เนื้อหาวันที่ : 2009-09-25 14:19:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2148 views

ชาวสระบุรีลุกฮือปิด ถ.มิตภาพ สุดทนโรงไฟฟ้ากดดัน-รัฐเมิน ไม่แก้ปัญหา

ชาวสระบุรี ลุกฮือรวมตัวปิดถนนมิตรภาพ สุดทนโดนบริษัทกดดัน 2 วัน ชี้บ.ขุดเจาะพื้นที่มีตำรวจคุ้มกัน ค้นตัวชาวบ้านที่ผ่านไปมา จี้รมว.พลังงานแก้ปัญหาด่วน

นักข่าวพลเมือง
.

.

ชาวสระบุรีทั้งกลุ่มต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง และต่อต้านโรงขยะเคมี รวมตัวกันปิด ถ.มิตรภาพ กดดันให้ รมว.พลังงานลงมาแก้ปัญหา ให้บริษัทหยุดดำเนินการในพื้นที่ก่อน เชื่อผ่านแค่อีไอเอ ยังไม่ได้รับใบอนุญาตอีกหลายหน่วยงาน ลั่นอดทนมา 2 วัน บ.ขุดเจาะพื้นที่มีตำรวจคุ้มกัน ค้นตัวชาวบ้านที่ผ่านไปมา

.

(24 ก.ย.52) เวลา 9.30 ชาวบ้านจาก อ.หนองแซงและ อ.ภาชี จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด (โรงไฟฟ้าก๊าซ ขนาด 1,600 เมกกะวัตต์) ได้รวมตัวกันปิดถนนมิตรภาพ (ขาออก) บริเวณหลัก กม. 99 โดยกลุ่มชาวบ้านให้เหตุผลว่า สืบเนื่องจากที่ชาวบ้านโดนกดดันมาตลอดสองวัน เพราะบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าได้ทำการขุดเจาะดินในพื้นที่ โดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการ

.

แม้ทางสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 300 นายคอยคุ้มกันการทำงาน หากชาวบ้านในพื้นที่สัญจรผ่านถนนหน้าโครงการก็จะโดนตรวจค้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันปิดถนนเพื่อขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเดินทางมาเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อขอให้บริษัทหยุดดำเนินการใดๆในพื้นที่โครงการ

.

เวลา 11.30 น. กำลังตำรวจได้เข้าผลักดันชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่บนถนนออกหมดแล้ว เพื่อเปิดเส้นทางสัญจรให้รถวิ่งผ่านได้ โดยชาวบ้านยังคงปักหลังชุมนุมประท้วงอยู่ข้างทางเพื่อเรียกร้องให้บริษัทหยุดการดำเนินงานต่างๆ และขอไม่ให้ตำรวจคุ้มกันการทำงานของบริษัทและใช้กำลังกับชาวบ้านในพื้นที่

.

ต่อมาเวลา 15.20 น. ชาวบ้านกลับมาชุมนุมที่บริเวณถนนมิตรภาพกันอีกครั้ง โดยมีการปิดถนนฝั่งขาเข้าด้วย ทำให้การจราจรในเส้นทางพหลโยธิน ช่วงกิโลเมตรที่ 99 ติดขัด เป็นอัมพาต ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น นอกจากนี้ยังมีการตั้งเต้นท์บนถนน และมีชาวบ้านในหลายหมู่บ้านทยอยเข้ามาชุมนุมกันอย่างต่อเนื่อง

.

รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ก็ได้ช่วยกันส่งเสบียงแก่ผู้ชุมนุม อีกทั้งกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะสารเคมีของบริษัท เบ็ตเตอร์ เวิลด์ จำกัด ซึ่งเคยปิดถนนพหลโยธินมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 3 เดือนก่อนก็ได้มาสมทบกับชาวบ้านที่ปิดถนนอยู่ก่อนแล้ว

.

นางนฤมล ปานวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ติดต่อแกนนำเพื่อเจรจา ผลของการเจรจากลุ่มชาวบ้านได้เสนอข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง คือ ให้มีการยุติการเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง และบ่อกำจัดขยะ ของบริษัท เบ็ตเตอร์ เวิล์ด จำกัด โดยเฉพาะบ่อขยะนั้นชาวบ้านละแวกนั้นได้ไปตรวจเลือดและพบสารก่อมะเร็งในเลือด ไม่ว่าจะเป็น นิเกิล โครเมียม แคดเมียม และตะกั่ว

.

ทั้งนี้ บ่อกำจัดขยะนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ บนภูเขา เขตรอยต่อของ หมู่ 8 ตำบลห้วยแห้ง อำเภอแก่งคอย และ ตำบลหนองปลาไหล ตำบลกุดนกเปล้า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระบุรี

.

ด้านแกนนำกลุ่มชาวบ้านได้กล่าวถึงเหตุที่ต้องดำเนินการปิดถนนว่า "การแก้ไขปัญหาของจังหวัดสระบุรีมันแย่ ชาวบ้านร้องเรียนมากี่ครั้งแล้วก็ไม่ดีขึ้น ครั้งนี้จึงต้องมาปิดถนนเพื่อให้ทางจังหวัดสระบุรีรับรู้และเห็นถึงปัญหาของชาวบ้านที่หนักหนาสาหัสจริงๆ และยังต้องการให้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมมาเจรจา ถ้าไม่มาก็จะปิดถนนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ"

.

เวลาประมาณ 17.45 น. รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้ ปลัดอำเภอหนองแซง และเจ้าหน้าที่พลังงานจังหวัดเดินทางมาพบชาวบ้านที่ถนนพหลโยธิน ซึ่งชาวบ้านได้มีข้อเรียกร้อง 5 ประเด็น คือ 1. ขอให้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานทำหนังสือตอบกลับมาว่ายังชาวบ้านว่าในตอนนี้ ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ยังไม่ได้ออกใบประกอบกิจการพลังงานแก่โรงไฟฟ้าแต่อย่างใด 2. ขอให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือยืนยันว่าโรงไฟฟ้าลงทำการขุดเจาะสำรวจดินในพื้นที่โดยที่กรมโรงงานฯยังไม่ออกใบอนุญาตแต่อย่างใด

.

3. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีทำหนังสือยืนยันว่าการชุมนุมของชาวบ้านในครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่กระทำได้ตามสิทธิรัฐธรรมนนูญ เพราะเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ 4. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าผังเมืองตามตำแหน่ง ออกหนังสือการประกาศผังเมืองเฉพาะคุ้มครองพื้นที่อำเภอหนองแซง ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม ซึ่งห้ามมิให้ก่อสร้างโรงงาน หรือ อุตสาหกรรมทุกชนิดไม่เว้นโรงไฟฟ้า เพื่อปกป้องพื้นที่ทางการเกษตรที่ปลูกข้าวให้กับคนทั้งประเทศ

.

5. ให้หัวหน้าหน่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการคุ้มกันการทำงานของบริษัท ชี้แจงต่อชาวบ้านว่าเพราะสาเหตุใดจึงต้องมาทำหน้าที่คุ้มกันการทำงานของบริษัทเอกชน และเข้าตรวจค้นชาวบ้านที่สัญจรผ่านไปมาโดยตลอดระยะเวลาสองวัน แต่กลับไม่ตรวจค้นและยึดอาวุธของคนงานของบริษัทที่ที่มีทั้ง ไม้กระบอง มีด

.

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่มารับเรื่องได้รับปากกับชาวบ้านว่าจะประสานงานให้ชาวบ้านในข้อเรียกร้องที่ 1 เท่านั้น ส่วนข้ออื่นๆ จะนำไปปรึกษาหารือกับคณะทำงานของจังหวัดฯ ที่มีการเรียกประชุมตอนเวลา 19.00 น.ในวันนี้ ความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

.

ทั้งนี้ พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ในบริเวณที่มีการทำนา ทั้งฝั่ง อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.อยุธยา โดยในผังเมืองรวมของจังหวัดซึ่งขณะอยู่ในช่วงรอการประกาศผังใหม่หลังจากทำประชาพิจารณ์ไปแล้วระบุถึงเจตนารมณ์ให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม (สีขาวทแยงเขียว) ซึ่งห้ามมิให้ก่อสร้างโรงงาน หรือ อุตสาหกรรมทุกชนิด

.

โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (ไอพีพี) เมื่อปลายปี 2550 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในเครือเดียวกับโรงไฟฟ้าสยาม เอนเนอยี่ ซึ่งเป็นโครงการที่จะก่อสร้างที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นบริษัทลูกของกลุ่มทุนเจพาวเวอร์จากประเทศญี่ปุ่น

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com)