เนื้อหาวันที่ : 2009-09-22 11:08:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3843 views

OHSAS 18001: 2007 มาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

OHSAS 18001 จัดเป็นมาตรฐานด้านการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ที่เป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเรา โดยเฉพาะในแวดวงโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็มีการจัดทำระบบและได้รับการรับรองกันเป็นจำนวนมาก

กิตติพงศ์  จิรวัสวงศ์
kitroj@yahoo.com

.

.

OHSAS 18001 จัดเป็นมาตรฐานด้านการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ที่เป็นที่รู้จักกันดีในบ้านเรา โดยเฉพาะในแวดวงโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็มีการจัดทำระบบและได้รับการรับรองกันเป็นจำนวนมาก โดยในกลุ่มของมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนี้ จะประกอบด้วยมาตรฐาน OHSAS 18001: 2007 ซึ่งจะระบุข้อกำหนดที่จะต้องจัดทำ และสามารถขอการรับรองได้

.

ส่วนมาตรฐาน OHSAS 18002 จะใช้เป็นแนวทางในการนำข้อกำหนดต่าง ๆ ของมาตรฐาน OHSAS 18001 มาประยุกต์ใช้ รวมถึงมาตรฐานนี้สามารถนำไปใช้ร่วมกับมาตรฐานระบบบริหารงานอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น มาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ (ISO 9001: 2000) และมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001: 2004) เพื่อให้เกิดการบริหารงานร่วมกันของระบบคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร

.

ในการดำเนินการเริ่มต้นการจัดทำระบบตามมาตรฐาน OHSAS 18001 จะเริ่มต้นจากการทบทวนสถานะเริ่มต้นขององค์กร โดยให้ทำการประเมินว่าองค์กรมีการดำเนินการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในด้านใดแล้วบ้าง เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ นโยบาย วัตถุประสงค์ และกระบวนการต่าง ๆ โดยจะต้องพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปนี้

.

1. ข้อกฏหมาย กฏระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
2. ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของทรัพยากรขององค์กร เพื่อนำมาใช้ในการจัดทำระบบ
3. มาตรการที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัย และความปลอดภัยที่องค์กรดำเนินการอยู่
4. แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งอาจจะมาจากภายในองค์กร หรือจากองค์กรอื่น ๆ ที่มีการจัดทำเอาไว้

.

โดยเทคนิคที่จะนำมาใช้ในการทบทวนสถานะเริ่มต้นประกอบด้วย การสำรวจ การตรวจประเมิน การตรวจสอบข้อมูล การทบทวนบันทึกและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเปรียบเทียบข้อมูลกับแหล่งต่าง ๆ ทั้งนี้ในการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐาน OHSAS 18001 จะขับเคลื่อนผ่านกระบวนการหลัก ๆ ดังแสดงในรูป ซึ่งประกอบด้วย

.

1. การกำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OH&S Policy)
2. การวางแผน (Planning)
3. การปฏิบัติการและการนำไปใช้งาน (Implementation and Operation)
4. การตรวจสอบ และการปฏิบัติการแก้ไข (Checking and Corrective Action)
5. การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร (Management Review)
6. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement)

.

รูปที่ 1 แสดงกระบวนการหลักใน OHSAS 18001

.
การกำหนดนโยบายอาชีวอนามัย และความปลอดภัย

เมื่อองค์กรได้ทำการทบทวนสถานะเริ่มต้น เพื่อประเมินถึงความพร้อมขององค์กร รวมถึงสิ่งที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐาน OHSAS 18001 แล้ว ขั้นตอนถัดไป ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะต้องกำหนดและอนุมัตินโยบายการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย (Occupational Health and Safety Policy, OH&S Policy) โดยนโยบายที่กำหนดขึ้น จะต้องอยู่ในขอบเขตของระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยที่กำหนดไว้ด้วย ทั้งนี้นโยบายจะต้อง

.

• เหมาะสมกับลักษณะ และขนาดของความเสี่ยงทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร รวมถึงได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร และมีการแสดงหลักฐานการอนุมัติไว้อย่างชัดเจนด้วย

.

• แสดงถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย รวมถึงการปรับปรุงระบบการจัดการและผลการดำเนินงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง

.

• แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอันตรายที่มีต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

• ใช้เป็นกรอบสำหรับการกำหนด และการทบทวนวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• จัดทำเป็นเอกสาร มีการนำไปปฏิบัติ และได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้มีความทันสมัยกับสภาพในปัจจุบัน

.

• ได้รับการสื่อสารไปยังบุคลากรทุกคนที่การทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กร
• พร้อมสำหรับการแจ้งให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ
• ได้รับการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายังคงมีความเกี่ยวข้องและเหมาะสมสำหรับองค์กรต่อไป

.

การวางแผน

ในการวางแผน จะประกอบด้วยกระบวนการย่อย ๆ ได้แก่
1 การระบุถึงอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการควบคุม
2 กฏหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ
3 วัตถุประสงค์ เป้าหมายและโครงการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.
1. การระบุถึงอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการควบคุม

ในขั้นตอนแรกของการวางแผน ระบุว่าองค์กรจะต้องมีการจัดทำ และดำเนินการ ในส่วนของวิธีการปฏิบัติงานในการระบุถึงอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการควบคุม โดยการจัดทำวิธีการปฏิบัติงาน จะต้องพิจารณาถึง

.

1. กิจกรรมที่มีการดำเนินการเป็นประจำ และเป็นครั้งคราว
2. กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทุกคนที่เข้ามาภายในสถานที่ทำงาน รวมถึงผู้รับเหมา และผู้มาติดต่อกับองค์กร

.

