ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค. ปรับลดลง แนะรัฐควบคุมราคาน้ำมัน เร่งนโยบายพลังงานทดแทน คาดไตรมาสสุดท้ายเกินร้อยแน่
ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค. ปรับลดลง แนะรัฐควบคุมราคาน้ำมัน เร่งนโยบายพลังงานทดแทน คาดไตรมาสสุดท้ายเกินร้อยแน่ |
. |
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) |
. |
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,128 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม ที่ระดับ 89.9 |
. |
เป็นผลมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากบางอุตสาหกรรมเริ่มมีการปรับสต๊อคสินค้าจนสูงขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว จึงชะลอการสั่งซื้อลง ซึ่งทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายลดลงจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้วัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมยังขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลับไปทำงานในภาคเกษตร ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตและผลประกอบการลดลง |
. |
ทั้งนี้ ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี เพราะผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ |
. |
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ102.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 96.7 ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการที่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความหวังต่อสถานการณ์การค้าว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สอดคล้องกับการวัดปัจจัยที่มีผลต่อความกังวลของผลประกอบการของสภาอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกลดลง และคงคาดหวังต่อสถานการณ์การฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้ |
. |
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่าอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลงลง โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดลงจากยอดขาย ในอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง และต้นทุนประกอบการของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบประเภทไม้ยางพารา มีราคาสูงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ |
. |
อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์, เคมี และอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับลดลงจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมรองเท้าที่ต้นทุนในส่วนของยางเพิ่มสูงขึ้นและตลาดหลักอย่างยุโรปยอดการส่งออกยังลดลงอยู่ อุตสาหกรรมพลาสติกต้นทุนเม็ดพลาสติกสูงขึ้น เป็นต้น |
. |
โดยมีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, และอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ส่วนอุตสาหกรรมขนาดกลางปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบางอุตสาหกรรมได้มีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2/2552 เช่น สิ่งทอ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เครื่องจักรกลการเกษตร, หัตถอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ |
. |
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน อุตสาหกรรมเซรามิก เนื่องจากงานก่อสร้างขยายตัว ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง จากผลของฤดูกาลและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมให้การดำเนินธุรกิจชะลอตัว |
. |
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับผลดีจากกำลังซื้อในประเทศที่ขยับตัวสูงขึ้น หลังจากที่มีการชะลอการบริโภครวมถึงการชะลอโครงการต่างๆ มานาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง |
. |
เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ และเซรามิก ส่วนกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีตลาดหลักทางสหรัฐอเมริกาและยุโรป ประกอบกับการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุน เช่น ยางพาราและเม็ดพลาสติก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและอุตสาหกรรมพลาสติกสูงขึ้น |
. |
สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผลกระทบด้านราคาน้ำมันเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรกในช่วงเดือนสิงหาคม รองลงมาคือ คือผลกระทบจากการเมืองในประเทศ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยลำดับที่เปลี่ยนไปจากเดือนกรกฎาคมก็คือ เรื่องของการเมืองในประเทศ ที่ผู้ประกอบการแสดงถึงกังวลมากกว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา |
. |
ทั้งนี้มาจากข่าวการเมืองที่ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มไม่มั่นใจในความมั่นคงของรัฐบาล ส่วนประเด็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการมีความกังวลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกลดลงจากอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงแสดงความกังวลอยู่ในด้านของเสถียรภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ |
. |
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐควบคุมราคาน้ำมัน และในขณะเดียวกันให้มีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับผู้ผลิตยานยนต์ที่ต้องการให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนกับรถที่ใช้พลังงานทางเลือกเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างถูกต้อง ทั้งเร่งสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลโดยการร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาประเทศ ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่ามากกว่านี้ |
. |
รวมทั้งควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากหน่วยงานของภาครัฐ เร่งรัดให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออก และหามาตรการทางภาษีเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนธุรกิจของทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า ตลอดจนสนับสนุนการจัดหาแรงงานฝีมือ ซึ่งกำลังขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ |