เนื้อหาวันที่ : 2009-09-24 10:40:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 541 views

กูรูการสร้างแบรนด์ร้องรัฐหนุนอาร์แอนด์ดี รับ"ครีเอทีฟ อีคอร์โนมี"

กูรูการสร้างแบรนด์ร้องรัฐหนุนอาร์แอนด์ดี สอดรับยุทธศาสตร์“ครีเอทีฟ อีคอร์โนมี” ชี้กระแสรักษ์สุขภาพและความยั่งยืนเทรนด์ตลาดใหม่ กระตุ้นผู้ประกอบการไทยดันสิ่งที่ทำอยู่แล้วออกมาให้เห็นถึงความ “แตกต่าง”สร้างจุดขายใหม่ ยกตัวอย่างออร์แกนิก ระบบบำบัดน้ำเสีย ใช้พลังงานธรรมชาติ เหลือขยะให้น้อยที่สุด

.

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยในระหว่างการจัดโครงการส่งเสริมตราสัญลักษณ์ไทย(แบรนด์โฟกัส)ว่า  นับเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์(ครีเอทีฟ อีคอร์โนมี)โดยจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด สร้างเครือข่ายการขาย และสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง ซึ่งเป็นทิศทางที่นักธุรกิจไทย จะสามารถส่งเสริมการส่งออกได้อย่างยั่งยืน 

.

"จากข้อมูลที่ได้เดินทางชี้แจงผู้ประกอบการในทุกภูมิภาค เกี่ยวกับการส่งเสริมการส่งออก ผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอีเห็นว่า การสร้างแบรนด์เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้นทุนสูง จึงอยากให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเอง โดยขณะนี้มีสินค้าไทยรายเล็กๆ ไปจำหน่ายในต่างประเทศแล้วหลายแบรนด์ อาทิ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า-แฟชั่น ภาคบริการ สปา และร้านอาหาร หากผู้ประกอบการไทยพัฒนาให้มีความทันสมัย ก็จะสามารถขยายตลาดการส่งออกใหม่ได้เพิ่มขึ้น" นายราเชนทร์ กล่าว 

.

ทั้งนี้ภายใน 6 ปี ภาษีนำเข้าภายในอาเซียนจะเป็น 0% และการเปิดเขตเสรีการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ในหลายประเทศ ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยและเกิดการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้น จำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมพร้อม โดยเริ่มจากนโยบายของบริษัท  กำหนดวิธีการให้เป็นไปตามแผน การสร้างเครือข่ายในต่างประเทศและการส่งเสริมการสร้างแบรนด์ เพราะในอนาคตผู้บริโภคจะจำชื่อแบรนด์มากกว่าประเทศที่ผลิต 

.

นางศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะแบรนด์ บีอิ้ง คอนซัลแทนส์ จำกัด กูรูและที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ กล่าวถึงแนวโน้มการสร้างแบรนด์ยุคใหม่นั้น ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งสินค้าบริการและบุคลากรโดยที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการบางแล้ว แต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพราะปัญหาของผู้ประกอบการ คือ ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นตัวทำตลาด ทั้งๆ ที่รู้ว่าปลายทาง คือ การถูกกดราคาจนต่ำสุด 

.

"กลยุทธ์การสร้างแบรนด์อยู่ที่ความตั้งใจในการทำและต้องทำอย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับหาจุดยืนของแบรนด์ เพื่อสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น ซึ่งในต่างประเทศได้พัฒนาเรื่องออร์แกนิก หรือ เกษตรอินทรีย์นำมาเป็นจุดขาย ถือเป็นความแตกต่างที่ได้รับความนิยมสูงมาก เช่น ผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ในไร่ของเกษตรกรชื่อ เมือง ประเทศ หรือ ในกิจการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือ ใช้พลังงานธรรมชาติ เป็นต้น" นางศิริกุล กล่าวและว่า

.

นอกจากนี้กระแสการทำธุรกิจแบบใส่ใจสุขภาพและการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นกระแสการตลาดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตอันใกล้ ต่อเนื่องจากกระแสการอนุรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นการผลิตสินค้าบริการของภาคธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกระแสตลาดใหม่นี้ แบรนด์ไทยหนึ่งเดียวในโลกที่ทำได้ไปก่อนแล้ว คือ แบรนด์ "ดอยตุง"