3. พฤติกรรมของมนุษย์ ขีดความสามารถ และปัจจัยมนุษย์ทางด้านอื่น ๆ
4. การระบุถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากภายนอกสถานที่ทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อสุขอนามัย และความปลอดภัยของบุคลากรที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กร ภายในสถานที่ปฏิบัติงาน

.

5. อันตรายที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ใกล้สถานที่ทำงาน โดยเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ภายใต้การควบคุมขององค์กร
6. โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และวัสดุที่อยู่ในสถานที่ทำงาน ที่จัดหามาโดยองค์กรเอง หรืออาจจะโดยหน่วยงานอื่น ๆ

.

7. การเปลี่ยนแปลง หรือข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงกิจกรรม หรือวัสดุต่าง ๆ ภายในองค์กร
8. การปรับแต่งระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว และผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติงาน กระบวนการ และกิจกรรมต่าง ๆ

.

9. ข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง และการดำเนินมาตรการควบคุมที่จำเป็น
10. การออกแบบพื้นที่ปฏิบัติงาน การติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำงาน วิธีการปฏิบัติงานและการจัดองค์กรในการทำงาน รวมถึงการนำมาปรับใช้กับขีดความสามารถของมนุษย์

.
นอกจากนั้น วิธีการที่องค์กรจะใช้ในการระบุอันตราย และการประเมินความเสี่ยงจะต้อง

• กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงขอบเขต ลักษณะขององค์กร และกรอบระยะเวลา เพื่อให้มั่นใจได้ถึงการดำเนินการในเชิงรุก มากกว่าการทำงานเชิงรับ

.

• จัดให้มีการชี้บ่ง การจัดลำดับความสำคัญ และการจัดทำเป็นเอกสารสำหรับความเสี่ยง และมาตรการควบคุมที่จะนำมาใช้
ในการวางแผน จะครอบคลุมตั้งแต่การนำผลการทบทวนสถานะ นโยบายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ข้อกฏหมายและระเบียบบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาทำการชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยง และกำหนดมาตรการควบคุม จะประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

.

1. ทำการกำหนดวัตถุประสงค์ทั้งหมด และเลือกวัตถุประสงค์ที่มีความสำคัญมากที่สุด
2. กำหนดวัตถุประสงค์หลักในเชิงปริมาณ และดัชนีชี้วัด ที่สามารถวัดความสำเร็จของวัตถุประสงค์ และความมีประสิทธิผลของแผนการดำเนินงาน
3. จัดทำแผนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแผน สำหรับการตรวจประเมินความครบถ้วนของการดำเนินงานตามแผนที่กำหนด
4. มีการดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางไว้
5. วัดผลการดำเนินงาน และทบทวนความครบถ้วน ความสมบูรณ์ รวมถึงความมีประสิทธิผลของแผนงาน

.

การชี้บ่งอันตราย

จะเป็นกระบวนการในการค้นหาสิ่งหรือเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยในการทำงาน หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือต่อชุมชนโดยรอบสถานที่ทำงาน โดยการชี้บ่งจะครอบคลุมถึง

.
1. ประเภทของการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
2. เหตุการณ์ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน ความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือต่อชุมชน
3. วิธีการทำงานที่องค์กรกำหนดขึ้น
.
ทั้งนี้ แนวทางที่จะนำมาใช้ในการชี้บ่งอันตราย จะประกอบด้วย

• การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์
• การสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
• การศึกษาจากข้อมูล หรือบันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
• การวิเคราะห์งาน ทั้งการวิเคราะห์อันตรายในภาวะปกติ และการวิเคราะห์อันตรายในภาวะที่ไม่ปกติ

.

การประเมินระดับความเสี่ยง

การประเมินระดับของความเสี่ยงของอันตรายแต่ละรายการ จะพิจารณาจากระดับของความรุนแรงของผลที่เกิดขึ้นจากอันตรายนั้น ๆ และโอกาสในการเกิดขึ้น โดยองค์กรจะต้องกำหนดเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการประเมินทั้งระดับของความรุนแรง ทั้งการบาดเจ็บและการเจ็บป่วย ความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สิน หรือต่อสภาพแวดล้อม

.

และเกณฑ์สำหรับโอกาสในการเกิดขึ้นของอันตรายต่าง ๆ ในการประเมินระดับของความรุนแรง จะพิจารณาจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการทำงาน โดยเกณฑ์การประเมิน จะพิจารณาจากผลของการบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เช่น ส่วนของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ หรือลักษณะของการบาดเจ็บ ตั้งแต่การบาดเจ็บในระดับปฐมพยาบาล ไปจนถึงการสูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิต

.

ส่วนการประเมินความรุนแรงในลักษณะของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะประเมินระดับความรุนแรงจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้

.

• จำนวนเงินชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
• เวลาในการทำงานที่สูญเสียไป
• ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารสถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย
• วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เสียหายจากปัญหาที่เกิดขึ้น
• ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และผลกระทบทางการตลาด
• ผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม

.
ในส่วนของการประเมินโอกาสในการเกิดอันตราย จะพิจารณาจาก
• จำนวนของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
• ความถี่ และช่วงเวลาที่จะสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับอันตราย
• ข้อมูลความผิดพลาด หรือความบกพร่องของอาคารสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์

• ลักษณะของการสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอันตราย
• การจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลตามลักษณะของการทำงาน และความถี่ในการใช้อุปกรณ์นั้น ๆ
• การกระทำที่ไม่ปลอดภัย หรือการทำงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย การทำงานโดยประมาท เลินเล่อ หรือขาดความรู้ ทักษะในการทำงาน หรือตั้งใจฝ่าฝืนกฏระเบียบ หรือคำสั่งด้านความปลอดภัย

.

