เนื้อหาวันที่ : 2009-10-02 13:53:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1166 views

พาณิชย์ไม่หวั่นเงินเฟ้อลดลง 9 เดือนติด

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ยันยังไม่มีสัญญาณการเกิดเงินฝืด คาดกลับเป็นบวกช่วงปลายปี เฉลี่ยเดือนละ 2%

พาณิชย์เผย เงินเฟ้อยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ยันยังไม่มีสัญญาณการเกิดเงินฝืด คาดกลับเป็นบวกช่วงปลายปี เฉลี่ยเดือนละ 2%

.

.

นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย.52 อยู่ที่ 105.3 ลดลง 1.0% จากเดือน ก.ย.51 แต่เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน ส.ค.52 ส่วนอัตราเฉลี่ยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.52) ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

.

"สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการลดลงหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าโดยสารสาธารณะ ค่าใช้จ่ายในกลุ่มการศึกษาที่ลดลง ส่วนสาเหตุที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.52 มาจากดัชนีหมวดอาหารที่เพิ่มขึ้น 1.1% จากข้าวสารเจ้า เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปียังไม่ออกสู่ตลาด รวมถึงราคาผักสดที่ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักทำให้ผลผลิตเสียหาย และยังตรงกับช่วงเทศกาลสารทจีนทำให้ราคาแพง"

.

นางพิมพาพรรณ กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบติดต่อกัน 9 เดือน แต่ยังไม่ส่งสัญญาณการเกิดเงินฝืด เพระเพิ่งติดลบเพียง 5 เดือน และที่สำคัญราคาสินค้าที่ปรับราคาลดลง โดยลดลงแค่ 20% ของรายการสินค้าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเป็นบวกเฉลี่ยเดือนละ 2% ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0 ถึง-1% แน่นอน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เดือน ก.ย.52 ลดลง 0.1% จากปีก่อน แต่ปรับสูงขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับ ส.ค.52 ขณะที่เงินเฉลี่ย 9 เดือน สูงขึ้น 0.4%

.

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ โดยเทียบเดือน ส.ค.52 กับเดือน ก.ค.52 พบว่า ดัชนียังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 45.9 จากระดับ 45.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 46.0 45.8 และ 45.8

.

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 45.3 และ 42.7 ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังคงเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากการลงทุนภาคเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น อีกทั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ออกมาตรการช่วยเหลือ และตรึงค่าพลังงานจนถึงเดือน ส.ค.53 ส่งผลดีต่อทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 48.2 จากระดับ 45.6 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกประเภทกิจการเช่นกัน เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.1 และ 48.5

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2553 ทาง สศอ. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 453.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยใน 3 แนวทางหลัก คือ 1.เร่งสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์

.

2.บริหารและดำเนินงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพ และ 3.เดินหน้าศึกษาและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมใน 8 สาขา คือ อาหาร ยานยนต์ สิ่งทอ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและโลหการ เครื่องจักรกล พลาสติกและผลิตภัณฑ์ โดยจะร่วมกับสถาบันเฉพาะทางของกระทรวงฯ และเอกชน

.
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง