เนื้อหาวันที่ : 2009-09-18 15:24:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 677 views

สบน. ชูรูปแบบ PPPs ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีม่วง

การประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ Public Private Partnerships (PPPs) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่

.

ในวันนี้ (18 กันยายน 2552) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในฐานะเลขานุการของคณะทำงานพิเศษเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในรูปแบบ PPPs (PPP Unit) ร่วมกับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPPs

.

สำหรับโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และเป็นโครงการนำร่องของรัฐบาลที่สนับสนุนการลงทุนในรูปแบบ PPPs โดยรัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในระบบอาณัติสัญญาณ และตัวรถไฟฟ้า (Signaling and M&E/Rolling Stock)

.

รวมทั้งการบริหารจัดการและให้บริการเดินรถ (Operating and Maintenance) การลงทุนในรูปแบบ PPPs ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าช่วยลดข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐ และทำให้รัฐบาลสามารถขยายการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อความต้องการของประชาชน การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ กรอบระยะเวลาการดำเนินงานในรูปแบบ PPPs แนวทางการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP Options) รวมทั้งขั้นตอนการดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยในโอกาสนี้ สบน. ได้ชี้แจงถึงการจัดทำคู่มือการดำเนินโครงการในรูปแบบ PPP (PPP Guidelines)

.

ซึ่ง สบน. ในฐานะ PPP Unit ได้จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้การดำเนินโครงการ PPP มีแนวปฏิบัติ ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยภาคเอกชนที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการหรือ Trading House ด้านการบริหารจัดการและให้บริการเดินรถของญี่ปุ่น ซึ่งมีบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนธุรกิจด้านการให้บริการเดินรถ การผลิตตัวรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นสอบถามและแสดงความคิดเห็นในมุมมองของภาคเอกชนที่มีต่อ แนวทางการดำเนินโครงการในรูปแบบ PPPs ของ

.

ภาครัฐตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวทางการจัดสรรความเสี่ยงระหว่างรัฐและเอกชน การหารือในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความชัดเจนและความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการเป็นหุ้นส่วนที่ดีในอนาคต รวมทั้งเป็นการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ และสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เปิดกว้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการในอนาคตต่อไป

.

อนึ่ง การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการนำร่องที่จะดำเนินการในรูปแบบ PPPs ซึ่ง สบน. ในฐานะ PPP Unit จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดประชุมเพื่อจัดทำ Market Sounding สำหรับโครงการลงทุนในรูปแบบ PPPs ภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในโอกาสต่อไป