ในภาวะการณ์ปัจจุบันการบริหารงานแบบที่มีแต่ผู้นำเต็มไปหมดดูจะล้าสมัยไปเสียแล้ว เพราะเป็นระบบบริหารที่ปิดกั้นความคิดเห็นของพนักงาน องค์กรจึงไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองได้ว่องไวเท่ากับการเปลี่ยนแปลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนอกองค์กร
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข |
. |
. |
ในวงนักบริหารและนักวิชาการด้านการจัดการ คงไม่มีใครไม่รู้ความแตกต่างระหว่างความหมายของคำว่า "ผู้จัดการ" (Manager) กับ "ผู้นำ" (Leader) เพราะตั้งแต่ต้นทศวรรษของปี ค.ศ. 1980 นั้น Warren Bennis หนึ่งในปรมาจารย์ด้านการพัฒนาภาวะผู้นำแห่ง USC (University of Southern California) ได้เป็น กูรู" ในลำดับต้นๆ ที่ออกมาจำแนกความแตกต่างระหว่างผู้จัดการและผู้นำให้เห็นกันจะจะว่า ผู้ที่ทำหน้าที่หรือมีบุคลิกลักษณะแบบผู้จัดการนั้นคือ คนที่สนใจในเรื่องควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามระบบขั้นตอนอย่างถูกต้อง อย่างที่สำนวนภาษาอังกฤษบรรยายว่า "Doing things right." |
. |
ในขณะที่คนที่มีภาวะผู้นำจะเป็นคนที่ไม่ติดกรอบหรือระเบียบแบบแผนอะไรมากนัก โดยผู้นำจะเป็นผู้ที่มองไปในอนาคต มีวิสัยทัศน์ และตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องกับสถานการณ์นั้นๆ อย่างที่ภาษาอังกฤษกล่าวว่า "Doing the right things." |
. |
นอกจากนี้คุณลักษณะอื่นๆ ของผู้จัดการก็คือ เป็นผู้ใส่ใจในการวางแผน วางระบบการทำงาน และดูแลเรื่องงบประมาณ คนเป็นผู้จัดการมักจะชอบควบคุม (control) กำกับพนักงานให้ทำงานตามหน้าที่ โดยผู้จัดการจะใช้อำนาจที่เขามีตามตำแหน่งงาน (Legitimate power) ในการบริหารพนักงาน |
. |
ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีความเป็นผู้นำหรือเป็นผู้นำนั้น อาจจะไม่มีตำแหน่งงานและไม่มีอำนาจตามหน้าที่แต่อย่างใด แต่เขาหรือเธอผู้นั้นมีความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) และจูงใจ (Motivate) ผู้คนรอบข้างให้เชื่อในวิสัยทัศน์ของเขา มีความสามารถในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ (Interpersonal skills) ที่ดี และนี่ก็คือเครื่องมือสำคัญของผู้นำในการเรียกความประทับใจและไว้วางใจจากคนรอบข้าง |
. |
เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าในวงการนักบริหารจะให้ความสนใจกับการพัฒนาภาวะผู้นำกันมาก อาจเป็นเพราะว่าในสมัยก่อนนั้น ระบบบริหารองค์กรโดยทั่วๆ ไปยังอิงกับการบริหารเชิงระบบราชการ (Bureaucracy) ที่บริหารกันโดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นหัวหน้าใหญ่ และมีผู้บริหารระดับรองๆ ลดหลั่นลงมาเป็นสายบังคับบัญชา (Hierarchy) ซึ่งอำนาจการตัดสินใจมักจะขึ้นกับผู้นำระดับสูง ที่มีอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาด |
. |
ภายใต้ระบบบริหารแบบนี้ ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นมากนัก การบริหารและการสื่อสารจึงเป็นแบบ "บนสู่ล่าง" (Top-down communication) ทุกคนทำงานตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ค่อนข้างตายตัว ด้วยระบบและสไตล์การบริหารแบบกางตำราทำงาน (Go by the book.) ทำให้องค์กรไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง ได้ว่องไวเท่ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนอกองค์กร |
. |
ดังนั้นทุกคนจึงมองเห็นจุดด้อยของการทำงานแบบติดกรอบมากเกินไป และเริ่มมองหาผู้บริหารที่คิดนอกกรอบเป็น มีวิสัยทัศน์ และมีความสามารถในการสร้างและนำองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง |
. |
นี่คือจุดกำเนิดของการแยกแยะความเป็นผู้จัดการออกจากความเป็นผู้นำอย่างชัดเจนเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว จากนั้นเป็นต้นมาผู้บริหารทั้งหลาย ก็พยายามสลัดคราบความเป็นผู้จัดการออก เพื่อสวมเสื้อของผู้นำแทน ทุกคนต่างมุ่งพัฒนาตนเองในเรื่องการสร้างวิสัยทัศน์ ทักษะในการสื่อสาร การจูงใจ การสร้างทีมและนำทีม ตลอดจนการสร้างเอกลักษณ์หรือแบรนด์ของตนเองในฐานะผู้นำเพื่อสร้างความประทับใจและความศรัทธาในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชา |
. |
จนทุกวันนี้เราต้องได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นความพยายามของบิดามารดา ครูในโรงเรียนและอาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ล้วนพยายามปลูกฝังและผลักดันให้บุตรหลาน นักเรียน นิสิตนักศึกษา และพนักงานในองค์กรมีภาวะผู้นำด้วยกันทั้งนั้น ไม่เชื่อก็ลองไปดูหลักสูตรของโรงเรียนแค่ระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาก็ได้ หลักสูตรล้วนบรรจุเรื่องการส่งเสริมการแสดงออกและการเป็นผู้นำทั้งนั้นค่ะ |
. |
มองดูแล้วบางคนอาจรู้สึกว่าเรื่องของภาวะผู้นำนี่มันเน้นกันมากเกินไปหรือเปล่า? ทุกคนต้องเป็นผู้นำกันทั้งนั้น ทุกคนต้องกล้าพูด กล้าแสดงออก ต้องเด่น ต้องคิดนอกกรอบ ฯลฯ ชักจะเลี่ยนภาวะผู้นำกันบ้างไหมค่ะ? |
. |
หนึ่งในกูรูด้านการจัดการยุคเดียวกับ Peter Drucker ที่เริ่มเห็น "ภาวะผู้นำเฟ้อ" ก็คือ Henry Mintzberg ที่อดรนทนไม่ได้ ออกมาเขียนบทความลงในนิตยสาร Business week ฉบับต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า สังคมธุรกิจในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ "ถูกนำ" มากเกินไปและไม่ได้รับ "การจัดการ" ที่ดีเท่าที่ควร (Overled and undermanaged.) |
. |
Mintzberg กล่าวว่า เป็นเพราะการแบ่งแยกความเป็นผู้นำออกจากความเป็นผู้จัดการโดยเด็ดขาด ทำให้ผู้ที่เป็นผู้นำสนใจพัฒนาแต่ทักษะในการนำ สนใจแต่มุ่งทำให้คนประทับใจในตัวเขา แต่หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความประทับใจในหมู่คนแล้ว ผู้นำที่ขาดความสามารถในการจัดการก็ไม่สามารถสร้างระบบงาน ติดตามการทำงานและดูแลงบประมาณให้โครงการสำเร็จบรรลุเป้าหมายได้ |
. |
Mintzberg ออกมาวิเคราะห์เชิงตำหนิผู้นำของสถาบันการเงินชั้นนำ ที่ไส้ในเน่าเหม็นหลอกลวงลูกค้าว่าผลประกอบการดี แต่แท้จริงขาดระบบบริหารควบคุมที่มีมาตรฐาน รวมทั้งผู้นำขององค์กรทั้งหลายที่ "ว่องไว" ในการออกมาประกาศลอยแพพนักงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นผู้นำที่ "ไว" ต่อการเปลี่ยนแปลงว่า ผู้นำเหล่านี้ปลีกตนเองออกจากการจัดการ (management) โดยเน้นแต่การสร้างภาพมากไป |
. |
Mintzberg ตั้งคำถามท้าทายไว้ว่า "เหตุใดองค์กรถึงออกมาประกาศ (ได้อย่างหน้าตาเฉย) ว่ามีพนักงานเกินจำนวนที่ต้องการที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน (Redundancy?)" "นี่แสดงว่าตอนจ้างมาไม่ได้คิดใคร่ครวญให้ดีใช่หรือไม่?" คำถามของ Mintzberg ตีตรงประเด็นเลยว่า ผู้นำสมัยนี้หลายคนขาดระบบวางแผนจัดการที่ดี |
. |
Mintzberg กล่าวว่า บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ไม่ใช่องค์กรที่มีผู้นำที่เป็น “Hero” ตามแฟชั่น แต่เป็นผู้นำที่มุ่งมั่นใส่ใจด้านการจัดการด้วย |
. |
เขายังปรารภว่า สหรัฐอเมริกามีภาระหนักที่จะพิสูจน์ความสามารถผู้นำขององค์กรทั้งหลาย ที่ประสบภาวะวิกฤติว่า จะบริหารองค์กรฝ่าวิกฤติไปได้อย่างไร เขายังอ้างคำพูดของโปรเฟสเซอร์ James March แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาเตือนใจผู้นำทั้งหลายว่า "Leadership involves plumbing as well as poetry!" (การเป็นผู้นำนั้นต้องวางระบบท่อเป็นด้วย ไม่ใช่เป็นแต่แต่งกลอน) เปรียบเปรยเป็นสำนวนแบบไทยๆ คือ ผู้นำต้องไม่เป็นแต่กล่าวสุนทรพจน์ ถึงเวลาลุยงาน ก็ต้องลงลุยได้จริงด้วย! |
. |
ผู้นำไทยฟังแล้วเห็นด้วยไหมคะ? |
. |
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ |