพื่อครอบคลุมทวีปยุโรปทั้งหมด ดังนั้น อาเซียนอาจต้องมองนอกกรอบออกไปเป็น อาเซียน +3หรืออาเซียน +6 ดึงญี่ปุ่น เกาหลี จีน เข้ามาแล้วรวมเป็นกลุ่มเอเชียตะวันออก ซึ่งขณะนี้มีความพยายามทำ แต่ยังไปไม่ถึงไหน

.

6. ความสัมพันธ์์ระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค จะมียุทธศาสตร์กับจีน สหรัฐ และยุโรป อย่างไรให้ได้ดุลยภาพ

.

7. ความแตกต่าง ระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาของประเทศสมาชิกอาเซียนแตกต่างกัน บางคนอาจมองว่า มีความหลากหลาย แต่ก็เป็นตัวฉุดให้อาเซียนไม่สามารถสร้างอัตลักษณ์ร่วมขึ้นมาได้ ผิดกับยุโรปที่ระบบการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติเดียวกัน ทำให้รวมกันง่าย

.

8. กลไกอาเซียน ต้องเป็นประชาคมของประชาชนอาเซียน ไม่ใช่ของกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ปัจจุบันเรื่องของอาเซียนยังเป็นเรื่องของข้าราชการ ประชาชนมีความรู้เรื่องอาเซียนและความผูกพันกับอาเซียนน้อยมาก

.

9. กฎบัตรอาเซียน เมื่อปี 2488 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก่อตั้งขึ้นและมีกฎบัตรสหประชาชาติเป็นกฎหมายสูงสุด ขณะที่อาเซียนเกิดมาโดยมีแค่ปฏิญญากรุงเทพฯ และอยู่มา 40 ปีโดยไม่มีกฎบัตร ไม่ได้จดทะเบียน ตลอดเวลา 40 ปีอาเซียนจึงเป็นสมาคมเถื่อน ไม่มีสถานะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อมาในปี 2549 ก็มีการตั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิเืพื่อเสนอรายงานร่างกฎบัตร หลายคนที่มองโลกในแง่ดีก็หวังว่ากฎบัตรอาเซียนจะเป็นพิมพ์เขียวสำหรับความร่วมมือของอาเซียน ซึ่งนับว่าคาดหวังสูงมาก  

.

แต่เมื่อเริ่มร่างจริงโดยข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสิบประเทศก็กลับไปเจอปัญหาเดิมๆ เช่น รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากลัวว่าถ้าเขียนกฎบัตรแล้วจะัมีกลไกมาแทรกแซง หรือมีกติกาลงโทษตนเอง จึงตัดหลายจุดทิ้ง กลายเป็นกฎบัตรที่ถูกตัดทอนไปเยอะ ทำให้เมื่อประกาศแล้ว แต่ก็ยังใช้ไม่ได้หลายจุด อาทิ

.

วัตถุประสงค์ซึ่งไม่ได้ระบุว่าหลังเป็นประชาคมแล้ว อาเซียนจะพัฒนาต่อไปอย่างไร หลักการที่ถอยหลังลงคลองเรื่องการยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ขณะที่โลกยุคปัจจุบัน ยูเอ็นต้องแทรกแซงหากสมาชิกทำผิด แต่อาเซียนแม้สมาชิกทำผิด หรือละเมิดอย่างร้ายแรง เช่น หากสมาชิกมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาเซียนก็ยุ่งไม่ได้เพราะเป็นกิจการภายใน ช่วงที่เกิดพายุไซโคลนนาร์กีส คนที่เข้าไปก่อนเลขาธิการอาเซียนกลับเป็นเลขาธิการยูเอ็น เพราะอาเซียนอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย

.