ภายหลังจากที่ได้มีการพิจารณาทั้งระดับของความรุนแรง และโอกาสในการเกิดขึ้นของอันตรายต่าง ๆ แล้ว ให้นำผลของการประเมินมา

คำนวณเป็นค่าระดับความเสี่ยงว่าอยู่ในระดับใด โดยทั่วไปจะแบ่งระดับของความเสี่ยงออกเป็นระดับง่าย ๆ เช่น แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับความเสี่ยงเล็กน้อย ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ระดับความเสี่ยงปานกลาง ระดับความเสี่ยงสูง และระดับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้

.

ในกรณีที่พบว่าระดับของความเสี่ยงอยู่ในระดับเล็กน้อย องค์กรอาจจะไม่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมจากระบบการควบคุมที่มีอยู่แต่อย่างใด แต่ถ้าพบว่าอันตรายนั้นอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ องค์กรจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการในการจัดการและควบคุมความเสี่ยงในลดระดับลงต่อไป

.
การควบคุมความเสี่ยง

ในขั้นตอนนี้ จะต้องมีการวางแผน และควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำให้เกิด หรืออาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของบุคลากรในองค์กร รวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทรัพย์สิน สภาพแวดล้อม และชุมชน ทั้งนี้ ในการควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะเป็นการควบคุมอันตรายที่แหล่งกำเนิด แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือยังมีความเสี่ยงที่สูงอยู่ ก็ควรจะพิจารณาในการควบคุมเส้นทางระหว่างแหล่งกำเนิดของอันตรายไปจนถึงผู้ปฏิบัติงาน แล้วจึงมาพิจารณาการควบคุมที่ผู้ปฏิบัติงานเป็นลำดับถัดไป

.
แนวทางที่ใช้ในการควบคุมความเสี่ยง จะประกอบด้วย

• การขจัดอันตรายหลาย ๆ ประเภทพร้อมกัน หรือการขจัดอันตรายที่แหล่งกำเนิด เช่น การเปลี่ยนมาใช้สารเคมีที่มีความปลอดภัยแทน
• การลดความเสี่ยงลง เช่น การลดปริมาณการใช้สารอันตราย การลดโอกาสหรือเงื่อนไขในการเกิดอันตราย
• การปรับสภาพการทำงานให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพของร่างกายและจิตใจของผู้ปฏิบัติงาน
• การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการปรับปรุงการควบคุมอันตรายรูปแบบต่าง ๆ
• การเลือกมาตรการป้องกันภัยที่ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานให้มากที่สุด
• การกำหนดแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์การทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร
• การใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
• การกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
• การกำหนดดัชนีชี้วัดเชิงรุก เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานตามมาตรการควบคุมที่กำหนด

.

นอกจากนั้น องค์กรควรกำหนดให้มีระบบในการตรวจติดตาม และตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสม เพียงพอ ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการจัดการกับความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ โดยแนวทางที่ใช้ในการตรวจติดตามและตรวจสอบ ประกอบด้วย

.

1. การตรวจสอบด้วยตนเอง เป็นการดำเนินการตรวจสอบโดยผู้ปฏิบัติงานเองในพื้นที่ที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน และเหมาะสมต่อการทำงาน

.

2. การตรวจติดตาม และตรวจสอบ เป็นการดำเนินการโดยหัวหน้างาน หรือผู้จัดการ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานได้ปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอนการทำงาน และกฏระเบียบความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานที่กำหนด

.

3. การตรวจประเมินโดยหน่วยงานอิสระ เป็นการดำเนินการตรวจประเมินอย่างเป็นทางการ โดยหน่วยงานที่เป็นอิสระจากพื้นที่ที่จะทำการตรวจ เพื่อให้มั่นใจได้ถึงการปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอนการทำงาน และกฏระเบียบความปลอดภัยในการทำงาน การจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการทำงาน

.

2. ข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ

องค์กรจะต้องจัดทำ และดำเนินการตามวิธีการปฏิบัติงานในการระบุ และประเมินข้อกฏหมาย รวมถึงข้อกำหนดทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมั่นใจได้ว่าข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ถูกนำมาพิจารณาในการจัดทำ นำมาปฏิบัติ และดูแลรักษาระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงจัดให้มีการดูแลให้ข้อมูลต่าง ๆ ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอด้วย

.
ขั้นตอนในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ จะประกอบด้วย

1. การกำหนดผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ในการรวบรวมและติดตามข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงพิจารณาถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

.

2. ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บริหาร ในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฏหมาย และข้อกำหนดนั้น ๆ รวมถึงการพิจารณาและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการดำเนินงาน

.
3.  กำหนดวิธีการในการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ทั้งที่เป็นข้อกฏหมายใหม่ ๆ หรือที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
.

4. จัดให้มีการฝึกอบรมในข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสาระสำคัญ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

.

5. จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญให้การให้คำปรึกษาถึงแนวทางในการดำเนินการตามข้อกฏหมาย รวมถึงจัดหาแหล่งข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงาน โดยแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการชี้บ่งและติดตามข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมาจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ สมาคมหรือสถาบันที่องค์กรเป็นสมาชิก รวมถึงจากผู้เชี่ยวชาญเอง

.

3. วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และโปรแกรมการดำเนินงาน

องค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาไว้ สำหรับเอกสารวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในหน่วยงานและระดับงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร โดยวัตถุประสงค์จะต้องสามารถวัดได้ และสอดคล้องกันกับนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงแสดงถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันการบาดเจ็บ และการเจ็บป่วยทางสุขภาพ รวมถึงการดำเนินการให้สอดคล้องตามข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง

.

