ก.ล.ต. กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และบริษัทหลักทรัพย์ที่จำหน่ายหน่วยลงทุน (LBDU) เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและนโยบายการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศสำหรับกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศตั้งแต่ร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม |
. |
ก.ล.ต. ออกแนวทางดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลตอบแทนในการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จึงกำหนดให้ บลจ. และ LBDU ต้องคำนึงถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อย่างชัดเจนและเพียงพอ เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน ความต้องการ และข้อจำกัดของผู้ลงทุนนั้น ๆ |
. |
ทั้งนี้ บลจ. และ LBDU จะต้องเปิดเผยนโยบายการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ในหนังสือชี้ชวนและเอกสารทุกประเภทที่ใช้ประกอบการเสนอขายหน่วยลงทุน โดยระบุว่ามีนโยบายใดใน 4 ประเภท คือ |
. |
(1) ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด (อนุโลมให้ป้องกันความเสี่ยงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนเงินลงทุนสำหรับกองทุนรวมที่มีลักษณะพอร์ตการลงทุนที่เคลื่อนไหว) (2) ป้องกันความเสี่ยงบางส่วน (3) ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนรวม หรือ (4) ไม่ป้องกันความเสี่ยงเลย |
. |
สำหรับกองทุนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด บลจ. และ LBDU จะต้องจัดให้มีคำเตือนเพิ่มเติมไว้ในหน้าแรกของหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญและเพื่อให้ผู้ลงทุนตระหนักว่า มีโอกาสที่จะขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ บลจ. และ LBDU ต้องมีหลักฐานแสดงได้ว่า ผู้ลงทุนรับทราบคำเตือนดังกล่าวแล้วก่อนทำรายการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้น |
. |
ส่วนกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์การลงทุนครั้งเดียว แล้วถือตราสารจนครบกำหนดอายุ (buy and hold)และไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลการคาดการณ์ผลตอบแทนในอนาคตต่อผู้ลงทุน |
. |
ก.ล.ต. หวังว่า ผู้ลงทุนจะให้ความสนใจต่อข้อมูลความเสี่ยงและนโยบายบริหารความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงซักถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนยอมรับได้ |