นอกจากนี้ เรื่องของกลไกสำหรับประชาชนก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนได้อย่างไร สำนักเลขาธิการอาเซียนเองแม้จะมีบทบาท แต่ก็เทียบกับเลขาฯ ยูเอ็นไม่ไ่ด้ เพราะแต่ละประเทศกลัวสูญเสียอธิปไตย หรือกลัวว่าระบอบเผด็จการของตัวเองจะถูกแทรกแซง จึงไม่ให้เลขาฯ อาเซียนมีบทบาทนัก

.

หลักการตัดสินใจยังยึดหลักฉันทามติ คือ ทุกประเทศต้องเห็นร่วมกัน ถ้า 9 ประ้เทศเอา พม่าไม่เอา ก็จะไม่ผ่าน พม่าจึงมีอำนาจวีโต้ตลอดเวลา แม้ผู้ทรงคุณวุฒิจะเสนอเสียงข้างมาก แต่อาเซียนก็ยังยึดแบบเดิม รวมถึงไม่มีการระบุถึงมาตรการลงโทษประเทศสมาชิกที่ไม่ทำตามกฎบัตรด้วย

.
ไม่มี "ประชาชน" - "สิทธิมนุษยชน" ในอาเซียน

ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้อำนวยการโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เวลาพูดถึงอาเซียน เราจะนึกถึงกระทรวงการต่างประืเทศ โดยในแต่ละปีมีการประชุมอาเซียนกว่า 700-800 ครั้ง เมื่อมีกฎบัตร จะมีการประชุมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งทั้งหมดคือภาษีของประชาชน

.

ขณะที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน มักบอกว่า ต้องการทำให้อาเซีัยนมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นี่เป็นวาทกรรมใหม่ โดยเธอได้ลองดูในกฎบัตรว่าพูดถึง "ประชาชน" มากน้อยเพียงใดก็พบว่ามี "WE, THE PEOPLES …" (เรา ประชาชน...) ซึ่งลอกมาจากกฎบัตรสหภาพยุโรป อยู่ในตอนต้นของกฎบัตร  

.

แต่หลังจากนั้นแทบไม่เห็น "ประชาชน" อีกเลย เพราะเมื่อพูดถึงการเคลื่อนย้ายของประชาชน ก็พูดถึงแต่กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงานที่มีฝีมือ ขณะที่ในภูมิภาคมีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก รวมถึงชาวโรฮิงยาซึ่งไม่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวจะถูกจับและถูกส่งกลับ

.

ต่อมาคือ เรื่องของสิทธิมนุษยชน เอกสารฉบับแรกของอาเซียนซึ่งกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน คือ แถลงการณ์ร่วมปี 2536 ซึ่งมี 3 ย่อหน้า และเยอะที่สุดในแถลงการณ์ร่วมของอาเซียน 1993 โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะเป็นจังหวะเดียวกับที่มีการประชุมเรื่องสิทธิิมนุษยชนที่กรุงเวียนนา เพื่อไม่ให้ตกกระแส จึงมีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย  

.

นอกจากนี้แล้วในแถลงการณ์ร่วมปี 2541 ซึ่งตรงกับวาระครอบรอบ 50 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิิมนุษยชน ก็มีการกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนเอาไว้ ในกฎบัตรอาเซียน ก็พูดถึงกลไกสิทธิมนุษยชนเอาไว้ในหลักการ แต่ยังไม่เห็นว่าหน้าตาของกลไกสิทธิมนุษยชนจะเป็นเช่นไร

.

ตอนต้นของกฎบัตรพูดถึงหลักการอยู่ร่วมกันของอาเซียน 6 หลักการคือ จะเป็นอาเซียนที่เคารพเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียมกัน บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกลักษณ์ของประเทศสมาชิก เคารพสิทธิของรัฐในการบริหารประเทศตัวเอง และจะไม่แทรกแซงกิจการภายใน รวมถึงจัดการความขัดแย้งโดยใช้สันติวิธี ไม่ใช้กำลัง และร่วมมือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีหลักการที่ไม่เป็นคุณกับประชาชน 2 อย่าง คือ

.

