เนื้อหาวันที่ : 2009-10-05 12:05:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2751 views

ชาวนาทับ ประกาศไม่เอาโรงไฟฟ้าจะนะ 2

ชาวนาทับลั่นไม่เอาโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ชี้ทำลายสิ่งแวดล้อม กระทบอาชีพ วิถีชีวิตของชาวบ้าน เตรียมยื่นประธานวุฒิสภาตรวจสอบ จี้โรงไฟฟ้าแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา

นักข่าวพลเมือง

.

.

24 กันยายน 2552  เวลา 13.00 น. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าจะนะ 2 โดยจะจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ 5 ตำบล โดยครั้งนี้มีขึ้นที่ตำบลนาทับ ณ อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนบ้านปากบางนาทับ หมู่ที่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีชาวบ้านจำนวนร่วมพันคนเข้าร่วมจนเต็มอาคารและที่นั่งไม่เพียงพอ

.

การจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีการดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ประตูทางเข้าภายในโรงเรียน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนตั้งด่าน เดินถืออุปกรณ์ตรวจจับระเบิดบนถนนในบริเวณที่จัดเวที และอีกส่วนหนึ่งถือปืนยาวคุ้มกันด้านหน้าเวทีและกระจายอยู่รอบพื้นที่ พร้อมทั้งมีการเตรียมรถพยาบาลในการรับฟังความเห็นครั้งนี้ด้วย

.

นายหมัด หมานเต๊ะ กำนันตำบลนาทับ  กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญในการทำประชาพิจารณ์โรงไฟฟ้าจะนะ ขอให้พวกเราอย่าได้มีปัญหาบนพื้นที่นาทับ หากครั้งนี้มีปัญหาจะส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกซึ่งจะลงมารับฟังความเห็นที่นี่เร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน ขอให้พูดกันด้วยเหตุและผล หากใครสร้างปัญหาจะถือว่าไม่ใช่คนนาทับ

.

จนกระทั่งเวลา 14.00 น. นายสนั่น เพ็งเหมือน อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะซึ่งเป็นทีมศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้าร่วมในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ได้เชิญผู้ช่วย ผู้ว่าการไฟฟ้ากล่าวเปิด     

.

จากนั้นได้เชิญ ดร.สิริมิตร วังสุนทร จากบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด บรรยายรายละเอียดโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าและสรุปว่า การจัดเวทีที่ตำบลนาทับครั้งที่1 ชาวบ้านมีความวิตกหลายประเด็นโดยเฉพาะผลกระทบการเลี้ยงปลากะพงในกระชัง  

.

การที่ทรัพยากรสัตว์น้ำถูกทำลาย กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้ามีแนวทางการดำเนินการอย่างไร ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม  ระหว่างนั้นมีชาวบ้านตำบลนาทับเดินถือป้าย "ชาวนาทับไม่เอาโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าหยุด! ทำลายสิ่งแวดล้อมคลองนาทับ" มายืนชูป้ายอยู่ด้านหลังของ ดร.สิริมา

.

.

หลังจากที่ ดร.สิริมาพูดจบ ชาวบ้านนาทับยกมือขอแสดงความคิดเห็น แต่ทางนายสนั่น กล่าวว่า ขอให้เด็กได้มาพูดก่อน ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่เคยเข้าไปเยี่ยมชนโรงไฟฟ้า ได้ออกมาอ่านเรียงความเกี่ยวกับข้อดีของโรงไฟฟ้าจะนะ

.

จากนั้นนายอดิเรก  หมัดหมาน นายก อบต.นาทับ ลุกขึ้นแสดงความคิดเห็นว่า ปัญหาโรงไฟฟ้าอยู่ที่ความไม่จริงใจและขาดความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา หากเราช่วยกันแก้ไขปัญหา ปัญหาจะถูกแก้ไขด้วยดี และแสดงความคิดเห็นว่า ทาง กฟผ.ต้องบอกผลดีผลเสีย ให้โอกาสซักถาม  

.

และขอให้บอกด้วยความจริงใจในความตั้งใจจริง ไม่ใช่ด้วยความไม่จริงใจ และย้ำว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ขาดเจ้าภาพ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาชี้แจงแก้ไขปัญหา หากแก้ปัญหาได้ โรงไฟฟ้าอยู่ได้ประชาชนอยู่ได้ด้วย ที่สำคัญ ความมั่นคงทางอาชีพคลองนาทับถือเป็นสายเลือด อยากให้ กฟผ.มองปัญหาของพี่น้องและใช้ความจริงใจในการแก้ปัญหา

.

จากนั้นนายสนั่นได้เชิญนายนคร ศรีวิเชียรสมบัติ ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ กล่าวกับผู้เข้าร่วมเวทีว่า ที่ผ่านมามีหลายคนเคยเข้าไปโรงไฟฟ้า แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยไปเห็น ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 การทำโครงการต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการหลายขั้นตอน และที่ผ่านมากองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังไม่มีพระราชบัญญัติของกระทรวงพลังงาน โดยตอนนี้กำลังจะเริ่มต้นกับชุมชนรอบในของโรงไฟฟ้าจะนะในเดือนตุลาคมนี้

.

