เนื้อหาวันที่ : 2009-10-06 16:29:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1341 views

สศอ.หนุนสถาบันฯสิ่งทอ สร้างนวัตกรรมสิ่งทอต้นแบบ

สศอ.เดินหน้ายกระดับคุณภาพสิ่งทอไทย อัดงบ 35 ล้านหนุนสถาบันฯสิ่งทอพัฒนานวัตกรรม หวังช่วยลดต้นทุน-สร้างมูลค่าเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น

.

สศอ.เดินหน้ายกระดับคุณภาพสิ่งทอไทย พร้อมอัดงบ 35 ล้านบาท มอบสถาบันฯสิ่งทอเร่งวิจัยต่อยอดพัฒนานวัตกรรม เพิ่มศักยภาพให้ผลิตภัณฑ์และบุคลากร หวังช่วยลดต้นทุน-สร้างมูลค่าเพิ่ม ขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น

.

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้จัดสรรงบประมาณ 35 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพสิ่งทอด้วยเทคโนโลยีฟอกย้อมตกแต่งสำเร็จ ภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัย

.

เน้นการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างนวัตกรรมและความหลากหลาย ทั้งในด้านแฟชั่นและการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การพัฒนาการย้อมเส้นด้าย การย้อมผ้าให้มีคุณสมบัติพิเศษ การพัฒนาตกแต่งผ้าเพื่อต้านการลามไฟ และอีกหลายนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเครื่องจักรที่มีการจัดซื้อ ได้แก่

.

เครื่องย้อมการ์เมนท์ เครื่องอบแห้งสำหรับการ์เมนท์  เครื่องย้อมเส้นด้าย เครื่องกรอเส้นด้าย เครื่องตกแต่งสำเร็จผ้าแบบหน้าเดียว เครื่องคลี่ผ้าและตัดผ้า เครื่องเคลือบผ้า เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังพัฒนาบุคลากร โดยจัดอบรม เผยแพร่ และให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับบุคลากรในโรงงานต้นแบบและบุคลากรในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

.

"การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเป็นการเพิ่มความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มมูลค่าและลดต้นทุน โดยในการดำเนินโครงการฯนี้ สศอ.และสถาบันฯ     สิ่งทอ ได้ร่วมกันศึกษาเป็นขั้นตอนอย่างละเอียด ตั้งแต่สำรวจข้อมูลพื้นฐานทั้งในด้านของเทคโนโลยีและความต้องการของโรงงาน และจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อผลิตสินค้าต้นแบบ

.

โดยมุ่งเน้นสร้างความหลากหลาย และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมๆ กัน เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งท้ายที่สุดอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยก็จะสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน"

.

นายอุดม กล่าวว่า โครงการได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งผลงานเป็นที่น่าพอใจ โดยในปีแรก จะเน้นการเก็บข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ทราบถึงสถานะปัจจุบันของเทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรต้นแบบแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนห้องปฏิบัติการทดลอง และส่วนโรงงานต้นแบบ ที่มีการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสำหรับฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ รวมทั้งพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

.

"ในปีงบประมาณ 2553 มีแผนดำเนินโครงการต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Textile product development) เช่น การพัฒนาการย้อมเส้นด้ายและผ้าด้วยสีธรรมชาติ การพัฒนาตกแต่งสำเร็จเส้นด้ายและผ้าเชิงกล เพื่อมีคุณสมบัติพิเศษ การพัฒนาตกแต่งสำเร็จผ้ามีคุณสมบัติพิเศษด้วยสารตกแต่งจากธรรมชาติ การพัฒนาย้อมสีผ้าปลอดสารเอโซ (Azo dye free) เป็นต้น

.

เนื่องจากกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป จึงต้องมีการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยเพื่อใช้แข่งขันในตลาดได้"

.
ที่มา : สำนักงานเศรษกิจอุตสาหกรรม