เนื้อหาวันที่ : 2009-10-06 14:09:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13448 views

การพัฒนาเศรษฐกิจตาม Economic Growth Theory

ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนได้กลายเป็นหัวข้อวิจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมสนใจศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของเงินทอง ตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ หากแต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกอีกด้วย บทความนี้จะพาไปรู้จักกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามทฤษฎีการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในแบบต่าง ๆ

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ      

.

.

วิชาเศรษฐศาสตร์นับเป็นวิชาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่น ๆ ได้มากมาย ด้วยเหตุนี้เองทำให้พรมแดนทางความรู้ของวิชาเศรษฐศาสตร์จึงกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีจำเป็นต้องเข้าใจแก่นแท้ของวิชา โดยเฉพาะการนำเอาหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์มาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม  

.

ยกตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่สนใจเรื่องของอาชญากรรมในเมืองใหญ่ ได้ศึกษามูลเหตุจูงใจของการก่ออาชญากรรมในมิติทางเศรษฐศาสตร์ เช่น งานของ Gary Becker (รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1992) หรือปัจจุบันปัญหาโลกร้อนได้กลายเป็นหัวข้อวิจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมสนใจศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาดังกล่าว เช่นงานของ William R.Cline เป็นต้น     

.

(สำหรับ Cline เคยเขียนหนังสือชื่อ Economics of Global Warming ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยผลกระทบของโลกร้อนโดยหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1992 ก่อนที่โลกจะตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน) จะเห็นได้ว่าเศรษฐศาสตร์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของเงินทอง ตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน ฯลฯ หากแต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกอีกด้วย  

.

ทั้งนี้กรอบคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์มีความน่าสนใจในฐานะที่เป็นปรัชญาการจัดการเศรษฐกิจ เป็นเทคนิคการวิเคราะห์พยากรณ์ทิศทางเศรษฐกิจหรืออาจเป็นการสำแดงฤทธิ์เดชทางคณิตศาสตร์เพื่อพิสูจน์ปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนอยู่ในกรอบคิดของ นักเศรษฐศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น สำหรับเนื้อหาในฉบับนี้ผู้เขียนจะขอนำท่านผู้อ่านกลับมาในยุคร่วมสมัย (หลังจากพาท่านไปท่องอดีตเสียนาน) โดยจะกล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจตามทฤษฎีการเจริญเติบโตเศรษฐกิจในแบบต่าง ๆ

.
พัฒนาการทางความคิดในเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomists) ได้แบ่งเป้าหมายทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ เป้าหมายในระยะสั้น, นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ารัฐควรมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ (Stabilization) ขณะที่เป้าหมายระยะยาวนั้น รัฐควรมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจให้จำเริญเติบโต (Growth)

.

สำหรับ Growth หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า Economic Growth นั้น มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับคำว่า Economic Development หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจย่อมเพิ่มขึ้น ซึ่งการวัดอัตราการเจริญเติบโตที่เพิ่มขึ้นนั้นถูกวัดในรูปของผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของ Gross Domestic Product (GDP)

.

เหล่านักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่ายิ่งประเทศหนึ่งประเทศใดสามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาได้มากย่อมแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศนั้นและนั่นหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ (มองในแง่ของปริมาณแต่ยังไม่มองในแง่ของคุณภาพการพัฒนา) 

.

ในอดีตนั้นการขยายตัวของผลผลิตในโลกเป็นไปอย่างเชื่องช้า ด้วยสาเหตุที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ในปริมาณมากเนื่องจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังไม่พัฒนาเท่าไรนัก แต่หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในประเทศอังกฤษเมื่อประมาณศตวรรษที่ 18 ผลผลิตมวลรวมของโลกเริ่มกระเตื้องขึ้น และทำให้แผ่นดินยุโรปกลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอุตสาหกรรม 

.

นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Adam Smith, ซึ่งเขียนตำรา The wealth of nation, นับเป็นคนแรก ๆ ที่พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเชื่อว่ากลไกราคาจะมีส่วนสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรดังนั้นรัฐควรมีบทบาทเพียงแค่คุมกฎกติกาในระบบเศรษฐกิจไม่ให้วุ่นวาย  

.

หลังจากนั้นมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนที่กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ บ้างเชื่อว่า การค้าการลงทุนจะเป็นบ่อเกิดของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐต้องมีส่วนในการปกป้องการค้าของประเทศโดยสร้างกำแพงกีดกันการค้า (Protectionism) เพื่อไม่ให้ประเทศขาดดุล  

.

สำหรับศตวรรษที่ 20, ตัวแบบแรกที่นักเศรษฐศาสตร์มหภาคจัดให้เป็นตัวแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือ ตัวแบบของ Roy Harrod และ Evsey Domar หรือรู้จักกันในนามของ Harrod-Domar Model สาระสำคัญของตัวแบบนี้ คือ การสะสมทุน (Capital Accumulation) นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองเชื่อว่าประเทศใดที่สามารถสะสมทุนได้มากประเทศนั้นย่อมมีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจมากตามไปด้วย   

.

ทุนในที่นี้หมายถึงเครื่องมือ เครื่องจักร และยังรวมไปถึง เงินออม ตัวแบบดังกล่าวถูกคิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันนั่นคือช่วงระหว่างเกิดวิฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลกในปลายทศวรรษที่ 20 ถึงกลางทศวรรษที่ 30 อย่างไรก็ตามด้วยอิทธิพลของ Keynes ทำให้แนวความคิดนี้ยังไม่เป็นที่โด่งดังเท่าใดนัก เพราะปัญหาเศรษฐกิจช่วงนั้นอยู่ที่การว่างงาน

.

Roy Harrod และ Evsey Domar
สองนักเศรษฐศาสตร์ผู้บุกเบิกงาน Growth Model

.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2, เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอเมริกันกำลังเริ่มแข็งแกร่งหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกำหนดนโยบายเศรษฐกิจโดยยึดแนวทางของ Keynes ซึ่งเน้นไปที่บทบาทภาครัฐในการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดอยู่ในพวก Keynesian และมีส่วนสำคัญในการพัฒนา Growth Model ก็คือ Robert M Solow ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์มหภาคได้จัดตัวแบบของ Solow ให้เป็น Neo-Classical Growth Theory

.

Solow เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องของอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 1987 งานวิจัยของเขา 2 ชิ้น ในชื่อ A Contribution to the Theory of Economic Growth (1956) และ Technical Change and the Aggregate Production Function (1957) นับเป็นจุดเริ่มต้นของ Solow Growth Model โดยสาระสำคัญของตัวแบบนี้ คือ ปัจจัยที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจนอกเหนือจากการสะสมทุนแล้ว การออมและจำนวนประชากรก็มีส่วนในการเพิ่มผลผลิตมวลรวมของประเทศอีกด้วย

.

อย่างไรก็ตาม Solow เชื่อว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งสะสมทุนกันมาได้ระดับหนึ่งระบบเศรษฐกิจนั้นจะเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Steady State หรือภาวะที่ไม่มีการพลวัต (Dynamic) ของการสะสมทุนแล้ว เช่นเดียวกัน จำนวนประชากรที่มากย่อมสะท้อนให้เห็นถึงกำลังแรงงาน (Labor Force) ที่มากตามในระบบเศรษฐกิจนั้นซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างผลผลิตมวลรวมให้กับประเทศได้ แต่

.

อย่างไรก็ตาม Solow อธิบายว่าปัจจัยทั้งสองไม่เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้รุดหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่หากไม่มีการพัฒนา Technology การผลิต Solow เรียกปัจจัยตัวนี้ว่าเป็น Technological Progress หรือ Technology Change อย่างไรก็ตามการวัดเจ้าตัว Technological Progress ของ Solow ไม่สามารถวัดกันได้ง่าย ๆ นัก ในตัวแบบของเขาจึงจับให้มันเป็นตัวแปรที่ถูกกำหนดมาจากภายนอกหรือ Exogenous Variable ซึ่งเป็นปริศนาให้ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลังพยายามอธิบายความสำคัญของเจ้าปัจจัยตัวนี้

.