นายพีระดิศ เหร็มแอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโรงไฟฟ้าจะนะมีการสูบน้ำเข้าไปใช้หล่อเย็น แม้โรงไฟฟ้าอ้างว่า มีตะแกรงดักสัตว์น้ำ แต่ก็ยังปรากฏว่ามีกุ้งมีปลาติดไป ไม่แน่ใจว่ามีตะแกรงดักจริงหรือเปล่าพร้อมกันนี้ได้แสดงภาพถ่ายของกุ้งและปลาที่ตาย และทางการไฟฟ้าบอกว่า น้ำปล่อยจากโรงไฟฟ้าไม่เสีย แต่ปรากฎว่าน้ำจากโรงไฟฟ้าไม่สามารถให้สัตว์น้ำมีชีวิตอยู่ได้ อยากให้ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าชี้แจงด้วย 

.

นอกจากนี้ ในปี 2548 เป็นช่วงที่มีการเริ่มโรงไฟฟ้า มีส่วนร่วมทำประชามติของ อบต.นาทับว่า คิดเห็นอย่างไรกับการมีโรงไฟฟ้า เวลานั้น 87% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง แต่ กฟผ.ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างที่อบต.นาทับ แต่ขอที่ อบต.คลองเปียะและป่าชิง  

.

จากการคาดการณ์จึงมีการเสนอว่า ให้กฟผ.ใช้น้ำทะเลในการหล่อเย็นแทนน้ำในคลองนาทับ เพื่อป้องกันความขัดแย้ง และสมัยนั้นนายณรงค์ศักดิ์ พิเชษฐพันธุ์ สัญญากับคนนาทับว่า จะมีเงิน 20 ล้านเพื่อป้องกับผลกระทบกับคลองนาทับระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้างไม่มีปัญหา 

.

ตอนหลังจึงนำเงินดังกล่าวไปจัดตั้งมูลนิธิคลองนาทับโดยมีเงื่อนไขระบุชัดเจนว่า "เมื่อพิสูจน์ว่าเสียหายมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ" ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครหรือคณะกรรมการที่ตั้งกล้ายอมรับหรอกว่า น้ำเสียมาจากโรงไฟฟ้า หากยอมรับว่าเป็นเพราะโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  

.

และกล่าวว่าประเด็นปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง อ.ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ทีมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้ายอมรับเองว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงจริงปีละ 10% แล้วระยะ 10 ปีจะเหลืออะไร นี่คือปัญหาจากการดำเนินการโรงแรก "พี่น้องต้องใช้ความคิดดูว่า คิดเห็นอย่างไร บ้านเมืองพัฒนา แต่ความช้ำใจอยู่ที่ชาวบ้าน

.

ขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อชาวบ้านตำบลนาทับเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังประธานวุฒิสภาให้มีการตรวจสอบโรงไฟฟ้า เพราะเวลานี้หวังพึ่งหน่วยงานไหนไม่ได้อีกแล้ว"

.

นายเหม โต๊ะด้วน กล่าวว่า ในปี 2551 ต้องตั้งข้อหาโรงไฟฟ้าว่าเป็นอาชญากรปล้นชาติ เพราะประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม กระชังเลี้ยงปลากะพงตายหมด ทำอย่างไรให้ประชาชนปลายคลองนาทับอยู่ได้ มิเช่นนั้นก็แก้ไขปัญหาไม่รู้จบ

.

นายดาเร็ด หีมล๊ะ หมู่ที่ 7 บ้านนาเสมียน ต.นาทับ แสดงความคิดเห็นว่า หมู่บ้านนาเสมียนมีจำนวน 280 กว่าครัวเรือน หากินในคลองนาทับกว่า 30 ปี จึงรู้ดีถึงความเปลี่ยนแปลงว่าเป็นอย่างไร จากที่มีปลาหลากหลายชนิดที่เคยอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตของคนนาทับมาหลายชั่วอายุคน

.

เมื่อปีที่แล้วจำนวนปลาท่องเที่ยวลดลง จากเดิมวางอวน ความยาวขนาด 100 ปัจจุบันต้องเพิ่มเป็น 300 เพื่อให้ได้จำนวนปลาเท่าเดิม และอาชีพวางไซจากเดิม 3 วันยกครั้งหนึ่งได้เงิน 1,000 บาท ปัจจุบันวางไซ 15 ลูก 7 วันยกกลับไม่พอที่จะแกง และกล่าวทิ้งท้ายว่า หากเกิดการขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และมีการท้าทายให้การไฟฟ้าจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญนักวิชาการอื่นๆมาร่วมเวทีด้วย

.

ในช่วงท้ายมีชาวบ้านคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า กฟผ.สร้างความขัดแย้งในชุมชน โรงไฟฟ้าพาคนกลุ่มหนึ่งไปเที่ยว กินนอนในโรงแรมอย่างดีมีสุราเลี้ยง แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลกระทบจากการประกอบอาชีพประมงในคลองนาทับกลับไม่ดูแลและพยายามบ่ายเบี่ยง กฟผ.จัดฉากสร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการ กลบเกลื่อนน้ำในคลองใสแต่ใช้ไม่ได้ เพราะผ่านคลอรีนและอุณหภูมิที่สูง ทำให้ปลาหลายชนิดหายไป เช่น ปลารากกล้วย และที่สำคัญการแสดงความคิดเห็นก็รับฟังเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น 

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท