ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยันธุรกิจอสังหาฯ ไทยไม่เป็นฟองสบู่ เหตุธุรกิจไม่ได้โต 2 หลักนาน 4-5 ปี ฟันธงภาวะเศรษฐกิจและอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ห่วงธุรกิจตามเมืองท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้น
. |
สัมมายันธุรกิจอสังหาฯ ไทยไม่เป็นฟองสบู่ เหตุธุรกิจไม่ได้โต 2 หลักนาน 4-5 ปี ฟันธงภาวะเศรษฐกิจและอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ห่วงธุรกิจตามเมืองท่องเที่ยว ยังไม่ฟื้น |
. |
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจไทยออกอาการย่ำแย่ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลับฉายภาพที่แตกต่างออกไป เพราะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน และล้วนเป็นโครงการมูลค่าสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ |
. |
ประเด็นคำถามที่สำคัญและเป็นความกังวลใจของหลายฝ่าย คือวงจรของวิกฤติฟองสบู่แตก กำลังจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ถึงแนวโน้มและทิศทางของตลาดอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายและแนวโน้มปีหน้า ถึงความเป็นไปหลังเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว |
. |
ธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้เป็นวิกฤติฟองสบู่หรือไม่ |
ก่อนอื่นต้องพูดถึงนิยามของฟองสบู่ก่อน ซึ่งฟองสบู่จะเกิดจากการที่ธุรกิจมีการเติบโตด้วยเลข 2 หลักติดต่อกัน 4-5 ปี และเวลาเติบโตลดลง ก็ลดลงมาก 20-30% เวลาเติบโตขึ้นก็เป็นฟองสบู่ เวลาลดลงก็เป็นฟองสบู่แตก ซึ่งปัจจุบันธุรกิจอสังหาฯ ของไทยไม่ได้เป็นฟองสบู่ เพราะไม่ได้เติบโตด้วยเลข 2 หลักติดต่อกัน 4-5 ปี ตามนิยามของฟองสบู่ |
. |
แต่เป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเงินของสหรัฐอเมริกา ที่ทางศูนย์ฯ ได้ออกเตือนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ให้ผู้ประกอบการชะลอโครงการใหม่หรือโครงการที่เพิ่งเริ่มพัฒนาได้ 10-20% แต่ถ้าโครงการไหนพัฒนามากกว่า 80-90% ก็ให้ดำเนินการต่อ |
. |
ขณะเดียวกันมีเรื่องน่าห่วง คือ ความต้องการที่หดตัวอย่างรุนแรง จากจำนวนหน่วยของโครงการต่างๆ แต่ละปีมีประมาณ 70,000-75,000 หน่วย ได้ลดลงเหลือ 60,000 กว่าหน่วยเท่านั้น ทำให้เกิดโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความรุนแรงในช่วง 5 เดือน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีนี้ พอถึงเดือนมีนาคม สถานการณ์ก็ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีแรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ ที่จะหมดอายุ แต่พอถึงเดือนเมษายนก็นิ่งอีก |
. |
ตลาดอสังหาฯ ต่างชาติเป็นอย่างไร |
ภาวะเศรษฐกิจไทยและอสังหาฯ ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยภาพรวม ยกเว้นตลาดที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ เช่น สมุย และภูเก็ต ที่ตลาดยังไม่ฟื้น ตลาดที่ จ.ภูเก็ตและเกาะสมุยที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ในส่วนของโรงแรม เพราะนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา และโครงการคอนโดมิเนียมที่ชะลอการก่อสร้างและบางแห่งก็หยุดโครงการไปเลยก็มี ส่วนบ้านพักตากอากาศก็ไม่น่าห่วงเท่าไร เพราะเป็นการสั่งสร้างเมื่อมีออร์เดอร์ |
. |
ปัจจัยสำคัญที่กระทบกับตลาดต่างชาติที่ยังไม่ฟื้น คือ เศรษฐกิจในประเทศเขาที่ได้รับผลกระทบ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่นิ่ง |