หลักการเรื่องอธิปไตยของชาติและไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพราะทำให้อาเซียนไม่พูดจาอะไร เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมื่อเกิดไซโคลนนาร์กีส อาเซียนลังเลอยู่นานก่อนจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ

.

ทั้งที่ในกฎบัตรอาเซียนมีกรรมการชุดหนึ่งซึ่งว่าด้วยการจัดการมหันตภัย ซึ่งก็อาจอ้างได้ว่าเนื่องจากกฎบัตรอาเซียนยังไม่มีผลบังคับใช้ กรรมการที่ตั้งขึ้นจึงยังไม่มีอำนาจเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นอาเซียนเริ่มกระตือรือล้นมากขึ้น เมื่อพม่าปฏิเสธประชาคมโลกนอกภูมิภาค

.

นอกจากนี้ ที่มีการพูดว่า One region one identity ภูมิภาคเดียวกันอัตลักษณ์เดียวกัน การมีอัตลักษณ์เดียวกันเป็นเรื่องน่ากลัว แปลว่าความแตกต่างในอาเซียนอาจถูกลบหายไป เพราะต้องการสร้างอัตลักษณ์เดียวกัน

.

ส่วนการเข้าเป็นสมาชิก โดยเงื่อนไขของอาเซียนมี 3-4 อย่างคือ มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิก ตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตร และสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกภาพ อย่างไรก็ตาม ในกฎบัตรอาเซียนก็ไม่ได้พูดถึงพันธกรณีในฐานะสมาชิกภาพเอาไว้

.

ส่วนกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง มีการระบุไว้เพียงว่า อาเซียนจะประชุมเพื่อตัดสินใจร่วมกัน (มาตรา 20) และจบ ขณะที่การเป็นสมาชิกของอียูไม่ได้เป็นง่ายๆ โดยมีการระบุว่าผู้จะเข้าเป็นสมาชิกต้องเชื่อมั่นและเคารพในหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมถึงหลักการบางอย่างซึ่งเป็นคุณค่าร่วมกัน ซึ่งอาเซียนไม่มีตรงนี้

.

โดยเห็นได้จากเมื่อปี 2513-2518 เมื่อเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา มีคนถูกฆ่าเกือบ 2 ล้านคน อาเซียนไม่ไ้ด้ทำอะไรเลย ขณะที่เมื่อเวียดนามบุกพนมเปญ และสามารถยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ เวียดนามกลับถูกประชาคมอาเซียนประณามอยู่ 11 ปี พร้อมกดดันให้สหประชาชนประณามเวียดนามเช่นเดียวกัน

.

ต่อมาในปี 2518 เมื่อติมอร์ตะวันออกได้รับการปลดปล่อยจากโปรตุเกส อินโดนีเซียส่งกองกำลังเข้าไปในติมอร์ตะวันออกทันที มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน อาเซียนไม่ทำอะไรเลย เพราะอินโดนีเซียเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน หลังจากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง รวมถึงไซโคลนนาร์กีส เราก็จะไม่เห็นอาเซียนพูดอะไรเช่นเดียวกัน

.

รวมถึงสิ่งที่เกิดในพม่าตั้งแต่ 2528 มีคนพม่าหนีอพยพเข้ามาอย่างไม่เป็นทางการประมาณ 3 ล้านคนในไทย ในมาเลเซียอีกนับแสน รวมถึงประเทศอื่นๆ ถามว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า ทำไมสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นจึงหลับหูหลับตาโดยไม่สนใจชะตากรรมของประชาชนในอาเซียน

.

ดังนั้น ถ้าอาเซียนต้องการสร้างประชาคมจริงๆ ไม่สามารถเป็นอาเซียนของผู้นำ ต้องเป็นของประชาชน สอง ถ้าประชาชนไม่เอื้ออาทรซึ่งกันและกันก็ไม่สามารถมีประชาคมอาเซียนได้ สาม ต้องมีคุณค่าร่วมกันบนพื้นฐานของประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท