เนื้อหาวันที่ : 2009-10-08 09:05:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1234 views

การลงทุนกระเตื้อง 9 เดือนแตะ 3 แสนล้าน

บีโอไอเผย การลงทุนปรับตัวดีขึ้นยอดขอรับส่งเสริม 9 เดือนแตะ 3 แสนล้าน ยอดเอฟดีไอมากกว่า 1.36 แสนล้านบาท มั่นใจสิ้นปีเป็นไปตามเป้า 4 แสนล้าน

บีโอไอเผย ภาวะการลงทุนของไทยปรับตัวดีขึ้น ช่วง 9 เดือน มียอดขอรับส่งเสริม 3 แสนล้านบาท โดยเป็นยอดเอฟดีไอมากกว่า 1.36 แสนล้านบาท เลขาธิการบีโอไอ คาดแนวโน้มดีถึงสิ้นปี และทำให้การส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามเป้า 4 แสนล้านบาท 

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมของยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของไทยมีทิศทางที่ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุน โดยในช่วง 9 เดือน (ม.ค-ก.ย.52) มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอรวมทั้งสิ้น 810 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน รวม 302,700 ล้านบาท 

.

"แม้ว่าจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนของช่วง 9 เดือนในปีนี้ จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มีทั้งสิ้น 922 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 332,200 ล้านบาท แต่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 2552 และเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วง 3 เดือนล่าสุดนี้

.

แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังให้ความสำคัญกับการเข้ามาลงทุนในกิจการในประเทศไทย โดยมั่นใจว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะดีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี และทำให้เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ 4 แสนล้านบาท" เลขาธิการบีโอไอกล่าว 

.

อุตสาหกรรมที่นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีจำนวนทั้งสิ้น 281 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 174,000 ล้านบาท รองมาคือ กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มี 126 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 38,000 ล้านบาท 

.

กิจการ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 135 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 31,000 ล้านบาท กลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด เป็นกลุ่มนักลงทุนจากญี่ปุ่น อาเซียน และยุโรป ตามลำดับ 

.

สำหรับภาพรวมของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2552) มียอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 488 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 136,409 ล้านบาท มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ ในช่วง 8 เดือน มีนักลงทุนสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ 407 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 85,267 ล้านบาท 

.

โดยกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดจำนวน 176 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 45,574 ล้านบาท รองมาคือ การลงทุนจากกลุ่มยุโรป มี 102 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,757 ล้านบาท อันดับ 3 คือกลุ่มอาเซียน มี 75 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 15,684 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา แม้จะมีจำนวนโครงการไม่มากนัก 32 โครงการ แต่เป็นโครงการขนาดใหญ่ จึงมีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 25,522 ล้านบาท

.

ทั้งนี้การขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ปรับขึ้นเป็นผลมาจากทิศทางการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเป้าหมายของบีโอไอ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอ ได้เร่งจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน รวมถึงการเข้าไปเปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น อาทิ การลงทุนจากเกาหลี มีมูลค่าเงินลงทุน 5,961 ล้านบาท

.

ในขณะที่การเปิดสำนักงาน บีโอไอในจีนอีก 2 แห่ง คือ กรุงปักกิ่งและกวางโจว ส่งผลให้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากจีนสูงถึง 10,427 ล้านบาท รวมทั้งการเดินทางไปชักจูงการลงทุนที่ประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจากอินเดียสูงถึง 4,622 ล้านบาท

.