Robert M Solow
Professor ทางเศรษฐศาสตร์ที่ MIT
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 1987

.

ผลการศึกษาของ Solow นับเป็นบันไดอีกขึ้นหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยมีธนาคารโลกหรือ World Bank เป็นหัวหอกสำคัญในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่จัดเป็นรูปธรรมมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1961 (พ.ศ.2504) เมื่อรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1  

.

ซึ่งแผนดังกล่าวเน้นการพัฒนาสาธารณูปโภคของประเทศเพื่อวางรากฐานไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป หลังจากที่ Solow ได้สร้างชื่อให้กับตัวเองในเรื่องทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้พยายามทดสอบปัจจัยต่าง ๆ ที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจที่นอกเหนือไปจากปัจจัยที่ Solow พูดถึง

.

นักเศรษฐศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีส่วนในการพัฒนา Economic Growth Theory คือ Paul M. Romer ทั้งนี้ Romer เชื่อว่า การที่เศรษฐกิจจะก้าวหน้าหรือยกระดับผลผลิตให้เจริญเติบโตโดยผ่าน Technological Progress ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำวิจัยและพัฒนาหรือ R&D ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ตัวแบบการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ของ Romer จึงถูกเรียกว่า Research and Development Model

.

ซึ่งงานที่สะท้อนแนวคิดของ Romer ได้ดีเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80-90โดยIncreasing Returns and Long Run Growth (1986) เป็นงานที่อธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว ขณะที่ Endogenous Technological Change (1990) ศึกษา Technology ในฐานะเป็นตัวแปรภายใน (Endogenous Variable)

.

ซึ่งเดิมในตัวแบบของ Solow เทคโนโลยีเป็นเพียงปัจจัยภายนอก Romer เปรียบเทียบว่าการทำ R&D เปรียบเสมือนการปรับปรุงสูตรอาหารใหม่ที่ทำให้อาหารอร่อยขึ้นโดยอาจจะใช้เครื่องปรุงเท่าเดิมหรือแม้กระทั่งน้อยลง

.

Paul Romer
Professor ทางเศรษฐศาสตร์ที่ Standford
เจ้าของแนวคิด R&D Model

.

ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของ Technology มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อินเดีย ท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินชื่อของเมือง Bangalore ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของอินเดีย Bangalore นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (High Technology) อาทิเช่น การพัฒนา Software และอุปกรณ์ Electronic ต่าง ๆ หรือเรียกโดยรวมว่า Information Technology (IT)

.

ทั้งนี้ Bangalore มิใช่เพียงแค่แหล่งแรงงานราคาถูก แต่เป็นแหล่งของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญของอินเดีย กล่าวกันว่า Bangalore เป็น Silicon Valley ของอินเดียไม่แพ้ในอเมริกาเลยทีเดียว ผลจากการที่รัฐบาลอินเดียสนับสนุนให้ Bangalore เป็นเมือง IT มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 ทุกวันนี้อินเดียสามารถส่งออกวิศวกรคอมพิวเตอร์เก่ง ๆ ไปทั่วโลกประกอบกับใช้ Bangalore เป็นฐานของการคิดค้นซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ

.

จะเห็นได้ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียส่วนหนึ่งมาจากการให้ความสำคัญกับ R&D ผู้เขียนคิดว่าอินเดียจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการเอาจริงเอาจังกับการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยจะเห็นเช่นเดียวกันหรือเปล่า

.
เอกสารประกอบการเขียน

1. ภาพจาก www.economyprofessor.com, http://cepa.newschool.edu/het/ และ www.wikipedia.org
2. Roger E Backhouse, The penquin history of economics
3. R. Karla, High technology and Urban Development in Bangalore, India
4. Hendrix Van Den Berg, Economic growth and development: an analysis of our greatest economic achievements and our most exciting challenges