เมื่อทำการกำหนดและทบทวนวัตถุประสงค์ องค์กรจะต้องคำนึงถึงข้อกฏหมาย และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่องค์กรเป็นสมาชิก หรือมีความเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งคำนึงถึงความเสี่ยงทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงทางเลือกทางเทคโนโลยี การเงิน การปฏิบัติงาน และข้อกำหนดทางธุรกิจ และมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร

.

ทั้งนี้ องค์กรจะต้องจัดทำ นำไปฏิบัติ และดูแลรักษาไว้ สำหรับโปรแกรมในการดำเนินการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยโปรแกรมจะต้องครอบคลุมถึง

.

• การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ ในการดำเนินการเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ในหน่วยงาน และระดับงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร

.

• แนวทางและกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์
โดยโปรแกรมจะต้องได้รับการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ตามช่วงเวลาที่ได้วางแผนไว้ รวมถึงได้รับการปรับแต่งตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัตถุประสงค์จะสำเร็จตามที่ต้องการ

.

การปฏิบัติการ และการนำไปใช้งาน

ในส่วนของกระบวนการปฏิบัติการ และการนำไปใช้งาน จะประกอบด้วยกระบวนการต่าง ๆ ประกอบด้วย

3.1 การกำหนดทรัพยากร บทบาท อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ
3.2 ความสามารถ การฝึกอบรม และความตระหนัก
3.3 การสื่อสาร การมีส่วนร่วมและการให้คำปรึกษา
3.4 ระบบเอกสาร และการควบคุมเอกสาร
3.5 การควบคุมการปฏิบัติงาน
3.6 การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน

.
1. การกำหนดทรัพยากร บทบาท อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะต้อง

• ดูแลให้มีทรัพยากรที่จำเป็นอย่างเพียงพอ สำหรับการจัดทำ การนำไปปฏิบัติ การดูแลรักษา และการปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยทรัพยากรต่าง ๆ จะครอบคลุมถึงทรัพยากรบุคคลและทักษะเฉพาะด้าน โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร เทคโนโลยี และทรัพยากรทางด้านการเงิน

.

• กำหนดบทบาท และการจัดสรรหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมถึงการมอบหมายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อช่วยให้การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้ บทบาทความรับผิดชอบ และอำนาจหน้าที่ จะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารไว้อย่างชัดเจน และได้รับการสื่อสารให้ทราบอย่างทั่วถึงด้วย

.

นอกจากนั้น จะต้องมีการกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการดูแลระบบ หรือที่เรียกว่าผู้แทนฝ่ายบริหาร (Management Representative) ซึ่งจะมาจากสมาชิกของทีมผู้บริหารระดับสูง โดยมีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ ดังนี้

.

1. ดูแลให้มีการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีการนำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

2. ดูแลให้มีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และนำเสนอต่อผู้บริหารระดับสูง เพื่อทำการทบทวน และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต่อไป

.

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมั่นใจได้ว่าบุคลากรที่อยู่ในสถานที่ปฏิบัติงาน มีความรับผิดชอบ และตระหนักถึงประเด็นด้านต่าง ๆ ของงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งในส่วนของมาตรการควบคุมที่จะต้องปฏิบัติตาม และการยึดมั่นในข้อกำหนดต่าง ๆ ขององค์กรในด้านอาชีว

.
อนามัยและความปลอดภัย โดยแนวทางในการสร้างให้เกิดความร่วมมือที่ดี จะประกอบด้วย

1. ทีมงานในการจัดทำ และดำเนินการระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ควรจะมาจากบุคลากรในส่วนงานต่าง ๆ ขององค์กร
2. ในการระบุปัญหา ควรจะเป็นการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในส่วนงานต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนพนักงานด้านความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และคณะกรรมการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
3. การตรวจประเมินระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
4. การทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.
2. ความสามารถ การฝึกอบรม และการรับรู้

องค์กรจะต้องมั่นใจได้ว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมขององค์กร ที่สามารถส่งผลกระทบต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัย จะต้องมีความสามารถบนพื้นฐานของการศึกษา การฝึกอบรม หรือประสบการณ์อย่างเหมาะสม และจะต้องมีการดูแลรักษาบันทึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

.

องค์กรจะต้องระบุถึงความจำเป็นในการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร โดยจะต้องจัดให้มีการฝึกอบรม หรือการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อให้ได้ตามความจำเป็นที่ระบุไว้ รวมถึงมีการประเมินความมีประสิทธิผลของการฝึกอบรมหรือการดำเนินการใดก็ตาม และมีการจัดเก็บดูแลรักษาบันทึกที่เกี่ยวข้องด้วย

.
ทั้งนี้ ขั้นตอนของการฝึกอบรม จะประกอบด้วย

• การระบุถึงความต้องการในการฝึกอบรม ตามลักษณะงานที่รับผิดชอบ
• การกำหนดแผนการฝึกอบรมตามที่ต้องการ
• การตรวจสอบความถูกต้อง ความสอดคล้องตามข้อกฏหมาย และข้อกำหนดขององค์กร
• ดำเนินการฝึกอบรมตามแผนงานที่กำหนด
• ประเมินความมีประสิทธิผลของการฝึกอบรม และมีการจัดเก็บบันทึกที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมไว้อย่างเหมาะสม

.
องค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับการกำหนดหลักสูตรในการฝึกอบรม จะประกอบด้วย

1. ความเข้าใจในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กร รวมถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล
2. การฝึกอบรม ควรครอบคลุมถึงการเตรียมการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสถานที่ปฏิบัติงาน ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน หรือวิธีการทำงาน เช่น อันตราย ความเสี่ยง และมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน
3. การกำหนดวิธีการประเมินความมีประสิทธิผลของการฝึกอบรม

.