. |
ครึ่งปีหลังและปีหน้าต้องรอดูตลาดต่างชาติจะกลับมาหรือไม่ ส่วนโครงการเดิมคงชะลอการก่อสร้างต่อไป แต่ถ้าเป็นโครงการที่จับตลาดระดับกลางราคาไม่สูง ประมาณ 5-10 ล้านบาท ยังพอไปได้ ตอนนี้ผู้ซื้อในประเทศในเอเชียยังมีกำลังซื้อแต่เขายังไม่เข้ามา แต่ถ้ามาจากประเทศไกลๆ หรือตลาดในประเทศเขาเองยังไม่ฟื้นคงยังไม่กลับมา |
. |
ส่วนตลาดลูกค้าคนไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เพราะตอนนี้มีโครงการออกใหม่เยอะ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ช่วงครึ่งปีแรกมีโครงการออกมาน้อย การขายจะดีขึ้นในไตรมาสสุดท้าย เพราะเป็นเวลาเร่งทำยอดขาย มีมหกรรมบ้านและคอนโด และมีปัจจัยจากสถาบันการเงินพยายามเร่งปล่อยสินเชื่อ พอเข้าไตรมาสแรกปีหน้า ก็มีมาตรการลดหย่อนที่จะหมดเดือนมีนาคมมากระตุ้นอีกครั้งหนึ่ง |
. |
ปริมาณการปล่อยสินเชื่อปีนี้มีเท่าไร |
สินเชื่อบ้านปีที่แล้ว 2.78 แสนล้านบาท ปีนี้คงประมาณ 2.8 แสนล้านบาท อาจจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากไตรมาสแรกไม่ดี และธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อด้วยการยกเกณฑ์รายได้ แต่ช่วงครึ่งปีหลังเริ่มปล่อยสินเชื่อเยอะขึ้น รวมถึงแบงก์รัฐด้วย ปัจจุบันสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ แบงก์พาณิชย์ 59% ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 35% อื่นๆ 6% เช่น ออมสิน บริษัทประกันภัย |
. |
มีโอกาสที่จะต่อระยะเวลามาตรการลดหย่อนต่างๆ หรือไม่ |
พูดตอนนี้เร็วไปว่าจะมีการต่อมาตรการหรือไม่ และการเปิดตัวโครงการใหม่ ก็เป็นเครื่องที่ชี้ปริมาณ เพราะเป็นแค่เปิดตัว การเปิดตัวอาจจะดีสำหรับผู้ประกอบการ แต่อาจจะไม่ดีต่อตลาด เพราะจะเกิดการแห่ตามกันไปถ้ามากๆ คนเข้ามาทีหลัง ยอดโอนปีนี้ กับปีที่แล้วใกล้เคียงกัน |
. |
เพราะหน่วยซื้อขาย ราคาต่อหน่วยถูกลง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี บ้านขายได้ราคาปานกลางถึงต่ำ เช่น คอนโดมิเนียม ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 ที่โอนกรรมสิทธิ์ พื้นที่เฉลี่ยต่อหน่วย 51 ตารางเมตร ในราคา 1.8 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีนี้ พื้นที่เฉลี่ยลดลงเหลือ 42 ตารางเมตร |
. |
ทำเลทองของการพัฒนาโครงการต่างๆ ในปีหน้า |
ถ้าเป็นตลาดของคอนโดมิเนียม การขึ้นโครงการจะหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน 15 เขต อาทิ ห้วยขวาง รัชดาฯ คลองเตย วัฒนา บางเขน ยานนาวา ปทุมวัน พญาไท เป็นต้น และยังเกาะแนวรถไฟฟ้า ที่โครงการมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ได้แก่ เส้นสีน้ำเงิน สีม่วงและสีแดง รวมถึงในโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะมีความคืบหน้ากว่า 90% แล้ว เช่น |
. |
ส่วนต่อขยายอ่อนนุช- แบริ่ง, ตากสิน-ฝั่งธน ที่จะมีโครงการเกิดขึ้นเยอะเพราะว่าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป ขาย 60,000 บาทต่อตารางเมตร แต่อยู่ฝั่งกรุงเทพฯ ขายตารางเมตรละ 1 แสนบาท คนก็ยอมที่จะอยู่ออกไปไกลหน่อยและโดยสารรถไฟฟ้าแทน ขณะที่ฝั่งกรุงเทพฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไป เช่น บางบัวทอง บางใหญ่ ยังขยายไปได้อีกมาก บีอาร์ที แอร์พอร์ตลิงค์ 4 สถานีแรก ในส่วนของซิตี้ไลน์ |
. |
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ |