เนื้อหาวันที่ : 2009-09-24 17:15:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3965 views

กฟน. จ่ายไฟฟ้าผ่านอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในไทย

กฟน. เสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น จ่ายไฟฟ้าผ่านอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินบางกะปิ-ชิดลม ระยะทาง 7 กิโลเมตร พร้อมเปิดอาคารสถานีต้นทางชิดลมแห่งใหม่

.

กฟน. เสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้า และรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ จ่ายไฟฟ้าผ่านอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินบางกะปิ-ชิดลม ระยะทาง 7 กิโลเมตร พร้อมเปิดอาคารสถานีต้นทางชิดลมแห่งใหม่

.

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 52 นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ได้เป็นประธาน ในพิธีเปิดการจ่ายไฟฟ้าขนาด 230 kV ผ่านอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน ลอดใต้คลองแสนแสบ จากสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ความยาว 7 กิโลเมตร พร้อมกันนี้ยังได้เปิดอาคารสถานีต้นทางชิดลมแห่งใหม่ที่ติดตั้งอุปกรณ์ 230 kV GIS, 69 kV GIS, Control Protection System ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เพื่อทดแทนสถานีต้นทางชิดลมเดิม และยังติดตั้งหม้อแปลงใหม่ขนาดแรงดัน 230 kV 300 MVA จำนวน 2 ลูก ซึ่งเป็นหม้อแปลงขนาดใหญ่ที่สุดที่ผลิตได้ในประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

.

อุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาด 230 kV มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางภายใน 2.62 เมตร ถือได้ว่าเป็นอุโมงค์สาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศต่อจากอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าลาดพร้าว-วิภาวดี ภายในอุโมงค์ติดตั้งเคเบิลไฟฟ้าขนาด 230 kV 2 วงจร พร้อมทั้งท่อน้ำเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ระบบแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ ระบบเตือนภัยและระบบสูบน้ำ สามารถตรวจสอบสถานการณ์การจ่ายไฟฟ้าภายในอุโมงค์ได้ตลอดเวลา

.

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ติดตั้งสายส่งขนาด 230 kV 1 วงจร และขนาด 69 kV 2 วงจร ได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจ บริเวณราชประสงค์ เพลินจิต สุขุมวิท สีลม และปทุมวัน มีความมั่นคงในระบบไฟฟ้าสูง และรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ

.

สำหรับอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดินขนาด 230 kV เป็นการก่อสร้างทดแทนสายส่งไฟฟ้าเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 25 ปี โดยใช้เงินกู้จาก JBIC (Japan Bank for International Cooperation) ในการก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กฟน. ได้ก่อสร้างสถานีต้นทางชิดลมเพื่อรับไฟจากอุโมงค์ดังกล่าวอีก 900 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายโครงการทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท โดยตัวอุโมงค์มีความลึกประมาณ 26-30 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับลึกมากและใช้เทคโนโลยีเดียวกับการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจราจร

.