4. การฝึกอบรมจะต้องครบคลุมไปยังบุคลากรในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้รับเหมา ผู้รับจ้างช่วง ลูกค้า ผู้มาเยี่ยมชมกิจการ พนักงานชั่วคราว เพื่อให้เข้าใจถึงอันตราย และความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย ตามระดับของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับบุคคลในแต่ละประเภท เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการเข้ามาบริเวณที่องค์กรรับผิดชอบอยู่
5. บทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง ในการดูแลระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

องค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษา วิธีการปฏิบัติงานในการสร้างการรับรู้ และความตระหนักให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมขององค์กร ถึงผลกระทบที่ตามมาทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งที่เกิดขึ้น และมีโอกาสจะเกิดขึ้นจากการทำงาน และจากพฤติกรรมของแต่ละบุคคล รวมถึงประโยชน์ของงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีต่อการปรับปรุงผลการดำเนินงานของแต่ละบุคคล

.
3. การสื่อสาร การมีส่วนร่วมและการให้คำปรึกษา

องค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาวิธีการปฏิบัติงาน สำหรับการสื่อสาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องอันตรายทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ประกอบด้วย

.

1. การสื่อสารภายในระหว่างหน้าที่งานและระดับงานต่าง ๆ ภายในองค์กร
2. การสื่อสารกับผู้รับจ้างช่วง (Contractor) และผู้มาติดต่องานกับองค์กร
3. การรับ การจัดทำเอกสาร และการตอบสนองต่อการสื่อสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ

.

ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษา วิธีการปฏิบัติงานสำหรับ

1. การมีส่วนร่วมของบุคลากร โดยการมีส่วนร่วมในการระบุถึงอันตราย การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการในการควบคุม การสอบสวนเหตุการณ์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น การพัฒนาและทบทวนนโยบายและวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัย และการเป็นตัวแทนในงานด้านอาชีวอนามัย
2. การให้คำแนะนำกับผู้รับจ้างช่วง ถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่ออาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.
4. ระบบเอกสาร และการควบคุมเอกสาร
ระบบเอกสารสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จะประกอบด้วย

1. นโยบาย และวัตถุประสงค์ของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
2. คำอธิบายเกี่ยวกับขอบเขตของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
3. คำอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ และการอ้างอิงเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. เอกสารอื่น ๆ รวมถึงบันทึกตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
5. เอกสารอื่น ๆ รวมถึงบันทึก ที่กำหนดขึ้นโดยองค์กรเองเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมี เพื่อให้เกิดความมีประสิทธิผลของการวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมกระบวนการ ที่เกี่ยวกับการจัดการกับความเสี่ยงทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

เอกสารที่จัดทำขึ้น จะพิจารณาจากขนาด ความซับซ้อนขององค์กร รวมถึงกระบวนการในการทำงานและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับองค์กร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดรายละเอียดของเอกสาร นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน และข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

.

ทั้งนี้ เอกสารที่จำเป็นสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และโดยมาตรฐานระบบการจัดการนี้ จะต้องได้รับการควบคุม โดยองค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาวิธีการปฏิบัติงาน ในการ

.

1. อนุมัติเอกสารก่อนนำไปใช้งาน
2. ทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยตามความจำเป็น และการอนุมัติเอกสารซ้ำ
3. ดูแลให้มั่นใจได้ว่ามีการชี้บ่งการเปลี่ยนแปลง และสถานะปัจจุบันของเอกสาร
4. ดูแลให้มั่นใจว่ามีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พร้อมใช้ที่จุดทำงาน
5. ดูแลให้มั่นใจว่า เอกสารสามารถอ่านออกได้ง่าย

.

6. ดูแลให้มั่นใจว่า เอกสารจากภายนอกองค์กร ที่องค์กรเห็นว่าจำเป็นสำหรับการวางแผน และการดำเนินงานของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ได้รับการชี้บ่ง และควบคุมการแจกจ่าย

.

7. ป้องกันการนำไปใช้งานของเอกสารที่ยกเลิกแล้ว โดยไม่ได้ตั้งใจ และมีการชี้บ่งอย่างเหมาะสมสำหรับเอกสารเหล่านั้น หากจำเป็นต้องจัดเก็บเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม

.

5. การควบคุมการปฏิบัติงาน

องค์กรจะต้องกำหนดให้มีการปฏิบัติงาน และกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับอันตรายที่ได้มีการระบุไว้ เพื่อดำเนินมาตรการควบคุม สำหรับการจัดการกับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

.
การปฏิบัติงาน และกิจกรรมที่องค์กรจะต้องนำไปปฏิบัติ และดูแลรักษา จะประกอบด้วย

1. การควบคุมการปฏิบัติงาน ที่นำมาใช้ในองค์กรและกิจกรรมต่าง ๆ โดยองค์กรจะต้องทำการบูรณาการมาตรการควบคุมการปฏิบัติงาน เข้ากับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยทั้งหมด

.

2. การควบคุมที่เกี่ยวกับสินค้าที่จัดซื้อมา รวมถึงอุปกรณ์ และการบริการ
3. การควบคุมที่เกี่ยวกับผู้รับจ้างช่วง และผู้มาติดต่อ ที่อยู่ในสถานที่ทำงาน

.

4. เอกสารวิธีการปฏิบัติงาน ที่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หากไม่มีเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการเบี่ยนเบนไปจากนโยบาย และวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

5. หลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน ที่หากไม่มีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนไปจากนโยบาย และวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

การกำหนดรายละเอียดของการควบคุมการปฏิบัติงาน จะพิจารณาผลของการประเมินความเสี่ยง นโยบาย และการเตรียมการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเฉพาะในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การดำเนินการในขณะติดตั้งงาน การหยุดของเครื่องจักร การปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เป็นอันตราย การทำงานในบริเวณที่มีสารเคมี ความร้อน แสงหรือเสียง การบำรุงรักษาเครื่องจักรและระบบสาธารณูปโภค การทำงานในที่สูง การทำงานในสถานที่อับอากาศ เป็นต้น

.

