เนื้อหาวันที่ : 2009-10-02 11:11:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1570 views

จับกระแสอีคอมเมิร์ช ดันผู้ประกอบการกระตุ้นยอดขายบนออนไลน์

สถาบันฝึกอบรมฯ จับกระแสธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง จัดอบรมผู้ประกอบการหวังขยายช่องทาง หาตลาดใหม่กระตุ้นยอดขายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

สถาบันฝึกอบรมฯ จับกระแสธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง จัดอบรมผู้ประกอบการหวังขยายช่องทาง หาตลาดใหม่กระตุ้นยอดขายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

.

.

การตลาดยุคใหม่จะมัวมานั่งค้นหาทำเลทองเพื่อขายสินค้าเหมือนเมื่อก่อน คงตามไม่ทันกลุ่มผู้ค้ารุ่นใหม่ที่ใช้โลกอินเตอร์เน็ตออนไลน์สินค้ากระจายไปทั่วโลก ทะลายกำแพงเวลา สถานที่ และไม่จำกัดกลุ่มผู้ซื้อ หรือที่เรียกว่าการตลาดแบบ อีคอมเมิร์ช (Ecommerce) ซึ่งหากย้อนกลับไปในอดีต ใครจะเชื่อว่าการขายของที่ผู้ซื้อไม่มีโอกาสแม้ได้สัมผัสสินค้า ไม่เห็นแม้หน้าตาคนขาย จะสามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลในปัจจุบัน

.

ด้วยศักยภาพของการตลาดแบบออนไลน์นี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็ก รายใหญ่หันมาให้ความสำคัญและพยายามงัดกลยุทธ์เพื่อสร้างเว็บไซต์ของตนเองเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ดังนั้น สถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก ได้เล็งเห็นถึงกระแสการสร้างธุรกิจแบบอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายการเติบโตอย่างมาก จึงได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้ประกอบการหลายต่อหลายหลักสูตร                     

.

อาทิ โครงการ "กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับทรู เสริมความรู้ สร้างรายได้ให้ธุรกิจไทย" โครงการ "เพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยด้านตลาดออนไลน์กับอีเบย์" และหลักสูตร "กลยุทธ์การค้าบนออนไลน์" ซึ่งแต่ละหลักสูตรที่จัดขึ้นได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-เล็ก เป็นจำนวนมาก

.
ทำไมต้องอีคอมเมิร์ซ 

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ "กรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับทรู เสริมความรู้ สร้างรายได้ให้ธุรกิจไทย" ว่า การตลาดแบบอีคอมเมิร์ซกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้ธุรกิจไทย 

.

รวมทั้งการขยายช่องทางและการพัฒนาตลาดใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อทดแทนกำลังซื้อที่หายไปจากในช่วงปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ ทั้งด้านการเงินของโลก รวมไปถึงโรคระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยทั่วไป                     

.

ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบทั่วถึงทุกระบบ ทั้งภาคธุรกิจบริการ ภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ และการส่งออก โดยเฉพาะภาคธุรกิจการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของมูลค่ามวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยทางกรมฯ จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น 

.

"เรามุ่งสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ ผู้ส่งออกไทย ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกผ่านระบบ อีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการส่งออก เพื่อทดแทนปัญหา ภาคการส่งออก โดยเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่เป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการส่งออก (Export List) ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10,000 ราย

.

สมาชิกด้านการค้าเพื่อการส่งออก (Trade Mart) และ นักธุรกิจ หรือผู้ประกอบการใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับการส่งออก เข้าร่วมฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการดำเนินธุรกิจบนตลาดออนไลน์กับเว็บไซต์ weloveshopping.com พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ส่งออกไทยทั่วประเทศ"

.

ร้อยเอกสุวิพันธุ์ ดิษยมลฑล ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการตลาดแบบอีคอมเมิร์ซนั้นเป็นเพราะการใช้อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันพบว่า ผู้คนจากทั่วโลกมีการเปิดใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากจึงส่งผลให้การตลาดบนโลกออนไลน์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงตามไปด้วย 

.

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ถึงกลยุทธ์และเทคนิคในการสร้างและพัฒนาศักยภาพของเว็บไซต์ตนเองให้เป็นที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาจับจ่ายหาซื้อสินค้าจากร้านค้าของตนเอง ซึ่งจะแตกต่างจากร้านค้าแบบออฟไลน์ คือต้องหาทำเลทองที่มีผู้คนพลุ่กพล่านหรืออยู่ใกล้กลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

.

"หัวใจสำคัญที่เป็นเสน่ห์ของร้านค้าออนไลน์คือ เราสามารถสื่อสารและทำการค้าขายกับคนได้ทั่วทุกมุมโลก ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จำนวนลูกค้าใหม่เกิดขึ้นทุกวินาทีจากทั่วโลกผ่านทางหน้าเว็บไซต์ และเรายังสามารถติดต่อกับลูกค้าผ่านทางอีเมล์ โทรศพัท์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต หรือ วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร้านค้าแบบออฟไลน์ทำได้ค่อนข้างยาก         

.

แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอเว็บไซต์ของเราด้วยว่าจะดึงดูดใจผู้ซื้อได้มากน้อยกว่าคู่แข่งแค่ไหน เพราะต้องคำนึงอยู่เสมอว่าแม้เราจะสามารถขายของไปได้ทั่วโลก แต่เราก็มีคู่แข่งอยู่ทั่วทุกมุมโลกเช่นกัน" ร้อยเอกสุวิพันธุ์ กล่าว 

.
เพิ่มศักยภาพด้านการตลาดบนออนไลน์

นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเว็บไซต์อีเบย์ และที่ปรึกษากลยุทธ์ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การตลาดแบบออนไลน์เป็นกลยุทธ์ที่น่าจับตามอง เพราะเชื่อว่าจะสามาถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศได้ ซึ่งโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรชอบชอปปิ้งสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตมากที่สุดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น           

.

ทั้งนี้ ในมุมของผู้ขายสินค้าเองก็สามารถทำการขายสินค้าได้อย่างง่ายดาย ซึ่งปกติแล้วมักจะแนะนำให้ผู้ที่สนใจทำการค้าบนออนลน์เริ่มขายสินค้าที่มีต้นทุนต่ำส่งผลให้ราคาสินค้าถูกกว่าร้านค้าทั่วไป โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากของใกล้ตัว อาทิ ของเก่า หรือของสะสม เป็นต้น แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไปเป็นสินค้าประเภทอื่น และในปัจจุบันการขายสินค้าในอินเตอร์เน็ตก็มีหลากหลายวิธีให้เลือก เช่น การประมูล, การขายเลยแบบตรงๆ (By time) ซึ่งแต่ละวิธีก็ได้รับความนิยมสูงแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้าด้วย

.

"หากสนใจจะเริ่มต้นขายของบนอินเตอร์เน็ตวันนี้ทำได้ง่ายๆ หรือจะทดลองขายสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดทุน และในประเทศไทยเองไม่น่าเชื่อว่ามีผู้คนสนใจเข้าไปขายสินค้าเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นในเว็บไซต์ของอีเบย์ซึ่งเราเชื่อมโยงกับทั่วโลกกว่า 39 ประเทศ โดยประเทศที่มีจำนวนประชากรขายสินค้ามากเป็นอันดับหนึ่งคือ จีน รองลงมาคือ ฮ่องกง และอันดับที่ 3 ได้แก่ ประเทศไทย ดังนั้น ผมว่าเราควรที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านนี้ เพราะมันสามารถสร้างเงินเข้าสู่ประเทศได้มากทีเดียว"

.

นางสาวนารีมาลย์ เจียงประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านบริหารและ IT กล่าวว่า การวางแผนการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในยุคการตลาดแบบดิจิตอล ซึ่งมีหลากหลายกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะเลือกนำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่ธุรกิจของตนเอง ได้แก่ เว็บ อินเตอร์เน็ตมีเดีย อีเมล์ และไวรัสมาร์เก็ตติ้ง การตลาดบนมือถือ เกมส์ เนื้อหาที่สร้างโดยลูกค้า จอดิจิตอล ไอพีทีวี          

.

เช่น ในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าไปใช้บริการเกมออนไลน์ค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น วัยรุ่น และคนวัยทำงานก็ติดเกมออนไลน์ ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามที่จะเข้าไปทำการโฆษณาเว็บไซต์หรือสินค้า ลองค้นหาเว็บเกมออนไลน์ที่มีชื่อเสียงก็จะต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี 

.

"หากผู้ประกอบการท่านใดมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ควรหาลูกเล่นใหม่ๆ มาตกแต่งเว็บ-เพจ และขยันอัพเดทเว็บไซต์ของตนเองให้สม่ำเสมอหรืออัพเดททุกวัน เพราะในโลกออนไลน์ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และที่สำคัญควรมีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและสร้างลูกค้าใหม่ให้เกิดขึ้นทุกวัน

.

เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท การสร้าง Blogs ให้แก่ลูกค้า หรือควรให้ลูกค้าสมัครรับอีเมล์จากทางบริษัทเพราะไม่อย่างนั้นอีเมล์ของทางบริษัทจะเข้าสแปม (Spam) กลายเป็นอีเมล์ขยะไป นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของเราควรมีการแลกลิงค์กับเว็บไซต์คนอื่นเพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญเวลาลูกค้าค้นหาข้อมูลในกูเกิลก็จะปรากฎเว็บไซต์ของเราในการค้นหา เพราะกูเกิลจะมองว่าเราเป็นที่รู้จักและบันทึกเว็บไซต์เราลงในการค้นหาที่เกี่ยวข้อง" นารีมาลย์กล่าว

.

และนั่นเป็นเพียงความคิดเห็นและเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ จากกูรูด้านไอที เพราะหากจะลงลึกในเชิงรายละเอียดทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติให้เห็นภาพรวมจริงๆ แล้วทางสถาบันฝึกอบรมการค้าระหว่างประเทศ ยังมีหลักสูตรอีกมากมายไว้รองรับเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ความเป็นอันดับหนึ่งบนเวทีการค้าโลก

.