โดยการพิจารณามาตรการในการควบคุม จะแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะประกอบด้วย

1. การป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโครงการใหม่ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิต หรือมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่
2. กิจกรรมการควบคุมตามปกติ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
3. การจัดการด้านกลยุทธ์ในการคาดการณ์ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดด้านความปลอดภัย

.

6. การเตรียมความพร้อม และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน

องค์กรจะต้องจัดให้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการลดความรุนแรง และความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของการเตรียมความพร้อม จะประกอบด้วย

.

• เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
• เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันของบุคลากรในทุกระดับ มีการกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
• เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการกับภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น
• เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้รู้หน้าที่ของตนเอง ผ่านการฝึกซ้อมการปฏิบัติงานตามแผนฉุกเฉิน
• เพื่อให้เกิดการประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างหน่วยงานภายใน และภายนอกองค์กรในการให้ความช่วยเหลือ กู้ภัย และฟื้นฟู

.
แผนฉุกเฉิน ควรจะประกอบด้วย

1. โครงสร้างและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนฉุกเฉิน ตั้งแต่ ผู้บริหารระดับสูง คณะทำงานที่รับผิดชอบในการจัดการกับภาวะฉุกเฉิน เช่น ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ หน่วยปฐมพยาบาล หน่วยกู้ภัย หน่วยฟื้นฟู
2. การระบุรายชื่อของบุคคล ตำแหน่ง และการติดต่อไว้อย่างชัดเจนในแผนฉุกเฉิน
3. ข้อมูลของส่วนบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการติดต่อประสานงานในการให้ความช่วยเหลือ
4. ข้อมูลแผนการสื่อสารทั้งภายใน และภายนอกองค์กร รวมถึงสัญญาณเตือนภัย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทันที รวมถึงหน่วยงานจากภายนอกในการให้ความช่วยเหลือ
5. รายละเอียดขั้นตอนการทำงาน ในการจัดการกับแผนฉุกเฉิน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลักษณะของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และความรุนแรงของสถานการณ์นั้น ๆ
6. แผนการฝึกซ้อม โดยจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นจริง

.

เมื่อมีการฝึกอบรมเกี่ยวกับแผนฉุกเฉินให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้ว ควรจะจัดให้มีการฝึกซ้อม เพื่อประเมินผลความเข้าใจในแผนฉุกเฉินที่กำหนดขึ้น และมั่นใจได้ว่าวบุคลากรในส่วนงานต่าง ๆ สามารถปฏิบัติงานได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงขึ้น และใช้เป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงแผนฉุกเฉินต่อไป

.

นอกจากแผนฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นแล้ว องค์กรยังต้องมีการจัดทำแผนการฟื้นฟูจากเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นด้วย โดยแผนฟื้นฟูนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนฉุกเฉินที่อธิบายถึงแนวทางในการฟื้นฟูพนักงาน อาคาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดภายหลังจากเหตุการณ์ได้ยุติลงแล้ว

.
แผนการฟื้นฟู จะต้องประกอบด้วย

• การกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟู รวมถึงแนวทางในการประสานงานระหว่างองค์กร
• การสำรวจความเสียหาย การบาดเจ็บ และการสอบสวนอุบัติเหตุ
• การฟื้นฟูสภาพจิตใจของบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
• การให้คำปรึกษาแนะนำ
• ข้อกำหนดทางกฏหมาย และรายละเอียดของการประกันภัย

.

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนอันตราย ด้วยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสถานะของความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละกิจกรรม พร้อมทั้งระบุถึงแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยแนวทางในการดำเนินงาน จะประกอบด้วย

.

1. สิ่งที่จะต้องมีการแจ้งเตือนอันตราย เช่น ชนิดและสถานะของวัตถุอันตราย สภาพของเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการทำงานต่าง ๆ หรือสถานที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยง

.

2. สื่อที่จะใช้ในการเตือนอันตราย เช่น เครื่องหมายความปลอดภัย ป้ายเตือน สี เสียง แสง หรืออุปกรณ์ตรวจจับความผิดปกติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์

.
การตรวจสอบ และการปฏิบัติการแก้ไข
1. การวัด และการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน

องค์กรจะต้องจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลวิธีการปฏิบัติงานในการเฝ้าติดตาม และวัดผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ในกรณีที่ต้องใช้เครื่องมือสำหรับการเฝ้าติดตามและวัดผลการดำเนินงาน องค์กรจะต้องมีการจัดทำ และดูแลวิธีการปฏิบัติงานในการสอบเทียบและบำรุงรักษาเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านั้น โดยบันทึกของการสอบเทียบและการบำรุงรักษาจะต้องมีการเก็บรักษาไว้ด้วย

.

การวัดผลการดำเนินงาน จะมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. ยืนยันการปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนด และความสำเร็จตามวัตถุประสงค์
2. ความมีประสิทธิผลในการควบคุมความเสี่ยง
3. การเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของระบบ รวมถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น สำหรับการป้องกันต่อไป
4. การส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนด และการควบคุมความเสี่ยงจากข้อมูลผลการวัดที่เกิดขึ้น
5. ทบทวน และปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยต่อไป

.

ในการวัดผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยขององค์กร จะต้องประกอบด้วย การวัดผลการดำเนินงานเชิงรุก (Proactive) และการวัดผลการดำเนินงานเชิงรับ (Reactive) โดยการวัดผลการดำเนินงานเชิงรุก จะเป็นการตรวจสอบถึงการดำเนินงานตามข้อกำหนด โปรแกรม มาตรการควบคุม และเกณฑ์การปฏิบัติงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

ส่วนการวัดผลการดำเนินงานเชิงรับ จะเป็นการตรวจจับ สอบสวน และวิเคราะห์ ความผิดพลาดของระบบ เหตุการณ์อันตรายที่เกิดขึ้น รวมถึงความไม่มีประสิทธิภาพของผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตัวอย่างของแนวทางที่สามารถนำมาใช้ในการวัดผลการดำเนินงาน เช่น การตรวจตราความปลอดภัยของสถานที่ปฏิบัติงานโดยการใช้แบบตรวจสอบความปลอดภัย การตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องจักร อุปกรณ์ และอาคารสถานที่

.

ความสุ่มตัวอย่างด้านความปลอดภัย การเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐาน การสุ่มตัวอย่างเพื่อประเมินพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของพนักงาน การสำรวจทัศนคติของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์จากข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ หรือ การเปรียบเทียบวิธีการปฏิบัติงานกับองค์กรอื่น ๆ

.

2. การประเมินความสอดคล้อง

องค์กรจะต้องจัดให้มีกระบวนการในการประเมินถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนด และข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยผลของการประเมินจะต้องมีการจัดทำเป็นบันทึก และมีการเก็บรักษาไว้ด้วย ทั้งนี้ ความถี่ที่จะทำการประเมิน จะแตกต่างกันไปตามข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังต้องมีการประเมินถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของหน่วยงาน หรือสถาบันที่องค์กรเป็นสมาชิกอยู่ โดยอาจจะทำการประเมินพร้อมกับการประเมินความสอดคล้องตามข้อกฏหมาย หรือแยกประเมินก็ได้

.
3. การสอบสวนวินิจฉัย การจัดการความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
องค์กรจะต้องมีการจัดทำ และดำเนินการในการบันทึกการสอบสวน และวินิจฉัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อ

1. พิจารณาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะเป็นสาเหตุ หรือมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น
2. ระบุถึงความจำเป็นในการปฏิบัติการแก้ไข
3. ระบุถึงโอกาสในการปฏิบัติการป้องกัน
4. ระบุถึงโอกาสในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
5. สื่อสารผลของการสอบสวนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง

.

ทั้งนี้การดำเนินการสอบสวนวินิจฉัยจะต้องดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม และผลของการสอบสวนจะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสาร และได้รับการดูแลรักษาไว้ตามข้อกำหนดด้วย โดยการสอบสวนจะคำนึงถึง

.

• ลักษณะของเหตุการณ์ที่ทำการสอบสวน
• การดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนฉุกเฉิน และขั้นตอนการปฏิบัติงานตามแผนฉุกเฉิน
• วัตถุประสงค์ของการสอบสวน
• ระดับของความสำคัญในการสอบสวน ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้น
• ผู้ทำการสอบสวน ที่จะต้องมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ ความรู้ความสามารถ และการฝึกอบรมที่จำเป็นไว้อย่างชัดเจน
• การเตรียมการ และสถานที่สำหรับการดำเนินการสอบสวน
• วิธีการที่จะใช้ในการดำเนินการ เช่น การบันทึกภาพ การเก็บรวบรวมหลักฐาน
• การจัดทำรายงานการสอบสวน และขั้นตอนการรายงานตามกฏหมาย หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

.

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการจัดทำ และดำเนินการสำหรับวิธีการปฏิบัติงานในการจัดการกับความไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น หรือมีโอกาสที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน โดยวิธีการปฏิบัติงาน จะระบุข้อกำหนดสำหรับ

.

1. การระบุและการแก้ไขความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด รวมถึงการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
2. การสอบสวนความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด การพิจารณาถึงสาเหตุ และการดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดขึ้นซ้ำ
3. การประเมินความจำเป็นสำหรับการดำเนินการป้องกันความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด และการดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดขึ้นของความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนด
4. การบันทึก และการสื่อสารถึงผลของการปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
5. การทบทวนถึงความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน

.

ในกรณีที่การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน ได้มีการระบุถึงอันตรายใหม่ ๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของอันตรายเกิดขึ้น หรือจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดมาตรการในการควบคุมใหม่ จะต้องมีการกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อเสนอในการดำเนินการที่เกิดขึ้น ได้รับการประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะนำไปดำเนินการ

.
4. การควบคุมบันทึก

องค์กรจะต้องมีการจัดทำ และดูแลรักษาบันทึกที่จำเป็น เพื่อแสดงถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และผลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ องค์กรจะต้องมีการจัดทำ นำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาไว้ สำหรับวิธีการปฏิบัติงานในการชี้บ่ง การจัดเก็บ การดูแลรักษา การนำกลับมาใช้ ระยะเวลาในการจัดเก็บ และการทำลายบันทึกต่าง ๆ โดยบันทึกต่าง ๆ จะต้องเข้าใจได้ง่าย มีการชี้บ่งอย่างชัดเจน และสามารถสอบกลับได้

.

ตัวอย่างของบันทึกที่เกี่ยวกับอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ได้แก่ ทะเบียนอุบัติเหตุ และอันตรายที่เกิดขึ้น การลาหยุดงานของพนักงาน บันทึกข้อร้องเรียน บันทึกการฝึกอบรม บันทึกการตรวจวัดผลการดำเนินงาน การบำรุงรักษา และการสอบเทียบเครื่องมือ ข้อมูลผู้รับเหมา และผู้รับจ้างช่วง ข้อมูลความเสี่ยง ผลการตรวจประเมิน และการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร เป็นต้น

.
5. การตรวจประเมินภายใน

องค์กรจะต้องจัดให้มีการดำเนินการตรวจประเมินภายในสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามช่วงเวลาที่ได้มีการวางแผนไว้ โดยมีเป้าหมายเพื่อ

.

1. พิจารณาว่าระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• มีความสอดคล้องตามแผนการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• มีการนำไปปฏิบัติ และดูแลรักษาระบบอย่างเหมาะสม
• มีประสิทธิผลในการดำเนินการให้ได้ตามนโยบาย และวัตถุประสงค์ที่กำหนด
2. จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับผลของการตรวจประเมินภายใน เสนอให้กับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร

.
ทั้งนี้ กระบวนการในการตรวจประเมินภายในที่สำคัญ จะประกอบด้วย

1. การเตรียมการตรวจประเมิน จะต้องมีการจัดทำแผนการตรวจประเมิน ที่ระบุถึงความถี่และระยะเวลาในการตรวจประเมินอย่างเหมาะสม โดยจะพิจารณาจากลักษณะของอันตราย ระดับของความเสี่ยง บันทึกผลการตรวจประเมินที่ผ่านมา บันทึกเหตุการณ์อันตรายที่เกิดขึ้น ข้อกำหนดทางกฏหมาย รวมถึงจะต้องมีการกำหนดผู้ทำหน้าที่ในการตรวจประเมิน ซึ่งจะต้องมีความรู้ ความสามารถ และเป็นอิสระจากหน่วยงานที่ถูกตรวจประเมิน นอกจากนั้น อาจมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเข้าร่วมในการตรวจประเมินด้วย

.

3. การดำเนินการตรวจประเมิน โดยผู้ทำการตรวจประเมินจะทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากเอกสาร บันทึก การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง การสังเกตุการปฏิบัติงาน และการตรวจสอบสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อทำการประเมินเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ข้อกำหนดต่าง ๆ และข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

.

4. การรายงานผลการตรวจประเมิน โดยผู้ทำการตรวจประเมิน จะทำการสรุปผลการตรวจ และรายงานให้กับผู้บริหารของหน่วยงานที่ถูกตรวจประเมินได้ทราบ และทำการแก้ไขข้อบกพร่องหากมีการตรวจพบในระหว่างการตรวจประเมิน โดยการรายงานผลการตรวจประเมิน จะระบุถึงวัตถุประสงค์ของการตรวจ ขอบเขตของการตรวจ ข้อบกพร่องที่พบ และข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงการทำงาน

.

5. การตรวจติดตาม จะเป็นการพิจารณาถึงความมีประสิทธิผลของการดำเนินการแก้ไขจากข้อบกพร่องที่ตรวจพบ โดยจะทำการตรวจตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยผู้ถูกตรวจประเมิน

.
การทบทวนระบบโดยฝ่ายบริหาร

ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จะต้องจัดให้มีการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องมีการกำหนดแผนการทบทวนไว้อย่างชัดเจน ว่าจะทำการทบทวนเมื่อไรบ้าง โดยมีใครเข้าร่วมในการทบทวน วิธีการที่ใช้ในการทบทวน (ส่วนใหญ่จะใช้การประชุม ถึงแม้ว่าข้อกำหนดจะไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องใช้วิธีการใดก็ตาม) และจะทำการทบทวนในหัวข้อใดบ้าง โดยการทบทวนระบบจะมีเป้าหมาย เพื่อประเมินถึงความเหมาะสม ความเพียงพอ และความมีประสิทธิผล รวมถึงโอกาสในการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

.

นอกจากนั้นในการทบทวน ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะทำการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงนโยบาย วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำบันทึกของการทบทวนโดยฝ่ายบริหารด้วย โดยจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บ และการควบคุมบันทึกดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

.
ในการทบทวนระบบโดยฝ่ายบริหาร จะทำการทบทวนในหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

• ผลการตรวจประเมินภายในของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงความสอดคล้องตามข้อกฏหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
• ผลการดำเนินงานของการมีส่วนร่วม และการให้คำปรึกษา
• การสื่อสารที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ จากภายนอก รวมถึงข้อร้องเรียนต่าง ๆ
• ผลการดำเนินงานของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• แนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
• สถานการณ์ และความคืบหน้าของการสอบสวน การปฏิบัติการแก้ไข และการปฏิบัติการป้องกัน
• การติดตามผลการดำเนินงานจากการทบทวนโดยฝ่ายบริหารที่ผ่านมา
• การเปลี่ยนแปลงของของสถานการณ์ รวมถึงข้อกฏหมาย หรือข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงระบบ

.
ผลลัพธ์ที่ได้จากการทบทวนระบบโดยฝ่ายบริหาร จะเป็นการตัดสินใจและดำเนินการในการปรับปรุงแก้ไขส่วนต่าง ๆ ดังนี้

• ผลการดำเนินงานของระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• นโยบายและวัตถุประสงค์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
• ทรัพยากรที่จำเป็น
• ข้อกำหนดอื่น ๆ ในมาตรฐาน

.

ทั้งนี้ผลลัพธ์ของการทบทวน จะต้องมีการแจ้งให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

.

จากที่ได้อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่ามาตรฐาน OHSAS 18001 จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบการบริหารงาน เพื่อการป้องกันมากกว่าการแก้ไขปัญหาทางด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นการป้องกันนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะพนักงานขององค์กรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ขององค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วง ลูกค้า รวมถึงผู้มาเยี่ยมชมองค์กร

.

นอกจากนั้น มาตรฐาน OHSAS 18001 ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนามาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยเฉพาะด้านที่ตามมาอีกหลายมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน ISO 28001 (มาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับห่วงโซ่อุปทาน) ISO 22399 (มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยทางสังคม) เป็นต้น

.